ทุก ทุกครั้งที่ใกล้สิ้นปีคนที่ทำงาน Office บ่อยครั้งที่จะได้ยินคนรอบ รอบตัวเราคุยเรื่องจะซื้อ LTF กองไหนดี ซื้อกันกี่บาทแล้ว หักภาษีได้ครบหรือยัง บลา บลา ….. แล้วเราไม่สงสัยตัวเราเองบ้างหรือว่า ทำไมไม่ได้คุยแบบนี้กับคนอื่นบ้าง เพราะเราไม่เคยซื้อกองทุนเลย เพราะเรามีเหตุผลมากมายที่จะไม่ซื้อกองทุน เช่น ไม่กล้าซื้อกลัวเงินหาย แค่เงินใช้ประจำวันยังไม่ค่อยพอเลยจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อกองทุน หรือไม่รู้เรื่องกองทุนก็เลยไม่อยากเสี่ยง เหตุผลอีกมากมาย… ซึ่งทำให้เราไม่มีกองทุนกับคนอื่นเค้าสักที แต่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกองทุนรวมกัน และมาดูว่าเงินเดือนน้อย ค่าใช้จ่ายเยอะ จะซื้อกองทุนได้อย่างไร
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก กองทุนรวม กันดีกว่า กองทุนรวม ก็คือ แหล่งลงทุนทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ไม่สามารถลงทุนได้ด้วยตนเอง เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ ความชำนาญในการลงทุน มีเงินลงทุนไม่มากพอ รวมทั้งไม่มีเวลาที่จะติดตามพอร์ตการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองทุนรวมจะถูกจัดตั้งโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน หรือ บลจ. และจะแต่งตั้งให้มีผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ทำหน้าที่บริหารกองทุนให้มีการลงทุนตามนโยบายของกองทุนที่แจ้งกับผู้ลงทุนผ่านหนังสือชี้ชวน และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ตามที่เสนอไว้ในหนังสือชี้ชวนเช่นกัน
แต่ก่อนจะไปต่อ มาลองดูวิวัฒนาการของตลาด กองทุนรวมบ้าน เรากันก่อนดีกว่า เรามารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ประเทศไทยกันหน่อย ถ้าใครยังจำได้ ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยจนลามไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นั่นก็คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งสมัยนั้นเราเริ่มมี กองทุนรวม เกิดขึ้นแล้ว แต่เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง กองทุนรวม ที่ตั้งขึ้นมาก็ร่วงกันเป็นแถว เพราะบริษัทที่กองทุนไปลงทุนนั้น เจ๊งกันไม่เป็นท่าเลย มีบริษัทต้องปิดตัวลงมากมาย ซึ่งเป็นฝันร้ายของใครหลายคน ทั้งที่เป็นเจ้าของบริษัท และเป็นคนซื้อ กองทุนรวม เพราะจะถูกแนะนำ ชักจูงให้มาซื้อกองทุนสิ ได้ผลตอบแทนดีกว่าฝากเงินอีกนะ…. แต่ไม่มีใครบอกคนซื้อเลยว่าเงินที่ซื้อไปนั้นมันจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของกองทุนนะ และไม่มีการการันตีด้วยว่าเงินที่ซื้อไปนั้นจะได้คืนมาครบ
ปัจจุบันกองทุนที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ตอนนี้ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เงินมันจะไม่เท่ากับครั้งแรกที่ลงไป ยกตัวอย่างง่าย ง่ายเลย เมื่อปี 2540 เรานำเงิน 10,000 บาทไปซื้อกองทุนรวมได้ 1,000 หน่วย หน่วยละ 10 บาท แต่สิบกว่าปีผ่านไปเงิน 10,000 บาทที่เราเคยมี มีเหลือแค่ 3,000 บาทเอง เพราะมูลค่าของกองทุนเหลือเพียงหน่วยละ 3 บาทเท่านั้น… เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุด
แต่หลังจากอดีตอันขมขื่นของตลาดกองทุนรวมผ่านไปแล้ว วิวัฒนาการของกองทุนรวมในบ้านเราช่วงหลังปี 2540 ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เติบโตขึ้น และมีการป้องกันความเสี่ยง หรือปกป้องเงินของนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา เรามากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็อุ่นใจได้ระดับหนึ่งแล้วนะว่าเงินเราที่ลงทุนในกองทุนรวมไป คงไม่หายไปในพริบตาเหมือนกับปี 2540 อย่างแน่นอน
ที่นี้เรากลับมาเรื่องวันนี้และอนาคตของเรากันดีกว่า เรามาดูกันดีกว่าว่ากองทุนรวมมีทั้งหมดกี่ประเภท ถ้าแบ่งประเภทกองทุนรวมแบบกว้าง กว้าง ก็จะแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ กองทุนรวมตราสารทุน คือ ร้อยละ 80 ของเงินลงทุนในกองทุนจะนำไปลงทุนในหุ้นสามัญ ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ ร้อยละ 80 ของเงินลงทุนจะไปลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ตามที่หนังสือชี้ชวนกำหนด) เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เงินฝากประจำ และสุดท้ายกองทุนรวมแบบผสม คือ กองทุนที่นำไปลงทุนทั้งหุ้นสามัญและตราสารหนี้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
แล้วจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมยังไงล่ะ? ก่อนอื่นต้องไปเปิดบัญชีกองทุนตามสาขาของธนาคารต่างๆ ที่สะดวกได้เลย เพราะปัจจุบันนี้เกือบจะทุกธนาคารจะให้สาขาของตัวเองเป็นตัวแทนรับซื้อ/ขายกองทุน จากนั้นก็ศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่เราสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่สำหรับพนักงาน Office อย่างเรา เรา กองทุนที่นิยมก็คือ กองทุนรวม LTF หรือ RMF เพราะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ส่วนใครที่กังวลเรื่องเงินลงทุน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องกังวลกันอีกต่อ เพราะหลาย บลจ. ได้ออกกองทุนเพื่อสนับสนุนให้คนหันมาลงทุนในกองทุนรวมกันมากขึ้น จึงออกกองทุนที่กำหนดเงินขั้นต่ำในการซื้อกองทุนที่ 500-1,000 บาท และยังให้เราสามารถแจ้งหักเงินเพื่อนำไปลงทุนในกองทุนทุกเดือน เดือนละเท่า เท่ากัน ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกครั้ง เพราะถือว่านักลงทุนจะได้เฉลี่ยต้นทุนในการซื้อกองทุนได้
เห็นหรือไม่ว่าเราแค่หักเงินเดือนเราเดือนละ 500 หรือ 1,000 บาท เราก็สามารถซื้อกองทุนรวมได้แล้ว อย่ากลัว อย่าอ้างเหตุผลมากมาย ลองเปิดใจ และศึกษาข้อมูลจาก บลจ.ต่างๆ สุดท้ายก็แบ่งเงินออกมาซื้อกองทุน เท่านี้เราก็เป็นเจ้าของกองทุนได้ และทุกสิ้นไปก็มีเรื่องไปคุยกับคนอื่นๆ ใน Office ได้แล้ว