การปลูกฝังนิสัยการใช้เงินที่ดีตั้งแต่เด็ก เป็นการปลูกฝังรากฐานการออมที่ดีในวันหน้า เพราะสมองเด็กสามารถพัฒนาได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ถึงสองเท่า ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสอนให้เขาเรียนรู้ทุกเรื่องในสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขารู้จักที่จะเก็บออมเงินและรู้คุณค่าของเงินนั่นเอง
สอนเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานต่อไปนี้ จะช่วยเป็นแนวทางการสอนสำหรับผู้ปกครอง ว่าควรปลูกฝังนิสัยการใช้เงินอย่างไรให้ถูกวิธี และไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกบังคับ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกครอบครัวในสังคมไทย เพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพ และลดความเสี่ยงในภาระหนี้สินของเขาเองในอนาคต
1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา
ผู้ปกครองคือแม่แบบที่เขาเฝ้ามองและปฏิบัติตาม ดังนั้นควรเริ่มที่ตัวคุณก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การงดซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น เช่น อาหารเสริมเพื่อความงาม เครื่องสำอางที่ซื้ออยู่เรื่อยๆแต่ใช้ไม่เคยหมด เสื้อผ้า ที่นานๆคุณถึงจะมีโอกาสได้ใส่ กระเป๋าราคาแพง ที่จะทำให้คุณเสียเงินโดยใช่เหตุ โทรศัพท์มือถือตามสมัยนิยม ที่จะยั่วยุให้เขาอยากมีบ้างก่อนวัยอันควร
พฤติกรรมแย่ๆเหล่านี้จะทำให้เขาเลียนแบบ และเป็นตัวสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ล้มเหลว คุณคือคนที่สอนให้เขาคิดว่าเงินได้มาง่ายๆ และสามารถใช้จ่ายได้ตามใจ โดยไม่ต้องนึกถึงวันข้างหน้า สอนให้เขามองภาระหนี้สินเป็นเรื่องโก้เก๋ และไม่รู้สึกเกรงกลัวที่จะเป็นหนี้ ด้วยการรูดบัตรเครดิตเป็นว่าเล่นของคุณ ถ้าคุณไม่หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ต่อให้คุณสอนเขาให้ประหยัดอย่างไร เขาก็ไม่มีวันที่จะปฏิบัติตาม ดังนั้นเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ดีให้กับลูกน้อยของคุณ คุณจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ได้ แล้วสิ่งที่คุณปฏิบัติจะช่วยหล่อหลอมเขา ให้เขารู้คุณค่าของเงิน ของการประหยัดอดออมเอง
2. สอนให้เขาออมเงินจนติดเป็นนิสัย
แนะนำให้เขาเก็บเงินที่เหลือจากค่าขนมมาหยอดกระปุกออมสิน เมื่อมีเงินเต็มกระปุก ก็พาเขาไปเปิดบัญชี ฝากเงินเข้าธนาคาร พร้อมกันเงินเล็กๆน้อยๆส่วนหนึ่งซื้อของที่เค้าอยากได้ให้ วิธีนี้จะทำให้เขาเห็นคุณค่าของการอดออม ว่าอยากได้สิ่งใดต้องเก็บเล็กผสมน้อย และเป็นแรงจูงใจให้ลูกรู้สึกอยากจะเก็บออมเงินมากขึ้น
การแข่งขันจะทำให้เขาสนุกกับการเก็บเงินมากขึ้น ถ้าในบ้านมีเด็กหลายคน ก็ควรให้ทุกคนทำไปพร้อมๆกัน การแข่งขันเล็กๆน้อยๆโดยมีรางวัลเป็นเครื่องล่อใจให้ เช่น ถ้าใครเก็บเงินได้ตามที่แม่กำหนด แม่จะเพิ่มเงินเข้าบัญชีเงินฝากให้อีก 500 บาท จะทำให้เค้ารู้สึกว่าอยากทำให้สำเร็จ
3. ฝึกให้เขาเป็นนักลงทุน
ตอนเด็กๆ บ้านของผู้เขียนทำงานหัตถกรรมเป็นหลัก ส่งขายตามร้านค้าเจ้าประจำในย่านสำเพ็ง ช่วงปิดเทอม คุณยายจะถามหลานๆทุกคนว่า ใครจะทำดอกไม้เข็มหมุดสำหรับติดห่อของขวัญบ้าง ถ้าทำให้คำนวณเอาเองว่าใครจะทำเท่าไหร่ เช่น ริบบิ้นพลาสติก 1 ม้วน ราคา 8 บาท(ในสมัยนั้น) สามารถทำดอกไม้ได้ถึง 7 ดอก เราต้องการทำจำนวนกี่ดอกก็บอกคุณยายไป คุณยายจะออกเงินซื้อให้ก่อน แล้วหลังจากนั้นเมื่อหลานๆทำเสร็จ คุณยายจะนำไปฝากขายตามร้านประจำ ได้ราคา 3, 5 และ 10 บาทตามขนาดของดอกไม้ คุณยายจะจดบัญชีรายได้แยกให้เป็นรายคน แล้วสอนหลานๆว่าแต่ละคนต้องจ่ายค่าริบบิ้น และเข็มหมุดคืนคุณยายเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็จะนำเงินที่เหลือไปฝากธนาคารให้
วิธีนี้ จะช่วยให้เด็กๆรู้จักการลงทุน รู้จักคำว่าต้นทุน กำไร และมีไหวพริบในเชิงธุรกิจ เช่น ถ้าทำดอกไม้ขนาดเล็ก ราคาขายต่อดอกจะน้อยกว่าในขณะที่ขนาดใหญ่ทำได้ง่ายกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เขามีทักษะในการค้าขาย รู้จักวางแผนการเงิน และยังมีไหวพริบที่ดีอีกด้วย
วิธี สอนเศรษฐศาสตร์พื้นฐานง่ายๆเหล่านี้ จะช่วยปลูกฝังให้เค้าคิด รู้คุณค่าของเงิน ว่ากว่าจะได้สิ่งใดมาต้องเก็บออม ต้องลงทุนลงแรง เมื่อเค้าโตขึ้นสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้เค้ามีวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าของเงินที่หามาได้