ปัจจุบัน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดีนัก ครั้งนี้ต่างจากวิกฤตปี 2540 ตรงที่ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งนั่นก็คือมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราๆนี่แหละค่ะ เพราะฉะนั้นช่วงนี้ ไม่ควรใช้ชีวิตด้วยความประมาท แต่ควรเปลี่ยนมา วางแผนออมเงิน เพื่อใช้เป็นแผนสำรองในยามฉุกเฉิน อย่างน้อยๆ ก็ยังทำให้คุณมีเงินสำรองสักก้อน ไว้เป็นต้นทุนต่อชีวิตต่อไป และยังทำให้ชีวิตบั้นปลาย เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดอีกด้วย อยากรู้ว่าเราจะมีวิธีใช้จ่ายเงินอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวทางการเงิน ไปดูกันเลย
วิธีควบคุมค่าใช้จ่าย
1. กำหนดค่าใช้จ่ายต่อวัน คุณจะใช้เงินโดยไร้จุดหมายอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้คุณต้องกลับไปสู่วัยเด็กอีกครั้ง ตั้งยอดค่าใช้จ่ายต่อวันให้ตัวเอง เหมือนตอนที่พ่อแม่จ่ายเงินรายวันให้เราพกไปโรงเรียน วิธีนี้จะช่วยให้คุณควบคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องหาหยิบยืมใครในช่วงปลายเดือนอีก นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้คุณมีเงินเหลือเฟือในแต่ละเดือนด้วยนะ และยังมีเงิน เก็บออม มากขึ้นด้วยนะ
ก่อนอื่น คุณต้องหักค่าใช้จ่ายจำเป็นออกให้หมด แล้วแบ่ง 10% จากเงินที่เหลือไปฝากธนาคารไว้ (ในบัญชีเดิม) เพื่อเอาไว้กรณีฉุกเฉิน จะได้กดออกมาใช้จ่าย หลังจากนั้นก็เอายอดเงินคงเหลือทั้งหมดมาหารจำนวนวัน/1เดือน แบ่งใส่ถุงซิปเล็กๆไว้ ถุงละ 1วัน แล้วหยิบไปใช้แค่วันละถุง อนุญาตให้พกบัตรATMติดตัวไว้เผื่อฉุกเฉินได้ แต่ถ้าไม่จำเป็น ห้ามกดออกมาใช้โดยเด็ดขาด
2. งดรายจ่ายที่ไร้สาระ เช่น ของกระจุกกระจิกต่างๆ ที่คุณได้แต่ซื้อไปเก็บไว้แต่ไม่เคยได้ใช้ บางทีคุณก็ซื้อมาเพราะความว่าง ว่างแล้วแวะเดินห้างสรรพสินค้า เลี้ยวเข้าร้านกระจุกกระจิกสัญชาติญี่ปุ่น เห็นสินค้าน่ารัก ราคาย่อมเยา ก็ซื้อติดมือออกมาเสียหลายชิ้น ถึงราคาต่อชิ้นจะแค่หลักสิบ แต่คุณอย่าลืมว่า รวมกันหลายๆชิ้นก็หลายร้อยได้นะคะ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่จำเป็น ถึงจะราคาถูกมากแค่ไหนก็ควรหยุดซื้อไว้ก่อน เก็บเงินไว้ใช้ในยามที่จำเป็นจริงๆ จะดีกว่านะ
ของใช้ติดแบรนด์ต่างๆที่ต้องซื้อทุกเดือน งดบ้างก็ดีนะคะ เพราะถ้าคุณยังเงินเกินตัวอยู่ หากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ คุณจะลำบากเพราะมีหนี้ติดตัวมากมาย และเมื่อถึงเวลานั้น ข้าวของต่างๆของคุณก็จะถูกนำไปขายต่อเป็นสินค้ามือสองในราคาถูก ถ้าคุณคิดว่าคุ้ม ก็ซื้อต่อไปค่ะ
3. ทานเพื่ออิ่ม ไม่ทานเพื่ออวด ร้านอาหารตามสั่งหรือร้านข้าวแกงข้างๆออฟฟิศนี่ช่างน่ารังเกียจ นั่งทานไม่ได้ ต้องร้านอาหารชั้นนำในห้างหรูติดแอร์เท่านั้นที่จะควรคู่กับคุณ ก่อนถ่ายต้องอัพรูปลงไอจีเพื่อให้บรรดาแฟนคลับเห็นว่าคุณชีวิตดี๊ดี หยุดเถอะค่ะ พฤติกรรมแบบนี้ ไม่ส่งผลให้ชีวิตของคุณดีขึ้นได้จริงๆหรอกค่ะ เพราะนั่นตรงข้ามกับฐานะของคุณโดยสิ้นเชิง แถมด้วยราคาค่าอาหารที่แพงมาก ยังจะทำให้คุณหมดเงินตั้งแต่ไม่ถึงสิ้นเดือนกันเลยทีเดียว ทีนี้คนที่แย่ก็จะเป็นตัวคุณเองนั่นแหละ
คนญี่ปุ่นมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงได้ทุกบ้านนั้น เพราะเขารู้จักบริหารเงิน สังเกตได้จากการหิ้วเบนโตะ หรือข้าวกล่องไปทานกันในที่ทำงาน ซึ่งทั้งอิ่ม อร่อย ง่าย และได้ประโยชน์ ซึ่งสังคมไทยเคยเป็นแบบนั้นเช่นกัน แต่ถูกคนรุ่นใหม่มองว่าเป็นวัฒนธรรมที่น่าอายไปเสียแล้ว
พวกเขาจะฉลองด้วยอาหารมื้อหรูหรากันก็ต่อเมื่อมีโอกาสพิเศษ เช่นปีใหม่ หรือรับประกาศนียบัตร เป็นต้น แต่สังคมไทย ฉลองได้ทั้งเดือน โดยไม่คิดถึงวันข้างหน้า ดังนั้น ไม่ต้องถึงขนาดหิ้วข้าวกล่องไปทานหรอกค่ะ อาหารน่ะ ขอแค่สะอาด อร่อย และถูกสุขอนามัย คุณก็ควรทานได้แล้ว (ทั้งๆที่เมื่อก่อนเคยทานได้แท้ๆ) อย่าฟุ้งเฟ้อต่อไปเลยค่ะ ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย
4. เก็บออมจนเป็นนิสัย ถ้าปัจจุบันมีหนี้สินเยอะ ฝากเงินแบบประจำไม่ไหว ก็ใช้วิธีดั้งเดิมแทนก็ได้ค่ะ นั่นคือวิธีเหลือเงินมาหยอดกระปุก วันนี้มีน้อยก็ออมน้อย วันไหนมีมากก็ออมมาก ทำจนติดเป็นนิสัย พอถึงสิ้นเดือน ถ้าเงินเหลือใช้ ก็เก็บเข้าบัญชีไป ไม่นานคุณก็จะเริ่มสนุกกับการเก็บเงิน พอหมดหนี้สินแล้ว ค่อยพัฒนาขึ้นเป็นเงินฝากประจำก็ยังไม่สายนะคะ
โดยการ เก็บออม นั้นอาจจะใช้วิธีฝากเงินออมเข้าบัญชีทุกเดือน หรือจะหยอดกระปุกเป็นประจำทุกวันแล้วค่อยฝากทีเดียวเมื่อกระปุกออมสินเต็มก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าวิธีไหนจะต้องมีวินัยในตัวเอง และต้องตั้งใจเก็บออมเงินอย่างจริงจัง เพื่อให้ประสบความสำเร็จและมีเงินสำรองไว้ใช้ในอนาคตข้างหน้าอย่างไม่ลำบากนั่นเอง
หวังว่าแนวทางทั้งสี่ข้อนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับชนชั้นกลางทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ ขอให้ทุกท่านอดทน เก็บออม เพื่อใช้จ่ายในนาทีฉุกเฉิน อย่างน้อยๆเงินก้อนนี้ อาจช่วยคุณได้ในวันที่คุณไม่เหลือใครแล้วจริงๆก็ได้ค่ะ เพราะถ้ามีวันนั้นขึ้นมาจริงๆ ทุกคนก็คงต่างต้องช่วยเหลือตัวเอง ไม่มีเวลามาเผื่อแผ่ใครทั้งสิ้น ท่องเอาไว้ว่า อดออมวันนี้ เพื่อชีวิตที่ดีในวันต่อๆไปนะคะ ขอให้โชคดีค่ะ