พวกเราส่วนใหญ่มักได้เรียนรู้แนวคิด และทัศนคติดีๆ จากคนรวยหรือคนที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนหลักธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง หรือที่เรียกว่า “หัวใจของเศรษฐี” ซึ่งถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานแล้วก็ตาม หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็ยังถือเป็นแนวทางให้พวกเราได้สามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อยู่เสมอ เพราะว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นถือว่าเป็น อกาลิโก คือ อยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีวันตกยุค หรือล้าสมัย
พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนว่า บุคคลใดที่ต้องการความร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทอง รวมถึงมีเกียรติยศชื่อเสียง จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรม 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย
อุ ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การขยันหา
การขยันหาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การขยันทำมาหากินเท่านั้น แต่รวมถึงการขยันหมั่นเพียรในการหาความรู้ หาข้อมูล หาช่องทางต่างๆ ในการหาเงินด้วย
คนส่วนใหญ่มักไม่มีความตั้งใจในการทำงาน ตอนทำงานก็ทำไปด้วยเล่นไปด้วย หรือไม่ก็ไม่ค่อยจะมีสมาธิในการทำงานเท่าที่ควร ทำให้ผลงานที่ออกมาจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จริงๆ แล้วเงินทองนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ขอเพียงแต่เราอย่าเป็นคนขี้เกียจก็แล้วกัน เพราะมีโอกาสน้อยมากที่คนที่ไม่ขยันจะประสบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นคุณต้องรู้จักขยันหมั่นเพียรในการทำงาน รู้จักหาความรู้ และหาช่องทางในการเงินต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญต้องทำสิ่งต่างๆ ด้วยความตั้งใจจริง!
อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา หมายถึง การขยันเก็บ
เมื่อคุณหาเงินมาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร คุณก็ต้องรู้จักการเก็บรักษาเงินของคุณด้วย อย่างไรก็ตามสมัยนี้การเก็บเงินไว้เฉยๆ หรือแม้แต่กระทั่งเก็บไว้ในธนาคารก็ไม่ถือว่าเป็นการอารักขาทรัพย์ที่ดี เพราะว่าเงินของคุณจะถูกลดมูลค่าไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ คือถ้าคุณเก็บเงินไว้เฉยๆ อำนาจการซื้อของคุณก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา หรือถึงแม้คุณจะฝากเงินไว้กับธนาคาร ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารก็ไม่มีวันไล่ตามอัตราเงินเฟ้อได้ทัน การที่คุณเอาแต่ฝากเงินไว้กับธนาคารแล้วหวังว่าจะรวย จึงเป็นไปได้ยากมาก
การอารักขาทรัพย์ที่ดีจึงไม่ได้หมายถึงการเก็บออมอย่างเดียว แต่หมายถึงว่าเราต้องรู้วิธีที่จะทำให้เงินที่เราเก็บไว้นั้นงอกเงยขึ้นมาได้อย่างไรด้วย เช่น การนำเงินไปลงทุน หรือแม้แต่การนำเงินไปใช้ในการพัฒนาความรู้ให้กับตัวเอง ก็ถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนในตัวคุณเองครับ
กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา หมายถึง การเลือกคบคนดีเป็นมิตร (หรือคบกัลยาณมิตรนั่นเอง)
คุณคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” การรู้จักผูกมิตรกับคนดีมีศีลธรรม และแวดล้อมตัวเองด้วยคนดีๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ซึ่งสมัยนี้เราสามารถเข้ารวมกลุ่มกับคนดีๆ ได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรม สัมมนา การมีกลุ่ม LINE หรือ Facebook เป็นต้น การที่คุณเป็นคนที่มากด้วย Connection คุณย่อมได้เปรียบกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน สมัยนี้ Know how อย่างเดียวไม่พอ ต้อง Know who ด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด มันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ปริมาณ แต่มันอยู่ที่คุณภาพ ในทางพุทธศาสนาความสำเร็จของคนเรานั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรม ดังนั้นธุรกิจไหน หรือคนกลุ่มไหนที่ดำเนินธุรกิจแบบผิดศีลธรรม คุณต้องไม่ไปข้องแวะด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะถึงแม้การดำเนินธุรกิจแบบนั้นอาจทำให้คุณรวยได้ แต่มันก็จะเป็นความรวยที่ไม่ยั่งยืน
สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา หมายถึง การใช้ชีวิตอย่างสมฐานะ (หรือใช้ชีวิตอย่างพอเพียง)
ปัญหานึงที่ทำให้คนเราประสบปัญหาด้านการเงินคือ การใช้ชีวิตเกินฐานะ! อย่างเช่น บางคนเงินเดือนสองหมื่นบาท แต่ใช้จ่ายเดือนละสามหมื่นบาท อย่างนี้เรียกว่าใช้จ่ายเกินตัว คนเรามักตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นภายนอก เราติดนิสัยการใช้จ่ายเพื่อรักษาหน้าตาตัวเอง ต้องใช้ของแพงๆ ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้คนอื่นได้รู้และได้เห็นว่าฉันคือคนรวยคนหนึ่ง นิสัยแบบนี้นี่แหละที่พาชีวิตคนเราอับจนมาเยอะแล้ว
เคล็ดลับในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งคือ ต้องรู้ว่าการใช้ชีวิตแบบไหนที่พอเหมาะกับตัวเอง รู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นกับตัวเองจริงๆ คุณไม่จำเป็นต้องหน้าใหญ่ จ่ายแพง เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองรวย ลองดูตัวอย่างวอร์เร็น บัฟเฟตต์ก็ได้ เค้าสามารถซื้อบ้านกี่หลังก็ได้ ซื้อรถยนต์กี่คันก็ได้ แต่เค้าก็ยังอยู่บ้านหลังเดิม ขับรถคันเก่าๆ แต่ไม่ใช่ว่าเค้าต้องใช้ชีวิตแบบจำทน หรือมีความทุกข์นะครับ เค้ามีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้นต่างหาก เพราะว่าใจของเค้ารู้จักคำว่าพอเพียงแล้ว อย่างไรก็ตามถ้าหากคุณมีเงินจริงๆ และมีเพียงพอกับสิ่งที่คุณต้องการจะซื้อ คุณก็สามารถซื้อได้ เพียงแต่ขอให้คุณรู้ว่าการใช้จ่ายของคุณนั้นจะไม่ทำให้คุณเบียดเบียนตัวเองในภายหลังก็แล้วกัน
หัวใจของเศรษฐี หรือ “อุ อา กะ สะ” ไม่ได้มีไว้ให้เราสวดหรือท่องจำ แต่มีไว้ให้เรารู้ความหมาย และลงมือปฏิบัติตามนะครับ!