สถานการณ์ด้านการเงินและการลงทุนรวมถึงการบริโภคของประชาชนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการประมาณการของนักวิเคราะห์หลายสำนักรวมถึงหน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ออกมาระบุว่า หนี้ครัวเรือน ต่อจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3/2558 ที่ผ่านมาสูงสุดถึง 81.1% สถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่กล่าวถึงและตั้งคำถามถึงความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยว่าจะมีความมั่นคงมากน้อยเพียงไรจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในสัดส่วนที่สูง และรวมถึงแนวทางข้อเสนอแนะในการปรับตัวของภาคประชาชนต่อการก่อหนี้ครัวเรือนรวมถึงมาตรการตั้งรับของหน่วยงานภาครัฐ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้หนี้ครัวเรือนของไทยสูงแต่ไม่น่ากังวลมาก
จากการแถลงข่าวของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้ว่าแม้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงแต่ทั้งนี้หากพิจารณาสถานการณ์จะพบส่วนใหญ่แล้วหนี้ครัวเรือนดังกล่าวมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก และรวมถึงพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต ซึ่งทั้งหมดนี้ยังมี NPLs อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 3-4 เท่านั้น จึงจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงมาก ดังนั้นผลกระทบของหนี้ครัวเรือนอาจจะไม่มีผลกระทบเชิงลบมากนัก ประกอบกับในกลุ่มหนี้บัตรเครดิตหรือการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางนั้นถูกกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ทำให้ประเด็นนี้อาจจะไม่ต้องกังวลมากนัก
นอกจากนี้อีกสาเหตุประการหนึ่งที่มีผลต่อการก่อหนี้ครัวเรือนคือ ผลกระทบจากนโยบายการกระตุ้นสินเชื่อบ้าน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่าหนี้ครัวเรือนในปี พ.ศ. 2559 นี้คาดว่าจะขยายตัวขึ้นอีกประมาณ 5-6% ซึ่งมาจากการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ การลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทของรัฐ เป็นต้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงไม่ประมาทกับหนี้ครัวเรือน
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกรวมถึงตลาดเงินและตลาดทุนส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้สำหรับทางออกสำคัญของประเทศอาจจะต้องระวังการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่อาจมีผลต่อหนี้ครัวเรือนของไทย โดยแต่เดิมนั้น แนวทางการผลักดันระบบเศรษฐกิจจะเน้นที่การกระตุ้นสินเชื่อให้ขยายตัว แต่ในปัจจุบันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่าแนวทางการกระตุ้นแบบเดิมด้วยการให้สินเชื่ออาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีดังเช่นที่เคยประเมินไว้ และอาจจะมีความเสี่ยงด้านหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย ดังนั้นจึงเสนอว่าควรพิจารณาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาวอาจจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า
พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนไทยเปลี่ยนไป
สำหรับด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายและการก่อหนี้ของคนไทยพบว่า พฤติกรรมหลายด้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากความเห็นของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลชี้ว่า ในภาพรวมแล้วลูกค้าตลาดบนยังคงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ยังคงมีการจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมีแนวโน้มเปลี่ยนพฤติกรรมมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยวโดยพบว่ากลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมีรสนิยมการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น จากสถิติพบว่าคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนกว่า 6 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 จากจำนวนคนไทยทั้งประเทศ) และในจำนวนดังกล่าวมีการใช้จ่ายแล้วกว่าปีละ 1.7 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้วถือว่ามีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก โดยพบว่าการใช้จ่ายภายในประเทศด้านการท่องเที่ยวของคนไทยมีอัตราการขยายตัวต่อปีอยู่แค่เฉลี่ยปีละ 2% เท่านั้น
หนี้ครัวเรือนน่ากังวลหรือไม่ และทำอย่างไรจึงจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้
ทั้งหมดนี้จากภาพรวมจะพบว่าสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลหากหนี้ครัวเรือนนั้นเป็นไปเพื่อการลงทุนและขยายกิจการ อาทิเช่น จัดซื้อสินค้ามาจำหน่ายหรือสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ แต่หากเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภคและการใช้สอยโดยไม่ก่อให้เกิดการลงทุนที่งอกเงยอาจจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจและติดตามให้ใกล้ชิดมากกว่า ทั้งนี้อีกประการหนึ่งคือ พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ยังคงเน้นการใช้บริการสินเชื่อรวมถึงการผ่อนชำระสินค้า ต้องพึงระวังว่าพฤติกรรมทั้งหมดนี้ต้องพึ่งพาเงินเดือนที่ได้รับจากธุรกิจ ซึ่งบริษัทหรือหน่วยธุรกิจต่างๆก็ต้องพึ่งพาภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศเช่นกัน หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาและส่งผลกับการปิดกิจการย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานดังกล่าวแน่นอน ซึ่งแนวโน้มการปิดกิจการดังกล่าวได้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของนักลงทุนต่างชาติไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านโดยอาศัยค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า แรงงานหรือผู้ใช้บัตรสินเชื่อดังกล่าวย่อมประสบกับภาวะหนี้สินและเกิดหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงินได้
ด้วยเหตุนี้เพื่อป้องกันปัญหาความเสี่ยงอันอาจเกิดจากหนี้ครัวเรือน ภาคประชาชนควรพิจารณาระดับพฤติกรรมการออมของครัวเรือนตนเอง โดยสำหรับครัวเรือนที่มีฐานะปานกลางควรลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหรือแสวงหาแนวทางการสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นรวมถึงการสร้างพฤติกรรมการออมที่สม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินในอนาคต ขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะดีนอกจากจะลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนแล้ว ควรมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเสนอให้เพิ่มปริมาณการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้