หนุ่มสาวหลายคนคงแก้ไม่ตกกับปัญหานี้ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษาทั้งที่กำลังเรียนอยู่ หรือจบออกมาทำงานแล้ว เห็นคนมีเงินล้าน ก็อดรู้สึกอิจฉาไม่ได้ วัยรุ่นบางคนมีเงินแสนก่อนเรียนจบเสียอีก เขาทำได้ยังไง แล้วเราจะทำได้หรือเปล่า จะต้องใช้วิธีไหน?
จริงๆแล้วการ วางแผนการเงิน หรือวางแผนอนาคตให้รวย มีหลายวิธีมาก อยู่ที่ว่าเราจะทำได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง หนึ่งในหลายๆวิธีนั้นก็คือ การตั้งเป้าจำนวนเงินที่ชัดเจน ในระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยมาวางแผนในรายละเอียดอีกทีว่าจะหาด้วยวิธีไหน แล้วซอยย่อยไปเป็นข้อๆ รวมถึงการคำนวณเป้าหมายรายรับต่อเดือน และต่อวันด้วยเช่นกัน
วิธีทำง่ายๆ
- เริ่มแรกเลยนะคะ คือการตั้งเป้าค่ะ ตั้งเป้าก่อนแล้วค่อยคำนวณกำลังของตัวเองอีกทีว่าไหวไหม สมมุติอย่างนี้นะคะ คุณอายุ 22 เพิ่งเรียนจบ วางแผนการเงินว่าอีก 10 ปีจะเงินเก็บ 100 ล้าน แน่นอนมันดูเกินตัวค่ะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว
- จากนั้นมาหารดูค่ะ ว่าแต่ละวัน เดือน ปี เราต้องหาเงินเท่าไหร่ 100,000,000/10=ปีละ 10 ล้านบาท =เดือนละ 833,333 บาท = วันละ 27,777 บาท เป็นเงินที่มากโขทีเดียวใช่ไหมคะ
- ขั้นตอนนี้จะบอกว่า คุณทำได้หรือไม่ได้ คือมานั่งดูค่ะว่างานอะไรบ้างที่ได้เงินวันละเกือบสามหมื่น ทำธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง ขายของ เปิดร้านอาหาร ฯลฯ เท่าที่จะคิดได้ค่ะ แล้วมาดูกำลังของตัวเอง และการเงินว่าไหวไหม สมมุติคุณจะขายเสื้อผ้าแฟชั่น คุณสำรวจตลาดแล้วว่า ขายปลีกกันที่ตัวละ 300 บาท โดยรับมาจากแหล่งค้าส่งที่ตัวละ 200 บาท (สมมุตินะคะ อาจมากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่ปัจจัยด้านอื่นๆค่ะ) คุณจะมีกำไรที่ตัวละ 100 บาท ดังนั้นคุณต้องขายให้ได้วันละ 277 ตัว คุณทำได้หรือเปล่า?
- หากคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณจะทำด้วยวิธีไหน คุณอาจซื้อทีละมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนในด้านการเงินลง แต่อย่าลืมว่าหากขายไม่ออก ของค้างสต็อคขึ้นมา คุณลำบากแน่ แล้วจะทำอย่างไรให้ขายออก คุณก็ต้องคิดวิธีทำการตลาด อาจรับสมัครตัวแทนขาย ประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ต่างๆ จัดโปรโมชั่น ฯลฯ ตามแต่ที่คุณจะนึกได้
- หากคุณมาถึงขั้นตอนนี้แล้วคิดได้ว่า มันเกินกำลังไปมากโข คุณจะเปลี่ยนแผนกิจกรรมที่จะทำ จากการขายเสื้อผ้า ลองไปคำนวณอย่างอื่นก็ได้ค่ะ โดยคำนึงด้วยว่าธุรกิจย่อมมีความผกผันเสมอ มันไม่สามารถเป็นไปอย่างที่คาดหวังได้ตลอด โดยเฉพาะกิจการที่ต้องมีการสต็อคสินค้า ที่เป็นภาระทางการเงินไม่ใช่น้อยๆเลยนะคะ หากสะดุดขึ้นมาที มีสาหัส
- เป้าหมายเหมือนเดิม แต่ไม่อยากลงทุน ไม่อยากสต็อคสินค้า ก็ได้เช่นกันค่ะ การขายความคิด ขายความสามารถก็เป็นอีกช่องทางการหารายได้ที่สำคัญ ดังนั้นต้องมาดูว่าคุณมีต้นทุนอะไรบ้าง เช่น ความสามารถภาษา ความรู้ด้านงานวิศวกรรมสาขาใดสาขาหนึ่ง การออกแบบ ดีไซน์แฟชั่น ฯลฯ จากนั้นลองเอามาวางแผ่ แล้วหาวิธีทำเงินจากมันดูค่ะ เช่นสมมุติ คุณเก่งภาษาอังกฤษ วิธีที่คุณจะหาเงินจากภาษาอังกฤษมีอะไรบ้าง?
>สอนพิเศษภาษาอังกฤษ
>รับแปลเอกสาร
>รับเขียนบทความภาษาอังกฤษ
และอื่นๆเท่าที่คุณจะคิดได้ จากนั้นก็ศึกษาว่าแต่ละวิธี ทำเงินได้เท่าไหร่ต่อชั่วโมง คุณจำกัดเวลาวันละกี่ชั่วโมง ที่คุณจะทำงานนี้ในหนึ่งวัน สมมุติว่า สอนพิเศษภาษาอังกฤษ ชั่วโมงละ 300 บาท คุณกำหนดว่า คุณจะทำวันละ 8 ชั่วโมง ก็เท่ากับ 2400 บาทต่อวัน นั่นแปลว่ายังไม่พออยู่ดี คุณต้องหาวิธีใหม่
- นอกจากการเปลี่ยนแผนกิจกรรมแล้ว อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางการเงิน จาก 100 ล้าน ปรับลดลงไปเหลือ 50 ล้าน หรือ 20 ล้านดูค่ะ แล้ว ค่อยมาเริ่มคำนวณตั้งแต่ต้นดูอีกที
ข้อควรระวัง และควรจำไว้นะคะ
- ธุรกิจใดๆก็ตามต้องมีการลงทุนค่ะ เงินลงทุนคุณอาจกู้ธนาคารมา นั่นแปลว่าคุณมีรายจ่ายตายตัวต่อเดือนที่ต้องหักออกไปจากรายได้สุทธิ
- อีกอย่าง หนทางธุรกิจไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ ดังนั้นการขายไม่ออก ของค้างสต็อก หาลูกค้าไม่ได้ เป็นเรื่องประจำที่ต้องพบเจอ และมันก็บ่อยมากเสียด้วย ดังนั้นหากจะทำธุรกิจ หรือมีการลงทุนจริงๆ ควรหาข้อมูลเยอะๆ ศึกษาให้มากๆ
- อย่าคำนวณเกินตัว เช่น กะเอาไว้ว่าค่าแรงชั่วโมงละ 500 บาท จะทำวันละ 20 ชั่วโมง นอนอีก 4 ชั่วโมงก็พอ เพราะอยากรวยเร็วๆ ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ค่ะ (มีคนคิดจริงๆนะเออ) ร่างกายคนเราต้องมีการเหนื่อยล้า ซึ่งเอาง่ายๆคือ ไม่ไหวอย่างแน่นอน อย่าให้เกินวันละ 10 ชั่วโมง เพราะนั่นก็มากเกินพอแล้ว และยังไม่รู้เลยว่าคุณจะทำได้หรือเปล่า เวลาทำงานมาตรฐานควรอยู่ที่ 8 ชั่วโมงก็พอค่ะ
- งานขายสมองขายแรงเองก็เช่นกัน มีความผันแปรที่ทำให้รายได้ไม่ได้ตามเป้าอยู่เสมอ เช่น ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการหรือจ้างวานอย่างที่หวังไว้ มีแต่ไม่มากตามเป้า หาลูกค้าไม่ได้ ที่คำนวณไว้ว่าชั่วโมงละเท่านั้นเท่านี้ หนึ่งวันต้องทำได้เท่านี้เท่านั้น จึงไม่อาจเป็นจริงได้เสมอไป
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถและความพยายามค่ะ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณจะทำ แต่สิ่งที่จำเป็นคือลู่ทาง วิธีการทำรายได้นั้นให้เป็นจริง ศึกษาให้มากๆ แล้วลงมือทำอย่างระมัดระวังรอบคอบด้วยนะคะ