หากคุณก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ร่าเริง บันเทิงใจสุด ๆ ช่วงต้นเดือน ใครชวนกินอะไรไป ใครชวนช้อปที่ไหนก็เฮกับเขา ใครแนะนำที่เที่ยวใหม่ ๆ ก็ต้องไปจัดไปดูให้เห็น ของอะไรที่ออกใหม่ ของอะไรที่อยากได้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว มาเวลานี้ ณ จุดนี้ เงินเดือนออกแล้วก็ต้องสอยลงมาเป็นของเราในทันใด แต่ว่าความสุขจากการเอ็นเตอร์เทนตัวเองนั้นจะคงอยู่ได้แค่ช่วงต้นเดือนนะคะ พอเข้าสัปดาห์ที่ 3 สลิปบัตรเครดิตมาส่ง เงินในกระเป๋าที่เคยมีแต่แบงค์พันเป็นปึก ๆ ก็เหลือแต่ธนบัตรสีแดงไม่กี่ใบ ได้เวลาเพื่อนซี้คู่ครัวอย่างบะหมี่สำเร็จรูป และ ไข่ต้ม อีกแล้วสินะคะ
และแม้ว่าคุณจะตั้งใจกับตัวเองว่า เดือนหน้าจะไม่ใช้จ่ายแบบนี้ แต่สุดท้ายก็ลงเอยแบบนี้ไปทุกทีค่ะ ถ้าไม่อยากให้วงจรชีวิตหมุนวนซ้ำเดิมไปอย่างนี้เรื่อย ๆ คุณได้เวลา แบ่งเงิน จัดระเบียบวินัยการเงิน ให้ตัวเองแล้วนะคะ ต้องตั้งสติและปฏิญาณกับตัวเองว่า เงินก้อนไหนจะนำไปออมก็ต้องไม่เบิกมาใช้เด็ดขาด, เงินก้อนไหนจะนำไปชำระหนี้ก็ต้องไปจ่ายให้ตรงตามดิว และ เงินที่เหลือคือเงินที่เราจะไว้ใช้จ่ายในปัจจุบันค่ะ บางครั้งพูดก็ง่ายแต่จะทำมันยากจริงอะไรจริง ถ้าอย่างนั้นลองเลือกวิธีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวคุณดูสิค่ะ
วิธีที่ 1 ระบบอัตโนมัตินี่สิ สไตล์เรา
ก็คือ ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและความรวดเร็วอัตโนมัติช่วยโอนเงินของคุณออกไปจ่ายหนี้ต่าง ๆ ตามที่คุณแจ้งไว้กับทางธนาคาร ทำให้คุณประหยัดเวลาไม่ต้องไปยืนต่อแถว ไม่ต้องขับรถออกไปหาที่จอด และ มั่นใจได้ว่าจ่ายเงินจตรงเวลาแน่นอนค่ะ ซึ่งถ้าใครสนใจและคิดจะใช้วิธีนี้หล่ะก็ อย่าลืมแบ่งเงินได้ของคุณออกเป็น 3 ส่วนก่อนนะคะ
- ก้อนที่ 1 นั้น ยกให้โอนออกเป็นเงินออมค่ะ คุณสามารถเปิดบัญชีฝากประจำ หรือ จะเลือกเป็นกองทุนรวมก็ได้ค่ะ
- ส่วนก้อนที่ 2 ก็โอนหักบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ทั้งค่าผ่อนบ้าน, ค่าผ่อนรถ, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และ ค่าโทรศัพท์ ก็ใช้ตัดผ่านบัญชีให้เรียบร้อย แต่คุณก็ต้องเช็ครายละเอียดที่เรียกเก็บแต่เนิ่น ๆ ด้วยนะ ถ้าไม่ชัดเจน หรือ ไม่ถูกต้องจะได้แก้ไขได้ทันค่ะ
- ส่วนเงินก้อนที่ 3 นั้น ก็คือ ส่วนที่เหลือที่คุณสามารถนำมาใช้ได้จริง ๆ ในแต่ละวัน ทำอย่างนี้คุณก็จะรู้ว่าเงินเดือนที่ออกมาในแต่ละเดือนนั้น คุณใช้จ่ายได้กี่บาทต่อวัน ถ้าคุณอยากไปกินอะไรพิเศษ ๆ ก็ต้องตัดใจไม่ซื้อของบางอย่าง หรือ ถ้าวันนี้ทานนอกบ้าน ก็ต้องทำอาหารกินเองไปอีกสัปดาห์หนึ่ง หรือ ต้องยอมยกเลิกนัดดื่มกับเพื่อนบางกลุ่มไปบ้าง คุณก็จะได้มีเงินออมกับเขาบ้างค่ะ
สัดส่วนการแบ่งกลุ่มเงินของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายของแต่ละบ้านค่ะ สำหรับคนที่มีรายจ่ายน้อยก็อาจจะออมได้มากถึง 30% แต่ถ้าใครมีรายจ่ายมากสักหน่อย ให้กำลังใจตัวเองด้วยการออมขั้นต่ำ 10% ทุกเดือนก็ดีนะคะ
วิธีที่ 2 สร้างภาพสิ่งที่ต้องการให้ชัด จำกัดวงเงินที่จะใช้ในแต่ละวัน
สมมุติว่าคุณมีความตั้งใจอยากจะเปิดร้านกาแฟ คุณก็ต้องออมเงินและขณะเดียวกันก็ต้องคุมเรื่องค่าใช้จ่ายให้ดี ๆ ค่ะ พอได้รับเงินเดือนเข้ามาปุ๊บก็แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายของแต่ละเดือนทันที ทั้งค่าที่พัก, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และ ที่สำคัญต้องไม่ลืมหักเป็นเงินออมสำหรับร้านกาแฟที่ต้องการด้วยค่ะ เงินที่เหลือจากการใช้จ่าย และ การออมก็ให้กำหนดเน้น ๆ ว่าจะใช้จ่ายเพียงวันละ 200 บาท จากนั้นก็อาจจะแลกเป็นแบงค์ร้อยแยกเป็นถุง ๆ ชัดเจนสำหรับใช้แต่ละวัน
วิธีนี้จะช่วยสะกดจิตของคุณให้จ่ายเงินในวงที่ต้องการเท่านั้น เหมาะมาก ๆ สำหรับสาว ๆ ที่ทำงานในย่านช้อปปิ้ง ใกล้แหล่งดูดเงินอย่างแถวสยาม, สีลม หรือ รัชดา ค่ะ ถ้าคุณทำได้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ วัน รับรองเลยว่าความฝันที่จะเป็นเจ้าของร้านกาแฟสักร้าน ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ
วิธีที่ 3 ก็คือ กำหนดค่าใช้จ่ายต่อวันเท่าเดิม
สำหรับคุณ ๆ ที่ทำงานออฟฟิส ช่วงต้นปี หรือ ช่วงปรับเปลี่ยนตำแหน่งก็จะตามมาด้วยเงินเดือน หรือ ค่าเบี้ยเลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งสำหรับบางคนที่เปลี่ยนงานก็จะได้ปรับฐานสูงขึ้นมากเข้าไปอีก ทำให้รายรับโตขึ้นจนหน้าบานไปตาม ๆ กัน แต่สิ่งที่หนุ่ม ๆ สาว ๆ ต้องเตือนตัวเองก็คือ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายความว่า คุณจะใช้จ่ายได้มากขึ้นนะคะ
ถ้าคุณอยากรวย อยากมีเงินเป็นกอบเป็นกำ วางแผนการเงินโดยนำเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ไปอยู่ในส่วนของการออมค่ะ นั่นก็คือ กองสัดส่วนเงินออมที่เพิ่มโตขึ้น แต่รักษาส่วนที่เป็นรายจ่ายต่อวันให้ได้เท่าเดิมค่ะ
ถ้าเรายิ่งหามามากก็ใช้ยิ่งมากขึ้น ทำแบบนี้เงินก็ไม่เหลือแน่ ๆ ค่ะ แล้วที่สำคัญอีกอย่างให้เราหมั่นทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุก ๆ วัน ทุก ๆ เดือน เราก็จะรู้ว่าเงินที่หามานั้น หมดไปกับอะไรเป็นส่วนใหญ่ แล้วสิ่งนั้นจำเป็นหรือเปล่า ควรจำกัดมันอย่างไร ถ้า แบ่งเงิน ได้ตามนี้ ไม่ว่าวิธีไหนก็ตาม รับรองว่าจะได้รวยสมใจแน่ ๆ ค่ะ