ตั้งแต่สมัยที่คุณ ๆ เรา ๆ เป็นเด็กตัวเล็ก หนึ่งในของขวัญที่คุณป้าคุณน้าคุณอา และ รางวัลจับฉลากต่าง ๆ มักขนมาไว้เป็นตัวเลือกก็คงไม่พ้นกระปุกออมสิน และโฆษณาที่เราได้เห็นทางโทรทัศน์ก็คือเด็กตัวเล็ก ๆ เดินอุ้มกระปุกออมสินหน้าตาน่ารักเข้าไปที่ธนาคารเพื่อทำการฝากเงินออมครั้งแรกในชีวิต แล้วพี่ ๆ พนักงานก็จะยิ้มต้อนรับเด็กน้อยนักออมคนนั้นค่ะ
แต่ปัจจุบันนี้ ถ้าหากคุณ ๆ ที่มีนิสัยการออมเงินเหรียญหยอดเก็บไว้ทุก ๆ วัน ทีละนิดทีละน้อย พอเวลาล่วงมาถึงสิ้นปีก็อยากจะนำเหรียญที่เก็บหอมรอบริบมาตลอดนั้นไปแลกเป็นแบงค์เพื่อจะได้พกใส่กระเป๋าสตางค์ได้สะดวกมากขึ้น แต่เมื่อไปติดต่อแลกกับทางธนาคารกลับได้รับคำปฏิเสธจากทางธนาคารซะอย่างนั้น บางคนก็หงายเงิบกันไปตาม ๆ กัน ระคนไม่เข้าใจว่าเหรียญพวกนี้จะกี่บาทก็คือเงินเหมือนกันนะ ทำไมธนาคารถึงไม่ยอมรับแลกให้หล่ะค่ะ
ถ้าจะว่ากันตามตรง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ 25 สตางค์, 50 สตางค์, 1 บาท, 2 บาท, 5 บาท หรือ เหรียญ 10 บาท ที่เป็นเงินเหรียญสำหรับใช้จ่ายในปัจจุบันนั้น เราก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรได้ทั้งหมดค่ะ จะไปแลกที่ธนาคารของรัฐ หรือ ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็ได้ แต่บางธนาคารเขาก็มีนโยบายชัดเจนว่าไม่รับแลกเหรียญค่ะ เช่น ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทิสโก้ และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ค่ะ ส่วนบางธนาคารก็มีนโยบายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการตามจำนวนเหรียญที่นำมาแลก อย่างเช่น ถ้าจำนวนเหรียญที่นำมาแลกมากกว่า 100 เหรียญขึ้นไปคิดค่าบริการร้อยละ 2 บาทค่ะ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่คิดอัตราค่าบริการนี้ก็มีทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารทหารไทยค่ะ ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์นั้น คิดค่าธรรมเนียมบริการอยู่ที่จำนวนเหรียญที่นำมาแลกมากกว่า 100 เหรียญขึ้นไปคิดค่าบริการร้อยละ 3 บาทค่ะ หรือบางแห่งก็คิดค่าธรรมเนียมบริการที่ร้อยละ 2 บาทไม่ว่าคุณ ๆ จะนำเหรียญมาแลกกี่เหรียญก็ตามค่ะ แต่คุณ ๆ ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปค่ะ เพราะก็ยังมีธนาคารบางแห่งที่คิดค่าบริการลดต่ำลงมานิดหน่อย อย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ก็จะคิดค่าธรรมเนียมบริการอยู่ที่จำนวนเหรียญ 200 เหรียญขึ้นไปคิดค่าบริการร้อยละ 2 บาท แต่มีอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 20 บาทนะคะ หรือบางแห่งก็คิดอัตราบริการอยู่ที่ร้อยละ 2 บาทสำหรับจำนวนเงิน 2,000 บาทขึ้นไปค่ะ ซึ่งอัตรานี้ก็มีธนาคารธนชาต และ ธนาคารไทยเครดิตค่ะ
ส่วน สาเหตุที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ และ ธนาคารของรัฐต่างพากันคิดค่าบริการแลกเหรียญนั้นก็เพราะว่าลูกค้าบางท่านนำเงินเหรียญเข้ามาขอแลกในช่วงเวลาที่เร่งรีบ คือ ระหว่างพักเที่ยง, ช่วงเย็นหลังเลิกงาน หรือ ไม่ก็ช่วงสิ้นเดือน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ธนาคารจะไม่ค่อยมีเวลามากนัก เพราะปริมาณลูกค้าจำนวนมาก ก็เลยมีความจำเป็นต้องขอปฏิเสธการรับแลกเงิน ค่ะ หรือไม่ก็ธนาคารที่ลูกค้าเข้าไปใช้บริการแลกเงินเหรียญนั้น เป็นสาขาย่อยหรือสาขาขนาดเล็กที่ไม่มีตู้นิรภัยสำหรับเก็บเหรียญ นั่นก็อีกความจำเป็นที่ต้องปฏิเสธคุณลูกค้าอย่างเรา ๆ ค่ะ และในบางสาขาธนาคารนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารเองกมีจำนวนจำกัด ยิ่งช่วงที่มีจำนวนลูกค้ามาก ๆ แล้วต้องมารอคิวทำธุรกรรมนาน ๆ ทางธนาคารก็ลำบากใจที่จะให้บริการแลกเหรียญค่ะ แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันที่ลูกค้าบางรายนำเงินเหรียญที่นับเรียบร้อยดีแล้วใส่ถุงเขียนหน้าถุงเป็นยอดเงิน แล้วแจ้งกลับทางธนาคารว่านับมาแล้ว ไม่เสียเวลาไม่ต้องนับใหม่ ซึ่ง ณ จุดนี้ อย่างไรก็ตามทางธนาคารก็ต้องนับซ้ำอีกครั้งก่อนค่ะ เหมือนตอนที่เรานำธนบัตรไปฝากเงินกับเขา ทางธนาคารก็ต้องนับใหม่และให้เราดูไปพร้อม ๆ กันตรงหน้าเรา ๆ นี่แหละค่ะ ไม่อย่างนั้น อาจจะเจอกับปัญหาว่าเงินไม่ครบ, เงินขาด หรือ เงินปลอมก็ได้ค่ะ บางครั้งเราก็ต้องนึกถึงใจเขาใจเราด้วยนะคะ
แล้วทีนี้ ถ้าคุณ ๆ มีเหรียญอยู่ตั้งเยอะจะนำไปแลกที่ไหนดี ขอแนะนำไว้ตรงนี้เลยค่ะ ว่าอัฐยายซื้อขนมยายดีที่สุด อยากแลกเหรียญไม่ต้องเสียค่าบริการ ก็ต้องนำไปแลกกับคนที่ต้องการใช้ ให้ Supply สอดคล้องกับ Demand สักหน่อยสิค่ะ จุดที่คุณ ๆ สามารถนำเหรียญไปแลกได้แบบกันเอง ก็คือ ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ค่ะ เดินเข้าไปถามเขาได้เลยไม่ว่าจะเป็น เซเว่นอีเลฟเว่น, เทสโก้เอ็กซ์เพรส หรือ ร้านมินิมาร์ทต่าง ๆ ไปถามหาหัวหน้าแคชเชียร์ที่ประจำร้านก็ได้ค่ะ เพราะร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เหรียญทอนให้ลูกค้า ไม่ว่าจะ เหรียญบาท หรือ เหรียญสลึง ก็มีประโยชน์กับเขาทั้งนั้น เขาจึงต้องการเหรียญจำนวนมาก ๆ อยู่แล้วค่ะ แล้วถ้าคุณ ๆ อยากจะอำนวยความสะดวกในการรับแลก และเพิ่มความรวดเร็วให้กับทั้งคุณและเขา ทั้งสองฝ่ายคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ก็อาจจะมัดเหรียญไปเป็นกำ ๆ ไปซะเลย อย่างเช่นว่า แต่ละมัดคือเงินจำนวนเท่ากับ 50 บาท ก็ได้ค่ะ ต่อไปนี้ เรื่องเหรียญไม่ใช่เรื่องยุ่งยากกันแล้วนะคะ