บ่อย ๆ ครั้งที่เรามักได้ยินคนรู้จัก หรือ นักวิชาการต่างพากันพูดว่า ใช้เงินทำงานสิ อย่าทำงานงก ๆ หาเงินอย่างเดียว
ซึ่งไอเดียและหลักคิดอย่างนี้เราต่างก็ยอมรับว่าน่าสนใจและน่าจะนำไปปฏิบัติกันจริง ๆ จัง ๆ สักที แต่ก็ไม่บ่อยนักหรอกค่ะที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะนำไปใช้แล้วทำได้จริง และ นำไปใช้แล้วได้ผลออกมาดีจริง แต่ไม่ว่าอย่างไร การที่เราเริ่มคิดเริ่มลงมือ ออมเงิน นับเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ค่ะ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ด้วย ความเปลี่ยนแปลง การหักมุมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ตลอด และ เกิดขึ้นได้กับทุกคน อยู่ที่ว่าใครจะสามารถตั้งรับและมีความพร้อมมากกว่ากันค่ะ ถ้าคุณเองก็เป็นอีกคนที่กำลังมองหาวิธี ออมเงิน ให้รวยกับเขาบ้าง ลองนำเทคนิคต่อไปนี้ไปใช้ดูนะคะ
กฎข้อที่หนึ่งก็คือ ให้เงินกับตัวเองก่อนเป็นคนแรก หมายความว่า ทันทีที่คุณได้รับเงินเดือนออกมาปุ๊บ ก็ให้คุณจ่ายเงินเข้าไปในบัญชีเงินฝากธนาคารของคุณทันทีเป็นประจำทุก ๆ เดือนค่ะ และต้องตกลงเป็นสัญญาใจอย่างจริงจังว่า เงินในบัญชีก้อนนั้น ฉันจะฝากไว้อย่างเดียวไม่ไปแตะต้องเด็ดขาด และถ้าคุณมีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องเบิกเงินออกมาจากบัญชีนี้หล่ะก็ คุณต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนะคะ ต้องตั้งตนเป็นเจ้าหนี้ของตัวเองค่ะ โหดได้โหดใส่ตัวเองเลยค่ะ เข้มงวดกับตัวเองบ้าง เพื่อวินัยทางการเงินที่ดีของเราเองนะคะ
กฎข้อที่สอง เศษเหรียญคือเงินก้อนในวันข้างหน้า ดังนั้น ทุกเย็นเมื่อกลับบ้านมาลองลวงกระเป๋าตัวเองดู มีเหรียญเหลือกี่บาทนำมาหยอดลงกระปุกให้หมดค่ะ แล้วจากนั้นคุณก็ไปเปิดบัญชีธนาคารเพิ่มอีกเล่มสำหรับเงินหยอดกระปุกโดยเฉพาะ อย่าประเมินค่าเงินเหรียญต่ำไปนะคะ เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมอยู่ทุกวันจะเป็นเงินก้อนโตได้ในอนาคตแน่ ๆ ค่ะ อย่างที่คุณเคยเห็นตามข่าวว่าชาวจีนนำเหรียญมาซื้อรถสปอร์ตแพง ๆ หรือ ซื้อบ้านนั่นแหละค่ะ คือคำตอบและภาพที่ชัดที่สุดของการเก็บเล็กผสมน้อยค่ะ
กฎข้อที่สาม เงินคืนคือรากฐานของเงินออม หมายความว่า เงินได้ใด ๆ ก็ตามที่คุณได้ปันผลคืนมา หรือ เป็นเงินคืนจากโปรโมชั่นซื้อสินค้า หรือ เงินคืนจากการจ่ายเบี้ยประกันต่าง ๆ นั่นแหละค่ะ ให้นำมารวมเป็นก้อนเดียวแล้วนำไปฝากบัญชีธนาคารไว้ อย่าเพิ่งนำมาใช้ค่ะ พอสิ้นปีลองมาปรับสมุดดูสิค่ะ คุณจะรู้ว่าปี ๆ หนึ่งคุณมีรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีเท่าไรบ้าง แล้วคุณจะยิ่งเห็นคุณค่าของเงินออมก้อนนี้ค่ะ พูดเลย
ส่วน กฎข้อที่สี่ ก็คือ ผ่อนค่างวดต่อให้ตัวเอง นั่นก็คือ ไม่ว่าคุณจะเคยจ่ายค่างวดรถ, ค่างวดคอมพิวเตอร์ หรือ ค่างวดอะไรมาก่อนก็ตาม แล้วตอนนี้ค่างวดนั้นจ่ายครบแล้ว เราขอแนะนำให้คุณหักค่างวดยอดเท่าเดิมคืนให้บัญชีธนาคารตัวเองต่อไปค่ะ ซึ่งแน่นอนว่า ค่างวดนี้ก็ไม่ได้กระทบอะไรคุณอยู่แล้ว เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่คุณเคยมีอยู่ก่อนแล้ว แต่ตอนนี้มันกำลังจะแปรสภาพมาเป็นเงินออมให้คุณค่ะ เว้นแต่ว่า พอหมดหนี้ผ่อนคอมพิวเตอร์แล้วคุณก็ไปผ่อนอย่างอื่นเพิ่มแทน อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องค่ะ
กฎข้อที่ห้า เลิกสักทีกับการใช้จ่ายตามแฟชั่น ความหมายชัด ๆ ก็คือ ไม่ฟุ่มเฟือย และ ใช้จ่ายอย่างรู้จักค่าของเงินให้มากเข้าไว้ค่ะ อันนี้เราต้องฝึกกันนะคะว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งที่รอได้ ก่อนจะซื้ออะไรใหม่สักชิ้นให้คิดให้ดีก่อนค่ะ ลองนำสิ่งของที่อยากจะซื้อมาจัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง ค่อย ๆ ตัดออกทีละอย่าง แล้วคุณจะรู้ว่าบางครั้งสิ่งของที่คุณทำรายการขึ้นมานั้น เอาเข้าจริง ๆ มันอาจจะไม่จำเป็นอะไรนักเลยก็ได้ค่ะ แล้วคุณจะแปลกใจที่มีเงินเหลือเก็บมากขึ้นทุกเดือนค่ะ
ส่วนกฎข้อถัดมาก็คือ กฎข้อที่หก เงินต่อเงิน เพิ่มมูลค่าจากการลงทุน ตั้งแต่เล็กแต่เด็ก เรามักจะคุ้นเคยกับการออมที่เรียกว่า ออมเงิน ฝากกับธนาคารซึ่งก็ดีที่เราจะได้ดอกเบี้ยและเงินต้นก็ยังอยู่ครบอีกด้วย แต่ถ้าคุณได้ลองเปรียบเทียบดอกเบี้ย หรือ ผลตอบแทนที่เราได้จากเงินออมแต่ละปีนั้น คุณจะรู้ว่ามันน้อยมาก ถ้าอยากให้เงินทำงานให้เรามาก ๆ การลงทุนด้านอื่นจะเพิ่มมูลค่าของเงินได้มากกว่าค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยเป็นสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับการออมเงิน แต่คุณจะได้สิทธิพิเศษ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กรณีฉุกเฉิน หรือ จะเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเราสามารถดูรายละเอียดพันธบัตรรัฐบาลเพื่อประชาชนได้ที่ www.bot.or.th แต่สิ่งที่คุณต้องพิจารณาและเลือกให้ดี ๆ ก็คือ ประเภทพันธบัตร, อัตราดอกเบี้ย แล้วก็วันจ่ายดอกเบี้ยค่ะ
หรือสำหรับบางคนที่บริษัทฯ ของคุณมีทางเลือกให้คุณสามารถเข้าร่วมฝากเงินกับกองทุนของบริษัทฯ ได้ ก็อย่ารีรอลังเลค่ะ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ นอกจากจะช่วยหักเงินไปออมให้คุณทันทีทุก ๆ เดือนแล้ว ยังมีส่วนที่นายจ้างจะจ่ายสมทบให้ด้วยค่ะ บอกคำเดียวว่า เวิร์คมาก ๆ สำหรับพนักงานและลูกจ้างเงินเดือนทั้งหลายค่ะ ลองหันมา ออมเงิน อย่างนี้ดูนะถึงจะรวยค่ะ