ปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เติบโตขึ้นอย่างมาก บางคนก็นำคุณค่าของนวัตกรรมใหม่ ๆ มาต่อยอดมาพัฒนาให้เรา ๆ มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และในมุมตรงข้ามกันเหมือนเหรียญคนละด้าน คนบางกลุ่มก็เลือกที่จะย้อนศรเล่นแง่กับวิทยาการล้ำ ๆ สมัยใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย คุณ ๆ คงเคยได้ยินข่าวที่สื่อให้เห็นว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพดัดแปลงการพิมพ์ธนบัตรที่เรา ๆ ใช้เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนหรือจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการกันค่ะ อย่างที่เรา ๆ เข้าใจกันดีว่า ธนบัตรของแต่ละประเทศนั้น ไม่เพียงเป็นตัวแทนการซื้อขาย แต่ยังเป็นสิ่งพิมพ์ที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ ธนบัตรของประเทศไทยเราก็เช่นกัน ดังนั้นการที่เรารับธนบัตรมาถืออยู่ในมือสักใบ เราก็ต้องแยกแยะให้ออกด้วยว่าเป็นเงินจริง ๆ หรือ เป็น แบงก์ปลอม กันแน่ จะได้ช่วยกันจัดการกับพวกมิจฉาชีพนี้ไปด้วยกันค่ะ
เทคนิคง่าย ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำมาก็คือ ถ้าเรามีธนบัตรใบละ 1,000 บาทแบบไม่มีแถบฟอยล์อยู่ในมือนะคะ
- จุดสังเกตข้อที่ 1 ก็คือ ให้เราลองนำแบงก์พันขึ้นส่องกับแสงสว่าง ตรงพื้นที่ว่าง ๆ สีขาวนั้น เราจะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ชัดเจน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตรค่ะ และข้าง ๆ ก็จะมีรูปลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์กำกับอยู่ด้วยค่ะ
- จุดสังเกตข้อที่ 2 ก็คือ เมื่อคุณลองยกเอียงธนบัตรขึ้นลงนั้น ให้สังเกตส่วนที่เป็นตัวเลข 1000 ด้านบนมุมขวามือของคุณ เพราะตัวเลข 1000 ที่เห็นเป็นสีทองจะสลับเปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ค่ะ
- จุดสังเกตข้อที่ 3 ก็คือ ให้คุณใช้ปลายนิ้วสัมผัสลงไปที่คำว่า รัฐบาลไทย หรือ หนึ่งพันบาท ที่เป็นตัวอักษรนั้นตรงด้านซ้ายของธนบัตร คุณจะรู้สึกได้ถึงความสะดุดของหมึกพิมพ์ที่ปรากฏอยู่บนผิวกระดาษธนบัตรค่ะ
- จุดสังเกตข้อที่ 4 ก็คือ ลายรูปดอกบัวเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านหน้าของธนบัตรฝั่งซ้ายมือตรงมุมข้างล่างนั้น เมื่อส่องกระทบกับแสงไฟจะปรากฏว่าดอกบัวที่อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั้น แท้จริงแล้วซ้อนทับกันเป็นรูปดอกบัวที่สมบูรณ์ค่ะ
- จุดสังเกตข้อที่ 5 บนแถบทึบแสงทรงเหลี่ยมที่อยู่มุมด้านล่างของธนบัตร ข้าง ๆ กับตัวเลข ๑๐๐๐ นั้น ถ้าคุณ ๆ ลองเอียงธนบัตรเข้าไปกระทบกับแสงสว่าง และค่อย ๆ มองจากมุมล่างซ้ายเข้าไปหาตัวธนบัตร ก็จะพบว่ามีตัวเลข 1000 เป็นตัวเลขอารบิกพิมพ์ซ้อนอยู่ด้วยค่ะ
- จุดสังเกตข้อที่ 6 ให้สังเกตที่แถบเส้นเล็ก ๆ คล้ายวางแนวตั้งบนด้านหน้าของธนบัตรฝั่งซ้ายมือ เมื่อคุณ ๆ นำยกขึ้นส่องกับแสงสว่างก็จะเห็นว่าบนแถบเล็ก ๆ นั้นมีตัวเลขขนาดเล็กจิ๋วพิมพ์ฝังลงไปบนเนื้อกระดาษเพื่อบอกชนิดราคาของธนบัตรนั้น ๆ เอาไว้ด้วยค่ะ หรือถ้าคุณ ๆ ใช้เครื่องที่มีแสงแบล็กไลท์มาทดสอบดูก็จะเห็นว่า มีเส้นใยเรืองแสงเป็นสีแดง, สีเหลือง และ สีน้ำเงินเกิดขึ้นบนเนื้อกระดาษค่ะ นอกจากนั้น ถ้าคุณลงมองดูดี ๆ ก็จะพบว่า หมวดอักษรและเลขหมายนั้น ก็เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีส้มเรืองแสงด้วยเช่นกันค่ะ และยังมีตรงที่เป็นลายประดิษฐ์ทรงกลม ๆ ด้านหน้าธนบัตรที่เป็นสีเหลือง ๆ นั้น ลายเส้นรัศมีช่วงตรงกลางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสะท้อนแสงด้วยค่ะ
แต่ถ้าเป็นธนบัตรราคา 1000 บาทแบบที่มีแถบฟอยล์นั้น นอกจากจุดสังเกต 3 จุดแรกคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ต้องชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง, ตัวเลขเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียวได้ และตัวอักษรที่ผิวสัมผัสนั้นรู้สึกสะดุดได้ล้วนแต่เป็นจุดสังเกตที่เหมือนกันแล้ว สิ่งที่คุณต้องดูเพิ่มเติมก็คือ แถบฟอยล์สีเงินที่เป็นรูปพระครุฑพ่าห์ลักษณะเป็นเนื้อเดียวกลืนไปกับธนบัตรนั้น คุณจะมองเห็นเป็นหลาย ๆ สีและมีหลาย ๆ มิติ เมื่อเวลาที่คุณได้ลองพลิกหรือเอียงธนบัตรไป ๆ มา ๆ ค่ะ และในส่วนจุดสังเกตที่เกี่ยวกับตัวเลขอารบิก 1000 กับ ตัวเลขขนาดเล็กจิ๋วบนแถบโลหะที่ใช้เพื่อบอกราคาของธนบัตรชนิดนั้น ๆ ก็ยังจะต้องปรากฏให้เห็นอยู่เช่นเดียวกันด้วยนะคะ
ส่วนถ้าเป็นแบงก์ 500 บาทนั้น ตัวเลข 500 บนธนบัตรถ้าเรายกเอียงขึ้นก็จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วง, ในส่วนที่เป็นแถบฟอยล์สีเงิน ๆ ก็จะมีตราอักษรพระปรมาภิไธย “ภ.ป.ร.” และตัวเลข ๕๐๐ พิมพ์เป็นเนื้อเดียวกับกระดาษ ถ้าหากเราลองพลิกไปมาก็จะมองเห็นเป็นหลาย ๆ สี หลากมิติ, ตรงมุมล่างของธนบัตรที่เป็นแถบทึบนั้น ก็จะปรากฏตัวเลขอารบิก 500 ขึ้นมาแทนเวลาที่เราเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง ๆ ค่ะ และ เวลาที่ยกแบงก์ห้าร้อยขึ้นส่องกับแสงสว่างนั้น แถบสีโลหะเล็ก ๆ ด้านข้างก็จะมีตัวเลขขนาดเล็กจิ๋วแจ้งชนิดราคาของธนบัตรอยู่เช่นกันค่ะ หรือถ้าคุณ ๆ ใช้เครื่องที่มีแสงแบล็กไลท์มาทดสอบดูก็จะเห็นเส้นใยเรืองแสงในลักษณะเดียวกันกับเวลาที่คุณส่องบนธนบัตร 1000 บาทนั่นแหละค่ะ จะต่างกันนิดหน่อยก็ตรงที่บริเวณลายพื้นตอนกลางของแบงก์ 500 นั้น จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเรืองแสงค่ะ ไม่ใช่สีเหลืองเหมือนในแบงก์พันนะคะ