วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ที่มีพัฒนาการค่อนข้างสูงกว่าผู้ใหญ่ เขามักจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบข้างได้ดีทุกรูปแบบ รวมไปถึงพฤติกรรมทางด้านการเงินของคนในบ้านด้วย
ดังนั้น การปลูกฝังความรู้ทางด้านเศรษศาสตร์ให้แก่เด็กๆถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงที่เขาต้องเติบโตไปพร้อมๆกับอนาคตทางการเงินที่มืดบอด ซึ่งอาจส่งผลให้กลายเป็นบุคคลที่ประสบสภาวะล้มเหลวทางการเงินได้ในอนาคต
บทความนี้ จะแนะนำวิธีสอนเศรษฐศาสตร์อย่างแนบเนียนให้กับเด็กๆ โดยการสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในทุกๆกิจกรรมที่ทำร่วมกันในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เขามี วินัยทางการเงิน ด้วยการปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ และไม่แสดงอาการต่อต้านเพราะรู้สึกว่าถูกบังคับ
1. ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
ก่อนจะสอนเด็กๆ คุณต้องสำรวจ และถามตัวเองก่อน ว่าตัวคุณเองมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางด้านการเงินรูปแบบไหนบ้าง อย่าลืม ว่าเด็กๆจะมองคนสอนเป็นแบบอย่างที่ดี และคิดว่าข้อมูลที่ป้อนมา เป็นข้อมูลที่ถูกต้องเสมอ
ดังนั้น หากผู้ปกครองยังมีพฤติกรรมในด้านการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม คุณก็จะสอนเขาได้ไม่สำเร็จ เช่นคุณต้องการสอนให้เขารู้จักเก็บออม แต่ตัวคุณเองไม่เคยออมเงินให้เขาเห็นเลยสักครั้ง ตรงกันข้าม คุณกลับเป็นนักช็อปตัวแม่ ตะลุยซื้อของฟุ่มเฟือยเป็นกิจวัตรประจำวันต่อหน้าเขา แบบนี้คงไม่ไหว
คุณสามารถทำกับข้าวทานเองที่บ้านได้ในทุกมื้อ แต่คุณกลับไม่คิดที่จะทำ คุณชอบพาเด็กๆไปฝากท้องตามร้านอาหารหรูหราในห้างสรรพสินค้า วิธีนี้เป็นการปลูกฝังเด็กๆทางอ้อมว่า การทำกับข้าวทานเองที่บ้านเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะทันทีที่หิว เราสามารถถือบัตรเครดิตเดินเข้าร้านอาหารได้ตามใจชอบ
ดังนั้น ก่อนที่คุณจะสอนเขา ลองพิจารณาตัวเอง และหาทางปรับปรุง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและได้ประสิทธิภาพอย่างสูงสุดในการสอน
2. อย่าให้อะไรเขาง่ายดายนัก
ของบางอย่างไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กๆใช้งาน แต่ผู้ปกครองหลายท่านก็ยังนิยมซื้อให้เด็กๆใช้อยู่เสมอ มองเผินๆคล้ายเป็นการแข่งขันอวดฐานะกันเองของผู้ปกครอง ทำให้เกิดค่านิยมผิดๆในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ว่าโทรศัพท์มือถือ ต้องรุ่นนี้เท่านั้น ราคาต้องระดับนี้เท่านั้น หากด้อยกว่าเพื่อนเพียงนิดเดียวก็รู้สึกแตกต่าง และขอผู้ปกครองซื้อใหม่อยู่ร่ำไป สุดท้ายก็เกิดการสูญหาย หรือพังไปเลย เพราะเด็กๆไม่มีความระมัดระวังมากพอ
ดังนั้น ก่อนที่เขาจะได้อะไรจากคุณสักชิ้นหนึ่ง คุณควรตั้งเงื่อนไขที่เขาสามารถทำตามได้โดยง่ายขึ้นมาก่อน เพื่อให้เขาไม่รู้สึกว่า ได้ของสิ่งนั้นที่อยากได้มาง่ายดายเพียงเอ่ยปากขอ เพราะเขาอาจจะติดพฤติกรรมนี้ไปตลอด และเปลี่ยนเป้าหมายที่เขาอยากได้เป็นชิ้นนั้นชิ้นนี้ไปเรื่อยๆไม่รู้จบ
คุณอาจให้เขาช่วยงานบ้าน โดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน แล้วแนะนำวิธีเก็บออมให้แก่เขา ถือเป็นการสอนวิธีออมเงินไปในตัว รวมไปถึงสอนให้เขารู้จักความยับยั้งชั่งใจ ไม่เป็นคนใจเร็วด่วนได้
ยังมีวิธีอีกมากมายที่คุณจะสอนให้เขารู้จักอดทน รอคอยและทำทุกอย่างที่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ เช่นหากที่บ้านคุณมีกิจการส่วนตัว คุณก็เสนอให้เขาช่วยงานในร้าน เพื่อปลูกฝังนิสัยเจ้าของกิจการให้แก่เขาโดยทางอ้อมนั่นเอง
3. สอนเขาให้รู้จักและเข้าใจหลักการออมเงิน
การออมเงิน ถือเป็นรากฐานสำคัญหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ดี คุณควรเลือกวิธีการออมที่สนุกและจัดรูปแบบเป็นเกมเพื่อเพิ่มความกระตือรือร้น ซึ่งวิธีนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับบ้านที่มีเด็กๆอาศัยอยู่หลายคน เพราะจะช่วยส่งเสริมให้เด็กๆรักการออม และสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น
ก่อนอื่น คุณต้องเลือกว่าจะให้ค่าใช้จ่ายเขาในรูปแบบไหน รายวัน, รายสัปดาห์, หรือรายเดือน เป็นต้น โดยวัดจากตัวเด็กเป็นหลัก ว่าเขามีความรับผิดชอบในระดับไหน หากคุณให้ไปเป็นรายสัปดาห์ เขาจะใช้วันเดียวหมดหรือไม่ เป็นต้น
หลังจากนั้นก็แนะนำวิธีการใช้จ่ายรายวันให้กับเขาโดยละเอียด แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของการออกคำสั่ง คุณควรแนะนำทำนองที่ว่า ถ้าเป็นคุณจะใช้เงินอย่างไร และทำข้อตกลงกันว่าจะเหลือสตางค์มาหยอดกระปุกออมสิน วันละเท่าไหร่
อย่าลืมเพิ่มเติมไปว่า เขาจะเหลือมาเยอะกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ เพราะยิ่งเหลือกลับมาเยอะ จำนวนเงินในบัญชีของเขาก็จะเพิ่มมากขึ้นจนสามารถใช้ซื้ออะไรก็ได้ที่เขาต้องการ แต่ต้องใช้ยอดเงินส่วนเกินซื้อนะ ไม่เกี่ยวกับส่วนที่ออมโดยเด็ดขาด
สิ้นเดือนก็ชวนเด็กๆมาทุบกระปุก นั่งนับเงินร่วมกัน โดยแยกเศษสตางค์ใส่ถุงให้เรียบร้อย ตามอัตราที่ธนาคารกำหนด คือ เหรียญ 1 บาท,2 บาท แยกบรรจุถุงละ 100 บาท ,เหรียญ 5-10 บาท แยกบรรจุถุงละ 500 บาท ,ธนบัตรย่อยใบละ 20 ให้มัดรวมไว้ 500-2,000 บาท
หลังจากนั้นก็พาเขาไปธนาคารกับคุณด้วย เพื่อให้เขาคุ้นชินกับเรื่องการเงิน และไม่กลัวที่จะเข้ามาฝากเงินในธนาคาร สอนให้เขารู้ว่าดอกเบี้ยคืออะไร และเขาจะได้เท่าไหร่จากยอดเงินฝากนี้เมื่อครบกำหนด เป็นต้น
4. พาเขาไปซื้อของกับคุณด้วย
เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้เรื่องระบบการจัดการค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ผ่านมุมมองของคุณ คุณจะต้องสอนเขาหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา คุณภาพของสินค้า รวมไปถึงการเปรียบเทียบเพื่อคัดเลือกสินค้าที่คุ้มที่สุด
การเลือกซื้อสินค้า จะช่วยให้เขามีการจัดระบบความคิดในเรื่องเศรษฐศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้น และพัฒนาจนเกิดความเชี่ยวชาญในที่สุด เพื่อที่วันข้างหน้า เขาจะได้ควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัวได้ด้วยตัวของเขาเอง
วิธีเหล่านี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการสอนหรืออบรมบุตรหลานของคุณได้ไม่ยาก เพื่อปลูกฝังให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิด มี วินัยทางการเงิน และประสบความสำเร็จในด้านการเงินอย่างงดงาม ไม่ตกเป็นทาสบัตรเครดิตจนล้มละลายเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน