5 วิธีเริ่มต้นใหม่ทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย (Financial Literacy) ปี 2563 พบว่าคนไทยมีคะแนนทักษะทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งด้านความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติ แต่เมื่อลงรายละเอียดด้านพฤติกรรมแล้วนั้น พบว่าหัวข้อที่ได้รับคะแนนน้อยลงมากที่สุด คือ การวางแผนการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการไตร่ตรองก่อนซื้อ โดยมีเพียง 38.9% ของกลุ่มตัวอย่าง 11,901 ครัวเรือนที่บอกว่าไม่เคยประสบปัญหาเงินไม่พอใช้
ปัญหาทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อมีปัญหาแล้ว สิ่งสำคัญคือวิธีการแก้ปัญหาและการลงมือแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามในชีวิตจริง เรามักพบคนที่ไม่พยายามจะแก้ต้นตอของปัญหาจึงนำไปสู่ปัญหาที่หยั่งรากลึก Uma Shashikant ประธานศูนย์การศึกษาและเรียนรู้ด้านการลงทุนของอินเดีย ได้เล่าประสบการณ์และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางการเงินไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
คนที่ไม่ยอมรับฐานะทางการเงินที่แท้จริงมักแสดงนิสัยที่โง่เขลาหลายอย่าง เช่น โอ้อวด ปั้นเรื่องราวเกี่ยวกับความมั่งคั่ง ไม่เปิดอีเมลหรือจดหมายเรียกเก็บเงิน ใช้จ่ายเงินราวกับว่าจะมีคนจ่ายให้ทีหลัง ไม่คุยเรื่องสถานการณ์ทางการเงินที่แท้จริงกับใคร และปฏิเสธที่จะจัดการกับสถานะทางการเงินของตนเอง
สิ่งที่พวกเขาควรทำคือเลือกที่จะจัดการกับปัญหาแทนการหนีปัญหา ดังนี้
1.รวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด
เข้าใจสถานะทางการเงินที่แท้จริงของตนเอง ดูว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้าง มีหนี้ที่ต้องจ่ายเมื่อไหร่และเท่าไหร่
2.กล้าเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยความเชื่อมั่นว่าเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้
อย่าปล่อยให้ปัญหาแย่ลง ทุกคนสามารถเริ่มต้นใหม่ได้
3.กำหนดเป้าหมาย และพยายามทำให้สำเร็จ
เช่น บอกตนเองว่าจะต้องหางานให้ได้ หรือจ่ายหนี้ที่มีภายในเวลาที่กำหนด หรือควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้ภายในหนึ่งปี และเตือนตนเองทุกวันให้ก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น
4.อย่าทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
อย่ายืมเงินคนอื่นถ้าจ่ายคืนไม่ได้ อย่ารูดบัตรเครดิตถ้าจ่ายยอดค้างชำระไม่ได้ และอย่าซื้อของที่เกินตัว
5.หาแนวร่วมเพื่อช่วยเหลือ
เล่าปัญหาของตนเพื่อขอคำแนะนำจากผู้อื่น เปิดใจรับฟังคำแนะนำจากผู้ที่ปรารถนาดี แม้ว่าจะไม่ชอบก็ตาม เพื่อหาทางออกจากปัญหา
ในทางกลับกัน หากเรามีเพื่อนหรือญาติสนิทที่มีปัญหาทางการเงิน เราอาจให้ความช่วยเหลือเขาได้โดยสิ่งที่เราควรทำคือ
1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
สืบหาความจริงและให้คำแนะนำเพื่อช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ ไม่ใช่การนินทาเขา
2.หาคนใกล้ชิดที่สามารถช่วยบุคคลนั้นได้อีกคน
หาคนใกล้ชิดที่สามารถทำงานร่วมกับเราได้ เช่น พ่อหรือแม่ของเขา ภรรยา เพื่อน หรือใครก็ตามที่รู้สถานการณ์และพร้อมจะร่วมมือกับเราในการให้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางช่วยสนับสนุนให้เขาคนนั้นฟังเรา
3.เสนอวิธีแก้ปัญหาที่ทำได้จริง
ไม่มีใครชอบให้ใครมาสั่งสอนหรือควบคุม และอย่ามุ่งไปที่การตำหนิติเตียน เราสามารถช่วยเขาด้วยการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้ หรือช่วยหาคนมาซื้อสินทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เขา หรือแนะนำสิ่งต่างๆ ที่เขาสามารถลงมือทำได้ เช่น จัดหางานพิเศษให้ทำเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น
4.อย่าเปิดเผยเรื่องของบุคคลนั้นกับผู้อื่น
การทำให้บุคคลนั้นไว้วางใจยอมเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง จะช่วยให้สามารถจัดการปัญหาที่แท้จริงได้
5.อย่าแก้ปัญหาโดยการให้เงิน หรือรับบริจาคจากบุคคลอื่น
จงปกป้องความภาคภูมิใจในตัวเองของเขา ในขณะเดียวกัน เราต้องไม่แบกรับภาระไว้เอง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ คนที่กำลังมองหาการเริ่มต้นใหม่ หรือให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน
อ้างอิง:
https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2021/Pages/n7764.aspx
https://economictimes.indiatimes.com/wealth/plan/many-cant-face-their-personal-finance-reality-here-are-5-ways-to-help-them-tackle-financial-denial/articleshow/88488067.cms
วันที่ 3/31/2023