เคยจำกันได้ไหมครับ ว่าตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ปู่ย่าตายายของเรานั้น สอนเราว่าอย่างไรกันบ้าง ก็คงไม่พ้นเรื่อง ตั้งใจเรียนนะ เป็นเด็กดี และสอนให้รู้จักออมเงิน แล้วจำได้บ้างไหมครับว่า คุณเริ่มเรียนรู้การออมเงินเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุกี่ขวบ สำหรับผมแล้วผมเริ่มออมตั้งแต่สมัยป.1เลยครับ ครอบครัวผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก ได้เงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท จำได้ว่า สมัยนั้น ข้าวของ ค่าขนมไม่แพงเหมือนทุกวันนี้ อาหารกลางวันก็กินฟรี ตามนโยบายของโรงเรียนรัฐบาล นมถุงก็ฟรีกินตอนกลางวัน พอหลังเลิกเรียนก็จะมีการแจกนมถุงคนละ 1-2 ถุง เอากลับไปกินที่บ้านได้อีก ค่าขนม ห่อละ 1 บาท 2 บาท แพงหน่อยห่อละ 3 บาท 5 บาท ผมใช้เงินซื้อขนมประมาณ 3-4 บาทต่อวัน แล้วอีก 2 บาท กลับบ้านไป ผมก็จะยอดกระปุกจนกระปุกมันเต็ม แม่ของผมช่วยผมแคะเหรียญออกมานับดู ได้ราวๆ 300 กว่าบาท แล้วแม่ก็พาผมไปเปิดบัญชีที่ธนาคารเป็นครั้งแรก ผมดีใจมากที่ผมมีเงินเก็บก้อนแรกในชีวิต เมื่อผมเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผมก็เลยอยากจะนำเอาบทเรียนของการออมมาแชร์เป็นความรู้ให้กับทุกๆคนที่สนใจ อยากมีเงินเก็บ และอยากจะเริ่มต้นเก็บออมกันครับ
1. ต้องมีเป้าหมาย
อันดับแรกเราต้องมีเป้าหมายก่อนครับ คิดไว้เลยว่าเราจะเก็บออมวันละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่ สิ้นปีตัดยอดที่เท่าไหร่ ให้คิดแบบเป็นสมการ ครับ A+B=C , A คือ วิธีการ B คือ ระยะเวลา C คือ เป้าหมายที่เราวางไว้ อย่างเช่น
(เก็บออม,ทำงานพิเศษ,ประหยัด) + 12 เดือน = 100,000 บาท
แต่ก่อนอื่นเราต้องกำหนดเป้าหมายของเราให้ชัดเจนก่อนครับ อย่างเช่น ผมอยากจะมีเงินเก็บ 1 แสนบาทในหนึ่งปี เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็มาคิดหาวิธีกันครับว่า ทำอย่างไรเราจะถึงจะได้มันมา เราต้องทำอะไรบ้าง แล้ววิธีการมันก็จะผุดขึ้นมาในหัวของเราเอง แล้วเราก็ลงมือทำเลยครับ อย่ารอช้า
2. วางแผนการเงิน
เป็นคำพูดที่ได้ยินกันแล้วหลายคนอาจจะเบื่อหน่าย วางแผนการเงินน่ะหรอจะทำไปทำไมกัน ? เงินหมดก็หาใหม่ได้ง่ายจะตาย แค่มีงานทำแค่นี้ก็ถือว่าชีวิตสบายแล้ว เดี๋ยวก่อนครับท่าน ที่บอกว่ามีงานทำแล้วชีวิตสบายนี่จริงหรือเปล่า อยากให้มาลองคิดทบทวนดูดีดีครับ ทำงานใช้แรงหรือไม่ ? แล้วแต่ละวันต้องเจอแรงกดดันจากที่ทำงาน ทั้งเงินเดือนไม่พอใช้ แถมยังถูกหักภาษี ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ? แล้วยิ่งถ้าของแพงขึ้น ค่าครองชีพสูง เราจะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร ถ้าเราไม่มีเบาะคอยเซฟตัวเอง ดังนั้นจงเริ่มเลยครับ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อยากให้ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายสักนิด แล้วคุณจะรู้ว่า ในและเดือนนั้น พฤติกรรมการใช้เงินคุณเป็นเช่นไร ใช้จ่ายมากเกินความจำเป็นหรือไม่ ถ้าใช่ก็ขอให้ลองตัดค่าใช้จ่ายส่วนนั้นออกไป แล้วคุณจะพบว่า เงินในกระเป่านั้นมีพอใช้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
3. จัดสรรรายจ่ายออกเป็นสัดส่วน
(จะรู้ว่าต้องแบ่งส่วนไหนบ้างก็ต้องเมื่อทำบัญชีรายรับรายจ่าย) แบ่งเลยครับว่า จะออมเดือนละเท่าไหร่ แล้วส่วนที่เหลือก็ค่อยไปแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือค่าใช้จ่ายสำรองยามฉุกเฉิน และที่สำคัญคุณควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อลงทุนบ้าง เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณเก็บออมได้มากขึ้นแล้ว คุณยังสามารถนำเงินออมในส่วนนี้ไปต่อยอดให้เงินเพิ่มเงินขึ้นมาได้ ด้วยวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น พอถึงตอนนั้น ถ้าคุณสามารถทำให้มันเป็นระบบได้แล้ว คุณก็จะมีรายได้เข้ามาจากหลายทาง และสามารถเก็บออม,มีเงินทุนได้มากขึ้น แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้น วันนี้คุณต้องเริ่มออมให้ได้ก่อนครับ
4. เก็บแบบรวบรัด !
หากคุณได้รับส่วนลด,เงินโบนัส หรือรายได้พิเศษอื่นๆ ให้คุณทำการเก็บออมไว้ก่อนเลยครับ ให้รางวัลกับตัวเองเสมอ เพราะถ้าเราไม่มีเงินออมเพื่ออนาคตเสียแล้ว ในยามที่ฉุกเฉินจะมีสักกี่ทางที่เราจะหันหน้าไปพึ่งหรือขอความช่วยเหลือ ไม่มีหรอกครับ ถ้ามีก็ยากพอสมควร หนำซ้ำบางที อาจจะทำให้เกิดหนี้ เนื่องจากในคราวจำเป็นที่จะต้องใช้นั้น กลับไม่มีเงินสำรองเหลืออยู่เลย เพราะเอาเงินส่วนใหญ่ไปในจ่ายในสิ่งที่ต้องการ และหาความสุขให้กับตัวเองหมดแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าสุขใดเล่าจะเท่าสุขใจที่มีเงินออม
5. อย่าทำตัวเหมือนโอ่งก้นรั่ว
หรือเติมเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เหมือนน้ำที่รั่วออกแม้จะเติมเข้าไปมากมายเท่าไหร่ก็ตาม เป็นเรื่องยากครับที่พยายามยั้บยั้งช่างใจไม่ให้หลงมัวเมากับกิเลสที่มีอยู่รอบตัวมากมาย ทั้งเรื่องของหน้าตาทางสังคม การมีรสนิยมที่ดี ชอบใช้ของแพงก็อาจจะดีในแง่ของคุณภาพ แต่ถ้าซื้อแบบที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นต้องใช้ แบบนี้มันก็เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุครับ ดังนั้น แล้วเราก็ต้องรู้จักประมาณตนของตัวเองด้วยครับว่า เรามีมากมายจนเหลือกินเหลือใช้พอที่จะซื้ออะไรได้ตามใจหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องกลับมาคิดใหม่แล้วล่ะครับว่า ถ้ามีแต่ใช้แบบไม่รู้จักพอ มีความอยากมีความต้องการอยู่เรื่อยๆ เราคงไม่มีวันที่จะมีเงินออม อนาคตทางการเงินนั้นก็คงไม่ได้สวยงามเท่าไหร่
อ่านเพิ่มเติม : ใช้เงินแบบนี้ ยังไงก็ ไม่มีเงินเก็บ !