ประสบการณ์การ ใช้เงินเดือน ชนเดือนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สำหรับคนที่มีแนวคิดการจัดการเงินที่ดีก็ไม่น่าจะเกิดปัญหานี้ได้ เพราะใช้เงินอย่างเป็นระบบโดยการจัดสรรที่ดี แต่สำหรับบางคนแล้วกลับรู้สึกว่าทำไมต้องเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่เรื่อยไปจนสงสัยตัวเองว่าเป็นเพราะดวงด้านการเงิน โอกาส หรือจังหวะชีวิตผิดพลาดไปกันแน่ เรื่องจัดการเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น ความจริงแล้วก็มีเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ได้จริงอยู่ ซึ่งถ้าลองนำไปปรับใช้กับพฤติกรรมการจับจ่ายแล้ว น่าจะแก้ปัญหาการใช้จ่ายเงินแบบเดือนชนเดือนได้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าคนเรามีสัญชาติญาณของการเก็บเกี่ยวสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น ทานอาหารให้หมดจาน ดื่มน้ำให้หมดแก้ว พนักงานให้เงินทอนมาแม้มีเหรียญก็เก็บเรียบ (ยกเว้นคนมีใจให้ทิป) หรือหลาย ๆ คนคงมีประสบการณ์อ้วนเพราะซื้อขนมเข้าบ้านเท่าไหร่ก็กินหมดซะทุกครั้ง เรื่องเงินก็ไม่แตกต่างกัน คนเรามักใช้เงินได้พอดิบพอดีกับเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า มีโครงการมาให้จับจ่ายอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งถ้าอยู่ในสังคมเมืองหลวงที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงานก็จะพบสิ่งที่ล่อตาล่อใจให้เงินออกจากกระเป๋าได้ไม่ยาก
การแก้ปัญหาการใช้เงินเดือนชนเดือนให้ได้ผลนั้นต้องเริ่มต้นจากทัศนคติก่อน จากการยอมรับว่าปัญหานั้นไม่ได้เกิดจากดวง จากโชคลาภตามราศีเกิดใดใด แต่เกิดจากพฤติกรรมการจับจ่ายของตนเองที่ไม่ได้วางแผนจัดสรรเงินอย่างเป็นระบบ เมื่อยอมรับถึงปัญหาแล้วต่อไปก็ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม เมื่อมีความมุ่งมั่นแล้วก็สามารถเริ่มลงมือทำได้โดยมีแนวทางที่แนะนำคือ
การเก็บออมเงินก่อนทุกครั้งร้อยละสิบของรายได้ทุกก้อน
ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากการทำงานเป็นรายเดือน รายวัน จากการขายของหรืองานบริการ ขอให้นำเงิน 10% แรกจากรายได้ก้อนนั้นฝากเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์ทันที ที่ว่าเป็น 10% แรก หมายถึงกองแรกจริง ๆ อย่าให้เป็นกองที่สอง เพื่อเป็นการฝึกนิสัยการจัดลำดับความสำคัญ เทคนิคนี้ถูกแนะนำโดยกูรูด้านการเงินหลายท่านว่าทำแล้วได้ผลจริง เพราะเป็นการแก้ปัญหาทางจิตวิทยาแบบยิงนัดเดียวได้ผลสองเรื่อง ประการแรก คุณจะเริ่มอยากออมเงินและกลายเป็นนิสัยติดตัว ข้อสองคือคุณจะไม่เห็นเงินก้อนนี้ในกระเป๋าของคุณ ทำให้เงินส่วนนี้ปลอดภัยจากการถูกใช้ ไม่ต้องห่วงว่าคุณจะมีเงินไม่พอใช้ เพราะจากเงินที่เหลืออยู่นั้นสมองของคุณจะปรับตัวจัดการใช้จ่ายได้พอดีโดยอัตโนมัติ และถ้ายิ่งดีกว่านั้นหากยังมีเงินเหลือแสดงว่าคุณกำลังจะหายขาดจากการใช้เงินเดือนชนเดือนแล้ว
จดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกรายการ
หรือที่รัฐบาลรณรงค์ให้จดบัญชีครัวเรือนนั่นเอง หลายคนอาจจะมองไม่เห็นความสำคัญ และเชื่อเพียงว่าก็ใช้ ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วสิ้นเดือนก็มีเงินเดือนมาใหม่ แต่แท้จริงแล้วการจดบันทึกจะมีประโยชน์มากเพื่อการประเมินทบทวนวิธีการใช้เงินของตนเอง คนเราค่อนข้างอ่อนไหวกับตัวเลข เมื่อเห็นรายจ่ายหมวดต่าง ๆ มากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยเดือนก่อน ๆ ก็จะเริ่มตระหนักและหาทางปรับปรุงการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะคนเราไม่มีทางที่จะจำได้เลยว่าใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้างในแต่ละวัน บางครั้งจึงเกิดอาการใช้เงินเพลิน ถ้าไม่บันทึกเอาไว้ก็มักมาสงสัยภายหลังว่า เงินหายไปไหนราวกับล่องหน รายจ่ายวันละเล็กน้อยเหมือนถังน้ำรั่วที่น้ำค่อย ๆ ไหลออกไปจนหมดโดยไม่รู้ตัว ระหว่างการจดบันทึกก็สามารถเห็นข้อมูลและผลรวมวันต่อวัน ทำให้ยิ่งระวังการจับจ่ายโดยอัตโนมัติ การจดบันทึกยังมีข้อดีที่คุณสามารถเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ ในแต่ละเดือนทั้งปีเพื่อเปรียบเทียบกันได้ด้วย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ หากสามารถแสดงให้สมาชิกครอบครัวได้รับรู้ด้วยก็ยิ่งเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมและช่วยกันประหยัดและลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลง ปัจจุบันคุณสามารถใช้โปรแกรม Spreadsheet ออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนหรือ Applications ที่ช่วยในการบันทึกและประเมินผลได้อย่างง่ายดาย หากไม่พร้อมหรือไม่ถนัดก็ใช้วิธีจดด้วยสมุดปากกาก็ได้ผลดีเช่นกัน เพียงแต่การใช้เทคโนโลยีจะประหยัดเวลามากกว่าและได้ข้อมูลที่ผิดพลาดน้อย ไม่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น รายการเดิม ๆ ที่ใช้อยู่แล้วในทุกเดือน
วางแผนจัดสรรงบประมาณ
นอกจากการจดบันทึกรายรับและรายจ่ายแล้ว คนเราย่อมทราบดีอยู่ว่ามีค่าใช้จ่ายรายเดือนเฉลี่ยเท่าใด เมื่อมีรายรับที่หักเงินออมตามคำแนะนำข้อที่ 1 ไปแล้ว เหลือเท่าไหร่ก็นำมาจัดสรรตามลำดับความสำคัญ เพราะรายจ่ายหลาย ๆ ส่วนก็เป็นค่าใช้จ่ายคงที่อยู่แล้วในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันทุกเดือน เช่า ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น จากนั้นจึงจัดสรรเงินที่หักค่าใช้จ่ายคงที่ไปแล้วลงในส่วนต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญของขั้นตอนนี้คือจะต้องใช้เงินตามแผนที่วางไว้อย่างมีวินัย หากจะมีรายการรายจ่ายใดที่ยังไม่จำเป็นหรือเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ เช่น งบทานอาหารนอกบ้าน งบซื้อเสื้อผ้า งบดูหนังฟังเพลง ก็ให้เลื่อนออกไปก่อนหรืองดได้ก็จะยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น เป็นการอุดรอยรั่วไม่ให้เกิดรายจ่ายที่ไม่ได้วางแผนไว้ ยิ่งถ้ามองเห็นป้ายลดแลกแจกแถมแล้วล่ะก็คนเรามักจะลืมแผนการเงินที่วางไว้ได้ง่าย ๆ
มีบัญชีเงินส่วนที่สามารถใช้อย่างอิสระ
คุณควรจะมีบัญชีเงินส่วนนี้ต่างหากและใช้เงินส่วนนี้เพื่อการใช้จ่ายตามใจชอบ เพื่อเป็นการสร้างสมดุลของการออมเงินไม่ให้มีความเครียดกังวลมากเกินไปจนเกิดอาการไม่กล้าใช้เงินและขาดความสุขในชีวิตไป โดยให้เงินกองนี้อยู่ในบัญชีเฉพาะเพื่อจะได้ทราบว่าใช้จ่ายไปแล้วเท่าใด เหลืออยู่เท่าใด หากใช้หมดแล้วจะได้ระมัดระวังไม่ไปกระทบเงินส่วนอื่น ๆ ที่วางแผนจัดสรรไว้
ประเมินผลทุกสิ้นเดือน
โดยการรวมเงินเก็บสะสมแต่ละเดือนแล้วกำหนดจุดลงกราฟในสมุดบันทึกหรือโปรแกรม Spreadsheet ว่ากันว่าการจดเป็นกราฟนี้จะทำให้คุณมีกำลังใจและเห็นผลงานของตัวเอง คุณจะสนุกกับการใช้เงินพร้อม ๆ ไปกับความมั่นใจที่มีเงินเก็บมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเรายิ่งเห็นกราฟพุ่งขึ้นก็อยากจะทำยอดกราฟเดือนต่อไปให้สูงขึ้นอีกโดยธรรมชาติ ถ้ามีสถิติมาแสดงกันต่อหน้าต่อตาแบบนี้คนเรายิ่งมีกำลังใจที่จะต่อยอดความมานะพยายาม
จากวิธีดังกล่าวข้างต้น คุณจะพบว่าคุณมีเงินเหลืออย่างน่าประหลาดใจ ไม่ใช่เพราะโชคชะตาหรือดวงทางการเงิน แต่เป็นวินัยทางการเงินที่คุณสร้างขึ้นมาด้วยตนเองต่างหาก เมื่อทำได้เป็นนิสัยแล้ว คุณจะมีความเพลิดเพลินในการใช้ชีวิตมากขึ้นเพราะว่านิสัยแห่งการใช้เงินที่มีระบบได้ถูกสร้างขึ้นแล้วอย่างมั่นคง ทำให้จะไม่เกิดปัญหาการใช้เงินเดือนชนเดือนอีกต่อไป