เชื่อว่าหลายคนคงเหนื่อยใจกับค่าใช้จ่ายที่รอจ่อคิวอยู่ทุกสิ้นเดือน หาเงินได้มากขึ้นเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายกลับทวีมากขึ้นตามนั้น ทั้งนี้เพราะคุณไม่มีความรอบคอบ ขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี ทำให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารเงินส่วนบุคคล
สมควรอย่างยิ่ง ที่คุณจะหันมาใส่ใจกับแผนออมเงินระยะยาว ซึ่งก่อนจะออมเงินได้ คุณต้องวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายก่อนเสมอ หากคุณใช้เงิน พร่ำเพรื่อโดยไม่วางแผน ในอนาคตอาจมีปัญหาทางด้านการเงินเข้าขั้นวิกฤต 4 วิธีวางแผนทางการเงินดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณสามารถประสบความสำเร็จทางการเงินได้
1. วางแผนควบคุมค่าใช้จ่าย
การวางแผนควบคุมค่าใช้จ่าย จะช่วยให้คุณคาดคะเนได้ถึงแนวทางการใช้ชีวิต เพราะการวางแผนนี้จะช่วยคุณในการประเมินค่าใช้จ่ายได้โดยละเอียด พร้อมรับมือกับทุกปัญหาที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
- จำแนกค่าใช้จ่ายออกเป็นประเภทต่างๆตามระดับความสำคัญ จะช่วยให้คุณทราบถึงปัญหาว่าเงินของคุณรั่วไหลไปทางไหนบ้าง และควรอุดรูรั่วนั้นด้วยวิธีใด ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณย้อนกลับไปมองการใช้จ่ายของคุณได้ดี ว่าได้ใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นไปบ้าง
- วางแผนการใช้เงินเสียใหม่ ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือย และควบคุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หลังจากนั้นให้แบ่งเงินสำหรับออมไว้ส่วนหนึ่ง หรือถ้าให้ดีอาจจะพยายามหารายได้เสริมด้วยก็ได้ โดยให้นำเงินจากรายได้เสริมนี้มาเก็บออมไว้ แค่นี้ก็จะทำให้มีเงินออมมากกว่าเดิมแล้ว
- วางแผนเป็นรายเดือน หรือรายปี ตั้งเป้าหมายว่าคุณต้องการเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ในหนึ่งเดือน และจะเป็นเท่าไหร่ในหนึ่งปี แล้วสิ้นเดือนหรือสิ้นปีมาดูกันว่าทำได้สำเร็จตามเป้าหรือไม่
- ลงมือทำให้ได้ และไม่ล้มเลิกแผนนั้นจนกว่าจะสำเร็จ หากทำได้ คุณจะมีเงินเก็บอย่างแน่นอน หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายลองดูว่าเพราะอะไร แล้วแก้ไขที่จุดนั้น
2. ทำบัญชีควบคุมค่าใช้จ่าย
การทำบัญชี จะช่วยอุดรอยรั่วให้คุณได้มากขึ้น คุณจะรู้ทันทีว่าเงินของคุณหายไปไหน และจะเพิ่มรายได้อีกเท่าไหร่จึงจะครบตามเป้าหมาย เป็นต้น
- แยกเป็นรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน และพยายามปรับลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย แต่ถ้าหากอยากได้สินค้าฟุ่มเฟือยจริงๆ ควรซื้อในจังหวะที่การเงินคล่องตัวจะดีกว่า เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาการเงินตามมานั่นเอง
- สรุปยอดบัญชีว่าการใช้เงินของคุณเป็นอย่างไร อัตราการออมอยู่ที่เท่าไหร่ต่อเดือน และควรเพิ่มอีกเท่าไหร่ ซึ่งอย่างน้อยๆ คุณควรมีเงินเก็บขั้นต่ำที่ 10% ต่อเดือน หากมีเงินเหลือเก็บน้อยกว่านั้น ควรเริ่มพิจารณาตัวเองได้แล้ว และควรพยายามเก็บออมเงินให้ได้มากขึ้น
3. หาทางปรับลดหนี้สินทั้งหมดในระยะเวลาสั้นๆ
ก่อนอื่นคุณต้องรวบรวมยอดหนี้คงค้างทั้งหมด ว่ามีจำนวนเท่าไร หากไม่เกินเกณฑ์ที่ทางสถาบันการเงินกำหนดไว้ ก็ค่อยๆผ่อนชำระให้หมดโดยเร็ว ในตอนแรกอาจะนำเงินในส่วนที่กันไว้สำหรับการออมมาชำระหนี้ก่อน เพราะดอกเบี้ยเงินออมนั้นเทียบไม่ได้เลยกับดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อชำระหนี้หมดแล้วจะทำให้สามารถออมเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น เพราะไม่ต้องกันเงินแต่ละเดือนไปชำระหนี้
หากคุณรู้ตัวว่ามีหนี้สินที่ต้องจัดการอยู่เยอะ ควรลดค่าใช้จ่ายในช่วงนั้นให้มากที่สุด เพื่อจะได้นำเงินส่วนอื่นมาปลดหนี้ให้หมดก่อนนั่นเอง
4. ออมเงินให้เป็นนิสัย
สร้างนิสัยการออมให้เป็นกิจวัตร เช่น หยอดกระปุกวันละ 100 บาททันทีที่กลับถึงบ้าน หรือจะเป็นเศษเหรียญทั้งหมดที่มีในกระเป๋าวันนั้นก็ได้ ตั้งเป้าหมายตามสะดวก โดยอาจนำเงินที่ได้ไปฝากเป็นรายเดือน ในบัญชีเงินฝากแบบประจำ
รูปแบบของเงินฝากประจำ มีมากมาย ข้อดีของบัญชีรูปแบบนี้ก็คือ ให้อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แต่มีกำหนดระยะเวลาในการฝาก เช่น ฝากประจำ 1 ปี หมายถึง กว่าคุณจะถอนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยได้ ต้องครบตามกำหนดเวลาเสียก่อน หากเบิกถอนก่อนกำหนด ดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลงเท่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทันที
บัญชีรูปแบบนี้ คุณต้องกำหนดยอดเงินที่จะฝากทุกเดือนตายตัวไว้ตั้งแต่แรก เช่นต้องการฝากเดือนละ 1,000 บาท คุณก็ต้องฝากตามจำนวนนั้นให้ได้ทุกเดือน และควรฝากให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณ
หวังว่า 4 วิธีการควบคุมและวางแผนค่าใช้จ่ายนี้ จะช่วยให้คุณเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ และมั่งคั่งได้ในอนาคต เพราะสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์เราต้องการอยู่ลึกๆในใจ ก็คือการเป็นอิสระทางการเงิน และหมดภาระหนี้สินนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องเริ่มจัดการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ นี่แหละ