การลงทุนเป็นการเริ่มต้นที่ดี และสามารถสร้างผลกำไรให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันนี้สังเกตได้เลยว่ามีนักลงทุนรุ่นใหม่เกิดขึ้นในตลาดทุนมากมาย แต่ทั้งนี้การลงทุนนอกจากจะสร้างผลกำไรแล้ว ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นกัน
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการลงทุนเป็นการสร้างรายได้ให้งอกเงยขึ้นอย่างรวดเร็วในกรณีที่ลงทุนถูกทาง แต่การลงทุนก็สามารถส่งผลในแง่ลบกับนักลงทุนได้เหมือนกันในรายที่ไม่ได้เตรียมความพร้อม ดังนั้นเมื่อคุณจะลงทุน จำเป็นที่จะต้องศึกษาแนวทาง ตลอดจนความเสี่ยง เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจตามมา เรามาดูกันดีกว่าว่าปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการลงทุนบ้าง
การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงที่อาจทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องทำความเข้าใจหรือศึกษาปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับการลงทุน ผ่านหนังสือชี้ชวนของกองทุน หรือสอบถามผู้แนะนำด้านการลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง และป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจตามมา เช่น
- ความเสี่ยงจากผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน นักลงทุนควรคำนึงว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น ไม่มีการรับประกันในส่วนของผลตอบแทน และการเพิ่มขึ้นของเงินต้น แต่ผลตอบแทนการลงทุนจะขึ้นอยู่กับตลาด และปัจจัยที่มีผลต่อตลาดที่กองทุนนำเงินไปลงทุนตามนโยบายที่ระบุไว้
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของตลาด ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะตลาดสามารถเกิดขึ้นได้และอาจมีผลกระทบต่อกองทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม การลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงจากสภาวะของตลาด เป็นการลงทุนที่จัดได้ว่ามีความเสี่ยง เพราะเราไม่สามารถคาดการความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ดังนั้นผู้ลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญ และศึกษาลู่ทางมาเป็นอย่างดี
- ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และการเงินของแต่ละประเทศ การเปลี่ยนทางนโยบายของรัฐบาล และการเมืองของแต่ละประเทศ สามารถส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนได้
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของข้อบังคับ หรือกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาด การเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกรทบอย่างรุนแรงจากปัจจัยภายนอก เช่น หายนะทางธรรมชาติ หรือสงคราม เป็นต้น
- ความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์/ ตราสารหนี้ ผู้ลงทุนอาจจะพบความเสี่ยงต่างๆในการถือครองหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ซึ่งรวมถึงความไม่สามารถในการชำระหนี้คืนทั้งในส่วนของผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย และเงินต้นที่จะต้องชำระคืนเมื่อครบกำหนดเวลาในการลงทุน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ในกรณีที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
- ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนผู้ถือหลักทรัพย์ไม่สามารถแปรสภาพหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ให้เป็นเงินสดได้ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด
- ความเสี่ยงจากการเกิดเงินเฟ้อ ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการสูญเสียอำนาจการซื้อ/ลงทุน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาด
- ความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากเกิดความผิดพลาด อาจก่อให้เกิดหนี้สินได้ นักลงทุนควรทำความเข้าใจว่าการกู้ยืมเงินมาเพื่อการลงทุน เป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรก็จริง แต่ในทางตรงข้ามก็อาจก่อให้เกิดการขาดทุนได้เช่นเดียวกัน เมื่อการลงทุนไม่เป็นไปในทิศทางที่กำหนด นักลงทุนจะมีภาระหนี้สินจากเงินต้นที่กู้ยืมพร้อมอัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกำหนด เพราะฉะนั้นควรพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องของความเสี่ยง
- ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคล เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดจากขึ้นจากผู้จัดการกองทุนไม่สามารถปฏิบัติตามกฎข้อบังคับได้อย่างครบถ้วนหรือบริหารงานผิดพลาด
- ความเสี่ยงจากตัวผู้จัดการกองทุน ผลการดำเนินงานของกองทุนที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และเทคนิคการลงทุนของผู้จัดการกองทุน ในทางตรงข้าม ถ้าผู้จัดการกองทุนขาดทักษะเหล่านี้ ย่อมส่งผลเสียต่อผลประกอบการกองทุนได้