บทความก่อนหน้า
1. ถึงเวลา … ให้เงินทำงานแทนเรา ซักที!
2. ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน : วางแผนการเงิน (1)
หลังจาก “ปลดหนี้สั้น”, “ปั้นเงินเก็บ” เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในตอนนี้มาดูการ “เย็บร้อยรั่ว” กันต่อเลยนะคะ
ถุงผ้าวิเศษ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชาวสวนผู้ขยันหมั่นเพียร และมีจิตใจงดงามคนหนึ่ง ทุกๆ วันเขาจะตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ หลังจากทานอาหารเช้าซึ่งเป็นอาหารมื้อเดียวในแต่ละวันเสร็จแล้ว เขาจะเริ่มทำสวน ขายผลไม้ และรับจ๊อบอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยไม่หยุดพักเลยจนดึกดื่น เขาทำงานหนักและประหยัดออมเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเก็บเงินเพื่อใช้เป็นทุนในการเปลี่ยนแปลงสวนผลไม้ของเขาให้กลายเป็นสวนออร์แกนิค ด้วยมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นใครก็ตามที่ซื้อผลไม้จากสวนของเขาได้ทานผลไม้ที่อร่อย ราคาไม่แพง พร้อม ๆ กับมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเขาจะเก็บเงินเป็นเวลานานหลายปี ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินการสักที
… และแล้ววันหนึ่งเขาก็ได้เจอถุงผ้าวิเศษใบใหญ่ซึ่งมีรอยรั่วเล็ก ๆ อยู่ที่ก้นถุง ในตำนานกล่าวไว้ว่า ใครก็ตามที่เติมลูกแก้วจนเต็มถุง จะได้รับพรวิเศษให้สามารถขออะไรก็ได้ 1 อย่าง โดยถุงผ้าจะช่วยเพิ่มลูกแก้วให้ 1 ลูก ทุก ๆ ครั้งที่มีการเติมลูกแก้วเพิ่มเข้ามาใหม่ 5 ลูก แต่มีข้อแม้ว่าต้องแขวนถุงนี้ไว้ใต้ต้นไม้เหนือแม่น้ำอันเชี่ยวกราก
ชาวสวนตื่นเต้นมาก ที่รู้ว่าถุงผ้านี้จะช่วยให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้เร็วขึ้น ด้วยความดีใจ เขารีบนำเงินเก็บทั้งชีวิตไปซื้อลูกแก้ว โดยไม่สนใจที่จะตรวจตราว่าถุงนั้นมีรอยรั่วหรือไม่ วันแล้ววันเล่า เขานำเงินที่ได้จากการทำงาน ไปซื้อลูกแก้วเติมเข้าไปในถุงวิเศษ ลูกแก้วเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ จนใกล้จะเต็มถุง …
แต่ทว่า .. ด้วยน้ำหนักของลูกแก้วจำนวนมากที่กดลงมา และจากเวลาที่ผันผ่านไป ถุงผ้าเริ่มเก่าและเสื่อมสภาพ ไม่ช้ารูรั่วเล็ก ๆ ที่ถูกละเลย ก็ขยายขนาดและขาดขึ้นกะทันหันทำให้ลูกแก้วร่วงหล่นลงไปอย่างรวดเร็ว กว่าจะทำการซ่อมแซมเสร็จลูกแก้วก็หล่นหายไปกับสายน้ำอันเชี่ยวกรากจนเกือบหมดถุง …
ช่างน่าสงสารชาวสวนผู้แสนใจดี แม้ว่าความฝันของเขาจะมีประโยชน์ต่อคนเป็นจำนวนมาก นอกจากมันจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ตัวเขาเองหลังจากที่เสียสละความสุขส่วนตัวไปแล้วมากมาย ก็ต้องมาเสียเวลาในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ในช่วงอายุที่เรี่ยวแรงเหลือน้อยลงไปทุกที หากเขามีความรอบคอบสักนิด ทำการสำรวจและซ่อมแซมรอยรั่วให้เรียบร้อยก่อน ก็คงจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น…
ไม่ต่างกันกับการลงทุน
แม้เราจะมีขนาดความฝันที่ใหญ่หรือเล็ก แต่ทุกคนล้วนอยากไปให้ถึงฝันของตัวเองทั้งนั้น และแน่นอนยิ่งเร็วยิ่งดี ดังนั้นทันทีที่เรามีเงินเหลือเก็บจากการอดทนทำงาน และประหยัดอดออมมานาน ก็อยากจะลงทุนทันทีเพราะเห็นว่า การลงทุนเป็นเครื่องมือวิเศษหรือถุงวิเศษ ยิ่งใส่เงินเข้าไปเยอะ ถุงวิเศษก็จะเนรมิตรเงินเพิ่มให้เราขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่ความฝันที่เร็วขึ้น จนลืมพิจารณาถึงรอยรั่วทางการเงินต่าง ๆ และจัดการเย็บให้เรียบร้อยเสียก่อนตั้งแต่เริ่มต้น ผลก็คือ แม้เราจะขยัน และมีวินัยขนาดไหน สุดท้ายก็อาจจะไปไม่ถึงฝัน เช่นเดียวกับชาวสวนผู้น่าสงสารคนนี้ก็เป็นได้
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องเย็บรอยรั่วทางการเงินให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถลุยเรื่องการลงทุนได้อย่างเต็มที่และสบายใจ
วิธีการเย็บรอยรั่วทางการเงิน
รอยรั่วทางการเงิน ก็คือความเสี่ยงทางการเงิน หรือง่าย ๆ ก็คือ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม ที่หากเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงิน เช่น ความเสี่ยงที่จะตกงาน, ไฟใหม้บ้าน, น้ำท่วม, อุบัติเหตุ, การเจ็บป่วยรุนแรงต่าง ๆ เป็นต้น หากเราขาดการเตรียมความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะเกิดปัญหาทางการเงินตามมา
ในทางปฏิบัติ ทันทีที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น จะต้องรีบนำเงินมาแก้ไขสถานการณ์ทันที แต่หากเรานำเงินออมทั้งหมดที่มีไปลงทุนเสียหมดแล้ว ในกรณีที่เราลงทุนกับตราสารการเงินเช่น พันธบัตร, กองทุน, หุ้น, ฯลฯ เราก็ต้องขายสินค้าการเงินเหล่านั้น เพื่อนำเงินออกมาแก้ไขสถานการณ์ หากขณะนั้นตลาดเป็นช่วงขาลง เราก็จำเป็นต้องตัดใจขายขาดทุน และยิ่งแย่ไปกว่านั้นหากเราลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ ใช้เวลานานกว่าจะขายได้ เช่น ทาวน์เฮ้าส์, คอนโด, ที่ดิน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกะทันหัน แต่ไม่สามารถขายสินทรัพย์เหล่านี้ได้ในทันที ผลที่ตามมาจึงไม่พ้นต้องกู้หนี้ยืมสินต่อไป
วิธีจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ หรือวิธีเย็บรอยรั่วทางการเงินนั้น ควรจะมีการเตรียมการในสองเรื่องตามลำดับความรุนแรงของผลกระทบดังนี้
เตรียมเงินฉุกเฉิน :
ตามหลักแล้ว ควรจะเตรียมเงินในส่วนนี้ 3 – 6 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน เนื่องจากโดยปกติ ชีวิตประจำวันของเราต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักของรายได้ เช่น โดนให้ออกจากงาน ในกรณีนี้เราจำเป็นต้องมีเงินเพื่อใช้จ่ายในระหว่างที่หางานใหม่ ซึ่งในระยะเวลา 3 – 6 เดือนก็น่าจะเพียงพอสำหรับการตั้งหลัก และหางานใหม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำอยู่ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมากน้อยเพียงใด หรือ ทางบ้านมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินด่วนเราก็ควรมีเงินฉุกเฉินที่เอาไว้ช่วยเหลือได้ทันที เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เมื่อเกิดแล้วต้องมีเงินพร้อมแก้ปัญหานั้นได้ในทันที ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเก็บเงินส่วนนี้ไว้ในที่ที่มีความปลอดภัยและสามารถถอนออกมาใช้งานได้โดยง่าย เช่น การฝากเงินแบบออมทรัพย์ หรือ การซื้อกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น (สำหรับการเก็บเงินทั้งสองแบบ จะอธิบายรายละเอียดอีกครั้งในบทความถัด ๆ ไปค่ะ)
ทำประกันภัย :
สำหรับการทำประกันภัย จะมองถึงเหตุการณ์ที่มีโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบทางการเงินที่รุนแรงกับบุคคลนั้น หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงเกินกว่าที่ตัวบุคคลจะจัดการกับปัญหาเองได้ เช่น ไฟใหม้บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มาก อย่างที่มีการเปรียบเปรยไว้ว่าโดนปล้นร้อยครั้งไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว หรือ การเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นทุพพลภาพ ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อีกต่อไป หรือรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือการประสบกับโรคร้ายแรงซึ่งต้องใช้เงินในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับหัวหน้าครอบครัวอาจจะต้องเกิดปัญหาทางการเงินต่อสมาชิกในครอบครัวตามมาอีก เป็นต้น
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการโอนความเสี่ยงนี้ให้กับบริษัทประกันภัยต่าง ๆ เป็นผู้รับความเสี่ยงนั้นไว้เอง โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น บริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองกับผู้ทำประกัน หรือผู้รับผลประโยชน์ ตามข้อตกลงในสัญญา ทั้งนี้ในการพิจารณาทำประกันภัยควรจะต้องมองทั้งในส่วนของ ทรัพย์สิน และชีวิต สำหรับการทำประกันชีวิต นอกจากความคุ้มครองในเรื่องของเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต และค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่อื่น ๆ อีกดังนี้
- เป็นมรดก/ของขวัญชิ้นสุดท้ายที่จะมอบให้คนที่รัก
- การออมเงิน : ในแง่ของการประกันชีวิตที่มีเรื่องของการออมเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากแบบสะสมทรัพย์ที่คุ้นเคยกันดีแล้ว ยังมีประกันชีวิตควบการลงทุนหรือ unit link ที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
- ผลประโยชน์ทางภาษี
.. เอาล่ะค่ะ เมื่อเย็บรอยรั่วกันเสร็จแล้ว ขั้นต่อไป “อย่ากลัวที่จะลงทุน” แล้วพบกันในบทความหน้านะคะ