วัยเด็ก เป็นวัยที่เรียนรู้ได้รวดเร็วและค่อนข้างแม่นยำ ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ปกครองจะค่อยๆปลูกฝังคุณสมบัติด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุนให้กับพวกเขา โดยใช้วิธีที่แนบเนียน เป็นกิจวัตรประจำวันให้เขาได้เรียนรู้ และปฏิบัติจนคุ้นเคย
เคล็ดลับสอนลูก ต่อไปนี้ เป็นแนวทางให้ผู้ปกครองได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบุตรหลานของท่าน อย่าลืมว่าพวกเขายังเยาว์วัย และไม่ปลาบปลื้มกับการถูกบังคับกะเกณฑ์ใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น คุณต้องสอนให้พวกเขาสนุก และเต็มใจที่จะร่วมมือทำไปพร้อมๆกันกับคุณ ไม่ใช่ทำตามคำสั่งด้วยการฝืนใจ
1. ก่อนอื่น คุณต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพวกเขา
คงไม่ได้ผล หากทุกวันนี้ คุณยังใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายต่อหน้าเขา คิดอยากซื้ออะไร ก็ไม่เคยไตร่ตรองไว้ก่อน ตัดสินใจซื้อโดยทันที แล้วชำระเงินผ่านช่องทางที่ง่ายๆและค่อนข้างสะดวกให้เขาเห็นอยู่เสมอ เช่น ชำระค่าสินค้าออนไลน์ผ่านธนาคารทางโทรศัพท์ ,รูดบัตรเครดิตทุกบิล แม้กระทั่งยอดวงเงินไม่ถึงร้อย เป็นต้น
ถ้าคุณทำตัวพอเพียง เขาก็จะเป็นตามคุณทุกประการ ดังนั้นจึงไม่เป็นการยาก ถ้าคุณจะปรับตัวเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เขา เช่น ชวนเขาปลูกผักสวนครัวไว้ภายในบ้าน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินพร่ำเพรื่อกับผักหรือเครื่องเทศที่ใช้อยู่เป็นประจำ สอนเขารีไซเคิลข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่นซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยตนเอง เพื่อฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ และรู้จักประหยัดในอนาคต
2. สร้างนิสัยการออมเงินอย่างเป็นธรรมชาติ
โดยเริ่มจากการจ่ายเงินให้เขาไปโรงเรียนเป็นรายสัปดาห์ หรือรายวัน และสอนให้เขาวางแผนการใช้เงินอย่างคร่าวๆ เช่น ค่าใช้จ่ายรายวัน วันละ 100 บาท เขาเดินทางไปกลับโดยรถรับส่งจากทางโรงเรียน ดังนั้นจึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หักค่าอาหารไป 50บาท ค่าขนมหรือน้ำหวาน 20 บาท คงเหลือ 30 บาท ควรนำมาหยอดกระปุกไว้เป็นจำนวนขั้นต่ำ วันไหนเก็บได้มาก ก็ออมมากตามลำดับ
ไม่ควรชี้แนะให้เขาเก็บออมด้วยน้ำเสียงขู่บังคับ แต่ทำอย่างไรก็ได้ ให้เขามองมันเป็นเกมที่สนุก เช่น หากมีเด็กมากกว่าหนึ่งคนในบ้าน ควรใช้สถานการณ์เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ต้องไม่เปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เขาหมดกำลังใจ เช่น ในวันที่รวบรวมเงินในกระปุกทั้งหมดไปฝากธนาคาร ถ้าคุณนับเงินของเด็กอีกคนหนึ่งได้มากกว่า ให้พูดเป็นเชิงชื่นชม และถามเคล็ดลับในการออมของเด็กคนนั้น ตัวอย่างเช่น “ โอ้โห น้องพลอยเก็บเงินได้เยอะจังเลยค่ะ นี่หนูเก็บวันละเท่าไรคะนี่ มาบอกเคล็ดลับกันหน่อยซิ” แล้วอย่าลืมหันไปชมเด็กอีกคนด้วยนะคะ ว่าเขาเองก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน เพียงเท่านี้เด็กสองคนก็จะเกิดการแข่งขันกันเองและเริ่มสนุกกับการออมเงินมากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
3. พาเขาไปช็อปปิ้งด้วยเสมอ เพื่อฝึกให้เขาทราบเรื่องต้นทุนและกำไร
การพาเขาไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้ากับคุณด้วย จะช่วยให้เขาได้รู้จักคุณสมบัติของสินค้าเมื่อเทียบกับราคาของสิ่งนั้นๆ ถือเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกฝังนิสัยนักลงทุนรุ่นจิ๋วให้กับพวกเขา โดยทางอ้อม ซึ่งคุณสามารถสอดแทรกความรู้ในด้านนั้นๆระหว่างที่เลือกซื้อสินค้าด้วยกันได้อย่างแนบเนียน
เช่น เปรียบเทียบสินค้าประเภทเดียวกันให้เขาช่วยตัดสินใจเลือกซื้อ เช่น น้ำยาล้างจานที่มีปริมาณเท่ากัน แต่อีกยี่ห้อหนึ่งถูกกว่า และมีข้อด้อยกว่าตรงที่ไม่เข้มข้นและต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า ในขณะที่อีกยี่ห้อหนึ่งแพงกว่ากันเพียงไม่กี่บาท แต่ไม่กี่หยดก็สามารถใช้ล้างจานได้ทั้งบ้านแล้ว เป็นต้น
เมื่อเขาช่วยเลือกแล้ว คุณก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขาด้วย หากสินค้าตัวนั้นประสิทธิภาพไม่ดีพอ คุณก็ค่อยๆตะล่อมบอกเขาอีกที โดยไม่ชี้ประเด็นความผิดพลาด เพื่อในการช็อปปิ้งครั้งต่อไป เขาจะได้เลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆได้อย่างถูกต้อง
4. สอนให้เขารู้จักประมาณในการใช้จ่าย
อย่าตามใจ เมื่อเขาอยากได้อะไรที่ไม่เข้าท่า และเมื่อได้มา ก็วางทิ้งไว้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง คุณควรตั้งเงื่อนไขที่เข้าใจง่ายให้แก่เขา และทำการตกลงร่วมกัน เช่น ถ้าเขาช่วยทำงานบ้านในสัปดาห์นี้ เขาจะมีสิทธิ์เลือกของเล่นที่เขาอยากได้ ได้ 1 ชิ้น แต่มีงบประมาณสูงสุดแค่จำนวนหนึ่ง เป็นต้น
การตั้งเงื่อนไข เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ เขาจะต้องแลกมาด้วยความสามารถ หรืออะไรสักอย่างที่เขามี เงื่อนไขเหล่านี้ จะช่วยให้เขารักษาสิ่งของชิ้นนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเกินกว่าที่คุณจะคาดคิด
อย่าพาเขาออกไปทานอาหารตามร้านบ่อยครั้ง เน้นทานมื้อหลักในบ้านพร้อมหน้าครอบครัว เพราะการทานอาหารตามร้านอาหารต่างๆเหล่านั้น จะทำให้เขารู้สึกว่า การใช้เงินเพื่อความบันเทิงนั้นง่ายนิดเดียว อยากทานอะไร ก็แค่เดินออกไปนั่งตามร้าน แล้วสั่งอาหาร โดยมีพนักงานคอยบริการอย่างสะดวกสบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงนิสัยการใช้เงินของเขาในอนาคตได้
5. เปิดบ้านช่วงปิดเทอม เพื่อสร้างเถ้าแก่น้อย
ช่วงปิดเทอม ควรเปิดบ้านรับเด็กๆที่เป็นเครือญาติมาพักอาศัยเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ลงขันเปิดร้านขายลูกชิ้นทอด โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้คอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
ก่อนอื่นจัดวางหน้าที่ตามอายุและความเหมาะสม เช่น เด็กเล็ก ช่วยกันผสมแป้ง และเตรียมภาชนะ,เด็กโตก็ช่วยกันเสียบลูกชิ้นเพื่อรอทอด และจัดโต๊ะ ,เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ช่วยกันควบคุมเรื่องเตา น้ำมัน และความร้อน หลังจากนั้น ก็ระดมกำลังมาเชียร์ขายร่วมกัน ตกเย็น ปิดร้าน ก็สอนพวกเขาหักเงินทุนสำหรับวันพรุ่งนี้และแบ่งผลกำไรในจำนวนเท่าๆกัน
วิธีเหล่านี้จะช่วยสร้างเด็กๆให้กลายเป็นนักลงทุนรายย่อยตั้งแต่อายุยังน้อย โดยที่พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ หรืออึดอัดใจที่จะทำ ขอเพียงผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี และพร้อมเสมอที่จะช่วยสอนเขาให้รู้จักการใช้เงิน และการลงทุนที่ถูกวิธี เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินต่อไปในอนาคต