หลายคนคงจะอยากทราบเทคนิคและวิธีการ ออมเงินให้ได้ประโยชน์แก่ตัวเองมากที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เรามีเทคนิคการออมเงินมาแนะนำกัน
หลักการบริหารเงินออมในชีวิตประจำวันของเรานั้น ควรแบ่งเงิน และกระจายเงินออมเข้าบัญชีต่างๆ โดยขั้นแรกจะต้องมีการจดบันทึกรายรับและรายจ่ายเพื่อให้ทราบว่าใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใดบ้าง และแต่ละเดือนได้ออมเงินมาน้อยเพียงใด จากนั้นจึงกระจายเงินเข้าบัญชีแต่ละประเภท ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 บัญชีหลัก ได้แก่
1. บัญชีเพื่อใช้จ่ายในแต่ละเดือน
จะเป็นเงินส่วนที่กันเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายทั่วไป เป็นเงินหมุนเวียนในแต่ละเดือน ควรนำเงินเข้าบัญชีนี้ประมาณ 1 – 2 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน โดยเก็บเงินส่วนนี้ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่มีบัตร ATM เพื่อความคล่องตัวในการใช้จ่าย นอกจากนี้ อาจใช้บัญชีนี้มาผูกกับบัตรเครดิตเพื่อตัดเงินออกจากบัญชีเวลามีการเรียกเก็บเงิน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้า รวมทั้งผูกบัญชีเพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วยก็ได้
2. บัญชีสำรองฉุกเฉิน
เป็นบัญชีสำรองเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ควรมีเงินอยู่ในบัญชีประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งควรจะเก็บเอาไว้ในกองทุนรวมประเภทตราสารตลาดเงิน หรือบัญชีเงินฝากที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ สำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน แนะนำให้ผูกบัญชีออมทรัพย์กับบัญชีกองทุนรวม และเปิดบริการซื้อขายกองทุนผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทำรายการซื้อขายกองทุนแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลาเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยข้อดีของกองทุนรวมตลาดเงินที่โดดเด่นกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากประจำทั่วไปคือ กองทุนรวมตลาดเงินมักให้อัตราผลตอบแทนประมาณ 2 – 3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝาก แต่ก็แลกมาด้วยสภาพคล่องที่ต่ำกว่าเล็กน้อย
3. บัญชีลงทุนเพื่อวัยเกษียณ
คือบัญชีที่มีการลงทุนระยะยาวเพื่อเป็นเงินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยที่เงินส่วนนี้อาจแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร ประกันชีวิต ประกันบำนาญ หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นสัดส่วนมากหรือน้อยตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งกองทุนประหยัดภาษีอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งบัญชีเพื่อวัยเกษียณนี้ แนะนำให้จัดสรรเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เนื่องจากการออมเงินเพื่อการเกษียณแต่เนิ่นๆ จะทำให้ยอดที่ต้องออมเงินในแต่ละเดือนต่ำกว่าการเริ่มต้นออมเงินในช่วงใกล้ๆเกษียณ นอกจากนี้ระยะเวลาลงทุนที่นานขึ้นยังช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดทุนด้วย
4. บัญชีเงินลงทุนเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ
อาจมีหลายบัญชี เนื่องจากเป้าหมายที่แตกต่างกัน ย่อมมีวัตถุประสงค์ และใช้ระยะเวลาในการลงทุนแตกต่างกัน เช่น ต้องการวางแผนให้ลูกเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา (เป้าหมายสำคัญ ระยะเวลาการลงทุนสั้น) หรือวางแผนส่งลูกเรียนปริญญาตรี (เป้าหมายสำคัญ ระยะเวลาการลงทุนยาว) หรือการวางแผนไปเที่ยวยุโรปตอนสิ้นปี (เป้าหมายสำคัญน้อย ระยะเวลาการลงทุนสั้น) ทั้งนี้ด้วยระดับความสำคัญของเป้าหมายและระยะเวลาการลงทุนที่แตกต่างกัน จึงจะต้องลงทุนโดยจัดสรรเงินลงทุนในกองทุนรวมแต่ละชนิดให้เหมาะสม คือ ถ้าเป้าหมายระยะสั้นหรือมีความสำคัญมาก ก็จะเน้นลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้แบบมีกำหนดระยะเวลา หรือกองทุนรวมตลาดเงินที่มีความมั่นคง เพื่อที่จะรักษาเงินต้นไม่ให้สูญไป แต่ถ้าเป้าหมายระยะยาว ก็จะเน้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือกองทุนผสมที่มีทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เนื่องจากในระยะยาวผลตอบแทนของหุ้นมักจะมากกว่าตราสารหนี้ แม้ว่าจะมีความผันผวนสูงกว่าในระยะสั้นๆ ก็ตาม
ทั้งนี้ควรพิจารณาดูให้ดีก่อน เพราะบัญชีทั้ง 4 ประเภทนี้เป็นแนวทางในการกระจายรายรับเพื่อใช้จ่ายและลงทุนโดยมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน จึงมีประเภทและสัดส่วนของการลงทุนที่แตกต่างกันตามความสำคัญของเป้าหมายการออมนั่นเอง
ในวันนี้คุณได้คิดถึงการออมเงินเพื่ออนาคตในวันข้างหน้าบ้างหรือยัง เพียงแค่คุณเริ่มออมตั้งแต่วันนี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือเหตุฉุกเฉินขึ้น จะได้มีเงินสำรองเพื่อเหตุการณ์เหล่านั้น ทั้งการออมเงินยังถือเป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะเมื่อออมเป็นระยะเวลานานก็จะมีเงินก้อน นอกจากนี้หากเลือกออมอย่างถูกวิธียังอาจได้รับดอกผลที่งอกเงยจากการออมอีกด้วย