เวลาที่เห็นเด็กใหม่เพิ่งเรียนจบเดินหน้าหางานทำ และพอได้รับเงินเดือนก้อนแรกก็พากันดีอกดีใจ ต่อด้วยยกขบวนไปหาที่ฉลองดื่มกินกับเพื่อน ๆ นั้น ก็ได้แต่สะกิดแขนเตือน ๆ ว่า เงินที่หากันมาได้นั้น น้อง ๆ ได้แบ่งออกไว้เป็นเงินออมก่อนนำมาใช้จ่ายบ้างหรือเปล่า แล้วก็หลายต่อหลายครั้งเสียงน้อง ๆ ไฟแรงก็จะตอบกลับมาว่า
“โธ่พี่… เพิ่งเริ่มทำงานเองนะ ขอสนุกและเต็มที่กับชีวิตก่อนสิคะ” หรือ บ้างก็บอก
“จะรีบไปไหนกันพี่ ไว้ใกล้เกษียณก่อนค่อย ๆ เก็บก็ได้ ช่วงนี้ต้องใช้ชีวิตให้มันคุ้ม ๆ ก่อนสิ” หรือก็มีอีกบางคนที่ตอบว่า
“รอให้ผ่านช่วงทดลองงานก่อนค่อยว่ากันดีมั๊ยเรื่องเงินออมอ่ะ พี่”
ซึ่งหนู ๆ น้อง ๆ หนุ่มสาวทั้งหลาย โปรดจงรู้ไว้เถิดว่า ถ้าคุณๆ ไม่ ออมเงิน กันไว้แต่เนิ่น ๆ ก็จะมีชีวิตไม่ต่างจากมนุษย์เงินเดือนก่อนหน้านี้คือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานยังไง ขยันมากแค่ไหนก็ไม่มีเงินเก็บสักที เหมือน
อย่างที่คนรวย ๆ เขาแนะนำกันไว้ว่า ให้เราคิดแตกต่างคือ หาเงินมาได้เท่าไร นำไปออมก่อนเป็นเรื่องแรก จากนั้นเงินที่เหลือจึงเป็นเงินที่เอาไว้ใช้จ่าย เพราะเราอย่าได้ดูถูกความต้องการของคนเราเวลามีเงินอยู่ในมือ ของสิบอย่างเต็มสิบมือก็ยังซื้อเพิ่มได้อีก ถ้ามีเงินติดกระเป๋าค่ะ
ถ้าคุณน้องทั้งหลายเพิ่งเริ่มออกมาหางานทำ กำลังอยู่ในก้าวแรกของการเลี้ยงดูตัวเอง ขอแนะนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ให้คุณน้องสักหน่อยนะคะ
เริ่มจาก การต่อรองรายได้
หรือ เงินเดือนครั้งแรกของน้อง ๆ ค่ะ หลายต่อหลายครั้งเรามักจะเห็นน้อง ๆ ไฟแรงอยากได้งาน อยากผ่านการสัมภาษณ์จนอาจจะลืมนึกไปว่า เงินเดือนแรกของน้อง ๆ ก็คือจุดสตาร์ทของฐานเงินเดือนในอนาคตด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่สุภาพอะไรเลย ถ้าน้อง ๆ อยากจะเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้อัตราเงินเดือนที่ต้องการ ซึ่งก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสวัสดิการต่าง ๆ และ ขีดความสามารถของตนเองประกอบไปด้วยนะคะ สิ่งหนึ่งที่น้อง ๆ ควรตระหนักไว้สักหน่อยก็คือ ทุกบริษัทฯมีการปรับฐานเงินเดือนให้กับพนักงาน แต่ก็อย่าคาดหวังว่าการปรับเงินเดือนทุกปีนั้นจะขึ้นเป็นหลักหมื่นหลักพัน เพราะโดยมากก็จะคำนวณจากศักยภาพของพนักงาน ผลประกอบการของบริษัทฯ และ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคิดเฉลี่ยคร่าว ๆ ก็ไม่ค่อยจะเกิน 3 – 4 % ค่ะ
เทคนิคข้อที่ 2
สำหรับหนุ่มสาวหัดบินที่ปีกยังไม่แข็งแรงพอก็คือ ทำรังแต่พอตัว ค่ะ เป็นธรรมดาของผู้ที่เริ่มมีเงินได้เป็นของตนเองแล้วก็อยากจะให้รางวัลกับตัวเองบ้าง หรือ ใช้จ่ายเงินของตนเองไปกับสิ่งที่ชอบที่อยากได้มาตั้งนานแล้ว แต่สิ่งที่น้อง ๆ ควรรู้ไว้เตือนสติก็คือ หากเราทุ่มเงินที่หามาได้ไปลงกับของฟุ่มเฟือยบางอย่าง เช่น พวกรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า โทรศัพท์ หรือ รถยนต์คันใหม่สักคัน โดยที่ข้าวของเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้น้อง ๆ มีรายได้เสริมอะไรเพิ่มขึ้นเลย ตรงกันข้ามสิ่งของเหล่านั้นยังทำให้น้อง ๆ ต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก อย่างเช่น รถยนต์สักคัน น้อง ๆ ก็ต้องจ่ายค่าประกันรถยนต์ทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นการจ่ายประกันแบบจ่ายทิ้งค่ะ ไม่ได้เงินสะสมอะไรคืนกลับมา แต่ไม่มีก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอีกต่างหาก แล้วยังมีค่าใช้จ่ายบำรุงเครื่องยนต์ ตรวจเช็คสภาพตามระยะทางการใช้งาน เปลี่ยนยางรถยนต์ เปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ ค่าล้างและเคลือบสีรถยนต์ และ ค่าน้ำมัน ถ้าน้องจะซื้อรถสักคันเพื่อใช้ขับอวดสาว หรือ ซื้อเพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น ก็ลองตอบคำถามตัวเองก่อนว่า มีประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิตของตนเองสักฉบับหรือยัง มีเงินสำรองสำหรับตรวจสุขภาพประจำปีของตัวเอง หรือ คนในครอบครัวหรือยังคะ แต่ในทางกลับกัน ถ้ารถยนต์คันนั้นจะซื้อมาเพราะจะได้ทำงานขาย เพิ่มยอดการขาย ส่งเสริมงานของตัวเองได้ หรือ นำมาใช้เป็นรถแท็กซี่ในวันหยุดเพื่อหารายได้เสริม ก็จัดเป็นอีกกรณีหนึ่งนะคะ ถ้าไม่อยากวิ่งหาเงินทั้งปีแต่ไม่มีเงินเหลือเก็บเลย เราก็ต้องวางแผนการเงินและเคร่งครัดกับการใช้จ่ายของเราเองด้วยนะคะ
เทคนิคข้อ 3
อย่าหลงทางเพราะบัตรเครดิต การดึงเงินในอนาคตมาใช้จ่ายเพื่อความสุขในปัจจุบัน จะทำให้คุณน้องต้องมานั่งปวดหัวกับหนี้สินได้ง่าย ๆ ค่ะ หากน้องจะใช้บัตรเครดิตก็ต้องหมั่นบันทึกและจดเอาไว้ว่าเดือนนี้อะไรไปแล้วบ้างค่ะ ตั้งวงจำกัดไว้เลยว่าในแต่ละเดือนเราสามารถใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเท่าไร จะได้ไม่ค้างชำระแล้วกลายเป็นหนี้ทับเราตั้งแต่เริ่มบินค่ะ เพราะถ้าคุณเริ่มชำระไม่เต็มจำนวน หรือ ชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนด หรือ บางคนก็หนีไม่รับสายธนาคารไปซะเลยหล่ะก็ คุณกำลังทำร้ายอนาคตทางการเงินของตัวเองค่ะ แล้วเมื่อถึงเวลาที่คุณจะซื้อบ้าน คอนโด หรือ รถสักคันก็จะขอเครดิตวงเงิน หรือ สร้างความน่าเชื่อถือจากผู้ให้กู้ หรือ แหล่งธนาคารต่าง ๆ ไม่ได้อีกต่อไปค่ะ
เคยได้ยินที่คนรวยหลาย ๆ คนเขาให้สัมภาษณ์บ้างหรือเปล่าคะ เขาสอนว่าเวลาที่เงินเดือนออก หรือ มีรายได้เข้ามาไม่ว่าจากทางไหน ๆ เขาจะเลือกแบ่งเงินไปออมในธนาคารก่อน จากนั้นก็กันอีกส่วนออกไปชำระหนี้ ส่วนที่เหลือคือค่าใช้จ่ายค่ะ ต่างจากเรา ๆ หรือเปล่า ที่มักจะเลือกใช้จ่ายเงินก่อน ถ้ามีเหลือค่อยนำไปออม ดังนั้น น้อง ๆ วัยเริ่มทำงานก็คิดใหม่วางแผนการเงินกันให้ดี ๆ นะคะ จะได้มีเงินเหลือไว้เป็นหลักชีวิตตอนเกษียณค่ะ