ไบรอัน เทรซี่ สุดยอดกูรูผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลก เคยกล่าวว่า “ถ้าคุณล้มเหลวที่จะวางแผน นั่นคือ…คุณกำลังวางแผนที่จะล้มเหลว” ในโลกของการลงทุนก็เหมือนกันครับ หลายต่อคนเข้ามาลงทุนโดยที่ไม่มีการวางแผนอะไรไว้เลย ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความล้มเหลวและขาดทุนกลับไป
หลายคนอยากเริ่มลงทุน แต่เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรจะวางแผนการลงทุนอย่างไร? หรือควรพิจารณาปัจจัยใดบ้างหากคิดจะเริ่มลงทุน?
ในเกมการลงทุนก็เหมือนกับเกมฟุตบอลนั่นแหละครับ หากทีมไหนนักเตะลงสนามไปโดยที่โค้ชไม่ได้มีการวางแผนการเล่นเอาไว้เลย ผู้เล่นแต่ละคนก็จะลงไปวิ่งอย่างสะเปะสะปะ ทำให้การเล่นไม่มีประสิทธิภาพ ต่างจากทีมที่โค้ชได้วางแผนการเล่นมาอย่างดี รู้จักวิเคราะห์ผู้เล่นตัวเอง และผู้เล่นของคู่ต่อสู้ รวมถึงปัจจัยต่างๆ รอบด้าน ซึ่งแน่นอนว่าทีมที่เตรียมตัวมาดีแบบนี้ ย่อมมีโอกาสได้รับชนะมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นนักลงทุนที่ลงสนามโดยไร้แผนการนั่นเท่ากับว่าไร้หนทางชนะในเกมการลงทุน เรามารู้จักการวางแผนการลงทุนกันนะครับ
ไม่ว่าคุณจะลงทุนในอะไรก็แล้วแต่ ปัจจัยสำคัญที่คุณจะต้องพิจารณา ก่อนลงทุน เป็นอันดับแรก จะมีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 3 ปัจจัย ดังนี้
เงินทุน หรือเงินต้นที่ใช้ในการลงทุน
คนส่วนใหญ่มักมีความสามารถในการหาเงินกันอยู่แล้ว เพราะเราเรียนจบกันมาเพื่อที่จะนำเอาวิชาความรู้ที่เรียนมาไปใช้ในการหาเงิน ถึงแม้ว่าส่วนมากจะเป็นการหารายได้จากสายอาชีพที่ตนเองเรียนมา และเป็นรายได้จากงานประจำก็เถอะ จะมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ศักยภาพภาพของแต่ละคน อย่างไรก็ตามถ้าคุณสามารถเพิ่มศักยภาพในการหาเงินของคุณได้ คุณยิอมมีโอกาสเพิ่มเงินต้นในการลงทุนของคุณได้มากขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเงินต้นที่มากขึ้นย่อมส่งผลให้คุณมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของแหล่งลงทุนนั้นๆ ไม่ว่าคุณจะลงทุนในทรัพย์สินใดก็แล้วแต่คุณต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณลงทุนนั้นมีศักยภาพเท่าใด สามารถให้ผลตอบได้ตามที่คุณคาดหวังรึเปล่า อย่างเช่นคุณต้องการได้ผลตอบแทนประมาณ 7-8% ต่อปี คุณก็ควรมองไปที่แหล่งลงทุนที่มีศักยภาพที่สามารถให้ผลตอบแทนคุณได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือกองทุนรวม เป็นต้น แต่ถ้าคุณดันไปลงทุนในพันธบัตร หรือเอาไปฝากประจำกับธนาคาร คุณก็จะไม่สามารถมีโอกาสได้ผลตอบแทนได้ตามที่คุณต้องการ
ที่สำคัญคุณต้องรู้ธรรมชาติในการหารายได้จากทรัพย์สินนั้นๆ ด้วย เช่น หากคุณอยากลงทุนและต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุนนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ แบบ Passive Income แต่คุณดันตัดสินใจลงทุนในทองคำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่สามารถกระแสเงินสดที่เป็น Passive Income ให้กับคุณได้ อย่างนี้เรียกว่าลงทุนไม่ถูกตัว ดังนั้นคุณควรมองไปที่การลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมที่มีการปันผลตอบแทนจะดีกว่า
สิ่งที่คุณควรต้องรู้อีกเรื่องนึงคือ อัตราผลตอบแทนที่สูง มักแปรผันตรงกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง อะไรที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ มักให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดี หรือแทบไม่ได้ผลตอบแทนเลย ลองดูอย่างการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ธนาคารทั่วๆ ไป ให้อัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.75% ต่อปี พื่อให้เห็นภาพ ถ้าคุณฝากเงินในธนาคารสัก 100 บาท ปีนึงคุณจะได้ผลตอบแทนแค่ 75 สตางค์เท่านั้น น้อยมากๆ! นี่แหละคือความแตกต่างระหว่างการออมเงิน กับการลงทุน คุณเห็นมั้ยว่าการออมเงินไม่มีทางทำให้คุณรวยได้เลย แต่การลงทุนสามารถทำให้คุณรวยได้ (แต่ช้าก่อน! การออมยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำอยู่นะครับ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตของคุณอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในกรณีฉุกเฉินก็เป็นได้ เช่น กรณีที่คุณเกิดเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือการถูกไล่ออกจากงาน ฯลฯ)
ระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุน
การได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในทรัพย์สินแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ผลตอบแทนที่เกิดจากการเติบโตของทรัพย์สิน (หรือที่เราเรียกว่า “ส่วนต่างผลกำไร” หรือ “Capital Gain”) และผลตอบแทนที่เกิดจากกระแสเงินสดแบบ Passive Income ของทรัพย์สินนั้นๆ เช่น เงินปันผลจากหุ้น/กองทุน และค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเราลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ได้ยาวนานมากแค่ไหน เราก็จะยิ่งได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น
ทั้ง 3 ปัจจัยคือสิ่งที่คุณต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ก่อนลงทุน คุณต้องรู้ว่าคุณมีเงินทุนเท่าไหร่ คุณต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่ (เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่า ควรลงทุนในทรัพย์สินตัวไหน เพราะทรัพย์สินแต่ละตัวมีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน) และสุดท้ายคุณต้องรู้ว่าคุณสามารถลงทุนได้นานเท่าไหร่ ทั้ง 3 ปัจจัย ยิ่งมากยิ่งดี คนส่วนใหญ่มักมีแค่ปัจจัยแรกคือ เงินทุน แต่ปัจจัยที่ 2 กับ 3 มันเป็นเรื่องของการหาความรู้ การมี Connection และจิตวิทยาการลงทุน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความขยัน การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และทัศนคติที่มีต่อการลงทุน ซึ่งลักษณะนิสัยของแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน
ข้อแตกต่างของระหว่างนักลงทุนมืออาชีพ กับนักลงทุนมือสมัครเล่นก็คือ “การรู้จักวางแผนการลงทุน” นี่แหละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการหาหน่วยลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ กับความอึดในการเล่นกับระยะเวลาในการลงทุน เป็นตัวชี้วัดได้เลยว่า นี่แหละมืออาชีพตัวจริง!