มาถึงขั้นตอนที่สี่ของการ วางแผนการเงิน กันแล้วนะคะ สำหรับบทความนี้ … “อย่ากลัวลงทุน” …
หลังจากที่เราได้ทำการ เย็บรอยรั่ว หรือ ปิดความเสี่ยงทางการเงิน ในภาพใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เปรียบได้ว่า ตอนนี้เรามีนักเตะกองหลังขั้นเทพคอยระวังหลังให้เราแล้ว ต่อไปเราก็สามารถ วางแผนการเงิน ในเชิงรุกได้อย่างสบายใจ และสนุกมากขึ้นแล้วค่ะ
สำหรับสนามรบ ท่านซุนวู นักปราชญ์ชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งมิพ่าย” ในการลงทุนก็เช่นกัน ก่อนจะกระโจนลงสนามของการลงทุน เราควรต้องรู้เขา รู้เรา ในเรื่องอะไรบ้าง …
รู้เขา
1. เงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ คือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยมีสาเหตุมาจาก 2 เรื่องหลักๆ คือ
- ความต้องการสินค้าและบริการมีมากขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอันเนื่องมาจาก กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นต้น
- ต้นทุนของการผลิตหรือบริการ มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ราคาน้ำมันสูงขึ้น, ทรัพยากรณ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของสินค้าเริ่มขาดแคลน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย มีอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งภาวะเงินเฟ้อนี้เป็นตัวทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของเราลดลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วเราใช้เงิน 30 บาท ในการซื้อข้าวราดแกง 1 จาน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เราไม่สามารถแลกเงิน 30 บาท กับข้าว 1 จานได้แล้ว เนื่องจากราคาขาวราดแกงจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3%
ดังนั้นหากเก็บเงินไว้เฉย ๆ ที่บ้าน จะเท่ากับว่า ท่านกำลังทำให้เงินลดค่าลงเรื่อย ๆ ปีละ 3% ดังนั้น จึงควรเอาเงินไปเก็บไว้ในที่ ๆ ให้ผลตอบแทนอย่างน้อย 3% ขึ้นไป เงินที่มีอยู่จึงจะมีค่าเท่ากับหรือมากกว่าค่าที่ควรจะเป็นของมันตามกาลเวลา
*** ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.X % เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เงินฝากประเภทนี้มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการเก็บเงินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเงินฉุกเฉิน ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความก่อน
2. เอาเงินไปวางที่ไหนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ
อย่างที่ทราบกันดีว่ามีการลงทุนมากมายหลายชนิด ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ส่วนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของการลงทุนนั้น ๆ ตามคำกล่าวที่ว่า High risk High return ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม กูรูหลายท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า ความเสี่ยงสามารถลดลงได้อีกหากเรามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ดีพอ เช่น ใคร ๆ ก็ทราบว่าการลงทุนในหุ้น ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่มีความเสี่ยงสูงมาก … หากเราอยากลงทุนในหุ้น เราสามารถลดความเสี่ยงตรงนี้ได้อีก ถ้าเรามีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นดีพอ เช่น รู้วิธีการสร้าง port ให้เหมาะสมกับตัวเอง, รู้วิธีการคัดเลือกหุ้นที่ดี, รู้จักการหาจังหวะการเข้าซื้อขาย, รู้ว่าต้อง monitor ปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับหุ้นที่ซื้อไว้ เป็นต้น สำหรับคนที่ต้องทำงานประจำไปด้วย ไม่มีเวลามานั่งบริหาร port หรือวิเคราะห์หุ้นด้วยตัวเอง ก็สามารถลดความเสี่ยงตรงนี้ได้เช่นกัน หากมีความรู้ว่า …
- การลงทุนในหุ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นเองโดยตรง แต่สามารถซื้อโดยทางอ้อมผ่านการซื้อกองทุนรวมหุ้น แทนได้ ซึ่งการซื้อกองทุนรวมหุ้น มีข้อดีคือ มีคนที่เก่งกว่าและมีเวลามากกว่าเรา(ผู้จัดการกองทุน) ทำหน้าที่บริหารจัดการ port การลงทุนหุ้น แทนเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหุ้น, หาจังหวะซื้อขาย รวมถึงคอยสอดส่องสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยน port การลงทุนให้สอดคล้องกลับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ
- การเลือกซื้อกองทุนหุ้น ควรเปรียบเทียบผลการดำเนินการ 5-10 ปีย้อนหลัง, ผลการดำเงินงานช่วงที่เกิดวิกฤติที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาเรื่อง sharp ratio ควบคู่ไปด้วย โดยข้อมูลต่าง ๆ สามารถหาได้จากเวบไซต์ Morningstar
- การลงทุนในกองทุนหุ้น ยิ่งลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนานความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลงตามไปด้วย เงินในส่วนที่จะนำมาลงทุนตรงนี้จึงควรเป็นเงินเย็น หรือเงินที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาอันใกล้ เป็นต้น
3. ลงทุนกับอะไรได้บ้าง
ในการลงทุน เราสามารถเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ได้หลายอย่าง เช่น ลงทุนกับคอนโด (ให้เช่า), ที่ดิน, อัญมณี ตราสารการเงิน ฯลฯ ซึ่ง ในที่นี้ จะขอเน้นเฉพาะการลงทุนในตราสารทางการเงิน ซึ่งเป็นนับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมในระยะหลัง ๆ มานี้ค่ะ
4. ตราสารทางการเงินมีอะไรบ้าง
สำหรับตราสารทางการเงินเพื่อการลงทุนโดยพื้นฐาน มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ตราสารหนี้ และตราสารทุน
– สินทรัพย์ทางการเงินประเภทตราสารหนี้ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้
– สินทรัพย์ทางการเงินประเภทตราสารทุน ได้แก่ หุ้นสามัญ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ บริษัทมหาชน หรือรัฐบาล ต้องการระดมเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการขยายกิจการ (บริษัท) หรือ พัฒนาประเทศ (รัฐบาล) ก็จะทำการออกตราสารการเงินดังกล่าวขายให้กับประชาชน ทั้งนี้ประชาชนในฐานะคนซื้อตราสารทั้งสองประเภท จะอยู่ในสถานะ ดังนี้
พันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้ : เมื่อเราซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้ จะแปลได้ว่า บริษัท หรือรัฐบาล กำลังขอยืมเงินเราไปใช้ก่อน โดยมีการระบุเวลาที่จะคืนเงินให้ โดยระหว่างนี้จะให้ผลตอบแทนกับเราที่ให้ยืมเงิน ในรูปของดอกเบี้ย ไปจนกว่าจะถึงกำหนดเวลาคืนเงิน
ดังนั้น ในฐานะคนให้ยืมเงิน เราจึงกลายเป็น เจ้าหนี้ ของรัฐบาล หรือบริษัทนั้น ๆ ทันที แม้รัฐบาล หรือบริษัทจะได้กำไรหรือขาดทุน ยังไงก็จะต้องจ่าย ”ดอกเบี้ย” ให้กับเราตามสัญญา
หุ้นสามัญ : เมื่อเราซื้อหุ้นสามัญ จะแปลได้ว่า เราให้เงินบริษัทไปดำเนินงาน ในฐานะหุ้นส่วนคนหนึ่ง
และในฐานะหุ้นส่วน เราจึงกลายเป็น เจ้าของ บริษัทนั้นตามสัดส่วนของการถือหุ้น ไปโดยปริยาย ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัทได้กำไร เราในฐานะเจ้าของก็จะได้รับการแจกจ่ายผลกำไรนั้น ตามสัดส่วนของการถือหุ้น ในรูปแบบของ “เงินปันผล” แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัทขาดทุน เจ้าของทั้งหลายก็จะต้องร่วมรับผิดชอบตามสัดส่วนเช่นกัน
** โดยปกติที่เรามักจะได้ยินคนพูดถึง การซื้อขายหุ้น หากไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจง มักจะหมายถึงหุ้นสามัญ **
นอกเหนือจากสินทรัพย์ทางการเงินพื้นฐานที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ อีก เช่น กองทุนรวม (เกิดจากการนำเงินจากนักลงทุนมากองรวมกัน แล้วเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ อาจจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน หรือ สินทรัพย์ทั่วไป เช่น ที่ดิน, น้ำมัน ฯลฯ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน), ใบสำคัญแสดงสิทธ์ในการซื้อหุ้นกู้/หุ้นสามัญ, ฟอร์เวิร์ด, ฟิวเจอร์, ออปชั่น, สวอร์ป เป็นต้น
5. สินทรัพย์ทางการเงิน vs ระยะเวลาการลงทุน
ในการพิจารณาว่าเราควรลงทุนกับสินทรัพย์ใด ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการลงทุนด้วย หากเป็นวัตถุประสงค์ระยะยาว เช่น ลงทุนเพื่อการเกษียณ ก็ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว แต่หากเป็นวัตถุประสงค์ระยะสั้น เช่น ต้องการเงินเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ระยะสั้น เป็นต้น
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ทางการเงิน กับระยะเวลาหวังผลในการลงทุน สามารถแสดงได้ตามรูป
รู้เขา กันมาพอสมควรแล้ว ในบทความหน้า มาดูว่า เราควรต้องสำรวจตัวเองในเรื่องไหนกันบ้างค่ะ …