การ เก็บเงิน เพื่อที่จะให้เป็นไปตามกำหนด หรือว่าตามที่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้นั้น นับว่าช่วงแรกๆเป็นช่วงที่ยากที่สุด เปรียบได้กับเด็กที่เพิ่งจะหัดเดินเลยทีเดียว แต่ละคนคงมีการล้มบ้าง พลาดเป้าบ้างเป็นธรรมดา แต่ทั้งนี้เชื่อได้เลยว่า เมื่อผ่านไปสักระยะ ก็จะเกิดความเคยชิน และสามารถจัดการเงินได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ขอเพียงแค่อย่าเพิ่งเลิกล้ม ถอดใจไปเสียก่อน
วันนี้ทางเราก็มี เทคนิคการเก็บเงินอย่างได้ผล มาฝากผู้ที่กำลังท้อแท้ หมดหวัง หรือไร้แนวทางในการเก็บเงิน เพื่อที่การเก็บเงินจะได้เป็นไปตามเป้าหมาย แค่ปฏิบัติตามก็สามารถมีเงินเก็บได้อย่างที่หวังแล้ว มาดูแล้วเริ่มปฏิบัติไปพร้อม ๆ กันเลย
1. อย่าลืมหยอดกระปุก!
บางคนอาจคิดว่าการหยอดกระปุกเป็นเรื่องของเด็กๆ แต่เศษเงินอันน้อยนิดนี่ล่ะที่เมื่อมารวมกันมากเข้าก็กลายเป็นเงินก้อนได้ จะเก็บเศษเหรียญ โดยตั้งปณิธานไว้ก็ได้ เช่น ถ้าได้เหรียญสิบจะไม่นำไปใช้ จะนำมาเก็บสะสมไว้ หรือจะเปลี่ยนเป็นแบงค์ 50 ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ผู้เขียนเองก็เคยตั้งเป้าหมายไว้เหมือนกันว่า จะสะสมแบงค์ 50 ที่ได้รับเอาไว้ ไม่นำไปใช้เด็ดขาด ลองทำกันดูรับรองว่าเมื่อถึงสิ้นปีนำเงินออกมานับต้องยิ้มแก้มปริกันอย่างแน่นอน
2. อย่ารีบซื้อตอนอยากได้
หากเดินดูของอยู่แล้วเกิดอยากได้ อย่าเพิ่งซื้อในทันที ลองปล่อยเวลาให้ผ่านไปสักพักก่อนค่อยตัดสินใจอีกครั้ง หากเรายังอยากได้อยู่ก็แปลว่าเราอาจต้องการมันจริง ๆ การทิ้งระยะเวลาเพื่อคิดและไตร่ตรองดูก่อนเป็นเทคนิคที่จะช่วยควบคุมการใช้จ่ายให้กับเรา เพราะความรู้สึกอยากได้จะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ และมักไม่สัมพันธ์กับความจำเป็น
3. อย่าใช้บัตรเครดิตเพลินจนเกินตัว
ก่อนใช้บัตรเครดิตควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน บัตรเครดิตนั้นใช้งานง่ายและไม่จำเป็นต้องมีเงินสดอยู่ในมือ จึงมานำมาซึ่งหนี้ในภายหลัง การใช้บัตรอย่างฉลาด ใช้เฉพาะเมื่อต้องซื้อสินค้าที่จำเป็นจะต้องซื้ออยู่แล้ว หรือใช้ชำระค่าใช้จ่ายประจำ เพราะบัตรเครดิตมีทั้งสิทธิพิเศษต่างๆ ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย และส่วนลดเงินคืน ดังนั้นวางแผนการใช้บัตรเครดิตให้ดี แล้วบัตรเครดิตจะให้ประโยชน์มากกว่าที่เราคิด
4. อย่าเพิ่งทิ้ง!
เมื่อข้าวของเครื่องใช้ที่เคยใช้อยู่ดีๆเกิดการเสียหาย ก่อนที่คุณจะโยนทิ้งไปอย่างไม่ใยดีนั้น ลองจะซ่อมแซมก่อนดีมั้ย การซ่อมแซมหรือซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนอาจช่วยประหยัดเงินซื้อของใหม่ได้มาก ดังนั้นทุกครั้งก่อนทิ้งของ ลองคิดดูก่อนว่าถึงเวลาต้องซื้อใหม่แล้วจริงหรือ
5. ใช้เงินสดบ้าง
เชื่อหรือไม่ว่าการใช้เงินในกระเป๋าเพื่อซื้อของนั้น สามารถลดอัตราการฟุ่มเฟือยของคุณได้ เพราะมันจะทำให้เราเห็นสภาพการเงินของเรา ว่ามีกำลังจับจ่ายแค่ไหน และแน่นอนว่าเราจะรู้สึกใจหาย หากต้องหยิบเงินก้อนใหญ่ออกมาใช้จ่าย หรือเห็นเงินสดในกระเป๋าลดลง ดังนั้นแทนที่จะชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต ลองพกเงินสดดู เป็นวิธียืดอายุเงินในกระเป๋าของเราได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว
5. อย่าดูถูกพลังของเหรียญบาท!
เหรียญที่คุณเคยดูถูกว่าไม่มีค่า หรือไม่สนใจที่จะเก็บเมื่อทำหล่นนั้น หากคุณเก็บรวบรวมไว้ นานเข้าก็กลายเป็นเงินก้อนได้เหมือนกัน อย่าลืมว่าเงินพันเงินหมื่นก็เริ่มต้นจากเงินแค่บาทเดียวเนี่ยล่ะ
6. อย่าลืมจดบันทึกรายรับรายจ่าย
ติดตามการใช้จ่ายอย่างถี่ถ้วน เพื่อลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ด้วยการจดบันทึกทุกอย่างลงไป ลองใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถบันทึกได้ทั้งรายรับและรายจ่าย หรือจะใช้วิธีจดเอาเลยก็ได้ วิธีนี้จะยิ่งดีเพราะจะทำให้คุณจำได้แม่นยำกว่าว่าใช้อะไรไปตอนไหน บัญชีรายรับรายจ่ายแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องทางการเงินเรา ใครจะรู้บางทีเราอาจเลิกกินกาแฟราคาแพง หรือลาขาดการช็อปปิ้งออนไลน์ของโปรดไปตลอดกาล เมื่อมาย้อนดูตัวเลขที่เราต้องเสียไปกับสิ่งเหล่านั้น
7. อย่าลืมจัดบ้าน
เพื่อเป็นการหาของที่ยังสามารถใช้งานได้ และสร้างความตื่นเต้นเมื่อพบของต่างๆที่เคยหลงลืมไป การจัดบ้าน จัดตู้เสือผ้าเอง นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานทำความสะอาดแล้ว ถ้าคุณเจอของที่ซื้อมาแล้วยังไม่เคยใช้ หรือนึกไม่ออกว่านำไปเก็บไว้ที่ไหน คุณจะมีความรู้สึกเหมือนเจอขุมทรัพย์เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมาเจียดเวลาว่างอย่างน้อยสักเดือนละครั้งเพื่อจัดเก็บข้าวของในบ้านกันเถอะ