ถ้าอยากมีเงินมากขึ้น หนึ่งคือหาเงินมาเพิ่ม สองก็คือใช้เงินรายได้ที่หามาได้อย่างฉลาด เงินทองเหมือนน้ำหรืออาหารที่ใช้แล้วหมดไป การสงวนเงินทองไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นก็ทำให้มีเงินเหลือมากขึ้นเพื่อค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ การลดรายจ่ายจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำไม่ว่าเป็นบุคคลทั่วไปหรือระดับองค์กรต่างมีวิธีลดรายจ่ายที่แตกต่างกันไป คงไม่ต้องถึงกับกระเหม็ดกระแหม่หรือเข้าขั้นตระหนี่ถี่เหนียว เพราะว่าจะทำให้ชีวิตขาดความสุข เอาแค่การพิจารณามองหารายจ่ายสิ้นเปลืองที่สูญเปล่าไปโดยไม่จำเป็นจะดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
โดยการเริ่มต้นต้องมาจากการจดบันทึกรายการค่าใช้จ่ายรายเดือนทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งไม่ใช่เป็นการจับจดหรือลงรายละเอียดที่มากเกินไปเลย เพราะการจดเท่านั้นที่จะช่วยให้ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายใดที่สามารถลดลงได้อีก โดยการแบ่งเป็นหมวดหลักและหมวดย่อย ตั้งแต่ปัจจัยสี่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ไปถึงค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ เช่น เงินออม เงินบริจาคการกุศล เงินใส่ซองตามโอกาสงานต่าง ๆ ค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายจิปาถะด้านต่าง ๆ เมื่อมีข้อมูลสะสมในแต่ละเดือนจะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมได้ดีขึ้นอย่างมาก ถ้าไม่เริ่มจดบันทึกก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะวางแผนลดรายจ่าย สำหรับบทความนี้มี 5 วิธีลดรายจ่าย ที่ได้ผลดีมาแนะนำกัน
1. คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียม เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่มีการคิดกันอยู่โดยปกติ ซึ่งจะมาพร้อมกับการชำระค่าสินค้า เช่น ค่าสาธารณูปโภค หรือแม้แต่การโอนเงินและถอนเงินต่างธนาคาร ค่าธรรมเนียมเหล่านี้แม้จะเก็บในปริมาณน้อย เช่น สิบบาท หรือยี่สิบห้าบาท มองเผิน ๆ เหมือนไม่มาก แต่ถ้าลองคิดกลับกันในยุคดอกเบี้ยร้อยละไม่ถึงบาท ต้องฝากเงินเท่าไหร่กว่าจะได้เท่ากับค่าธรรมเนียมที่จ่ายไป หนทางที่จะลดรายจ่ายได้ก็คือการใช้วิธีหักเงินผ่านบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ ซึ่งคุณควรจะมีบัญชีต่างหากสำหรับการจ่ายค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้ หลาย ๆ บริการจะไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม ในแต่ละเดือนก็ให้คุณนำเงินไปฝากเข้าบัญชีดังกล่าวเพื่อรอการหักบัญชีไป ที่ต้องแยกบัญชีต่างหากก็เพื่อความชัดเจนไม่ปะปนหรือหลงลืม อีกอย่างหนึ่งก็เป็นการจำกัดความเสี่ยงด้วยโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากหลัก ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการหักบัญชีค่าสาธารณูปโภคผ่านธนาคารก็คือไม่ต้องเสียเวลาไปจ่ายเอง ไม่เปลืองค่าเดินทาง ซึ่งจะทำให้ชีวิตคุณมีเวลามากขึ้นด้วย
2. เปรียบเทียบราคาก่อนจะดีกว่า
การซื้อสินค้าใด ๆ ในยุคอินเทอร์เน็ตนี้มีความสะดวกสบายมาก เพราะว่ามีร้านขายสินค้ามากมาย และยังสามารถสืบค้นราคาจากร้านค้าต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบเพื่อหาสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่า ให้ระวังสินค้าที่ถูกผิดปกติ อย่างไรก็ตามการซื้ออาจจะไม่ต้องซื้อทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ให้บริการเช็คราคาเปรียบเทียบหลาย ๆ หมวด เช่น สินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค สินค้าไอที คอนโดมิเนียมและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่ว่าถูกแล้วอาจจะมีบางที่ถูกกว่าก็ได้ ต้องใช้เวลาในการค้นหาสักหน่อยเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีกว่า การเปรียบเทียบราคาจะทำให้รู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินค้าน่าจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการต่อรองราคาได้
3. อย่าซื้อทันทีที่อยากได้
เคยเป็นกันไหม เมื่อเห็นของลดราคา หรือของที่ออกใหม่ล่าสุด สวยถูกใจมากและอยากที่จะซื้อทันที ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่หรือกระเป๋าใบงาม หรือการซื้อ 1 แถม 1 หรืออย่างทีวีรุ่นใหม่ 3 มิติ จอทีวีโค้ง ถ้ามีเงินมากเพียงพอก็คงไม่เดือดร้อน การซื้อทันทีคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าในระดับคนธรรมดาทั่วไป เวลาเห็นของที่ชอบก็ไม่ควรตัดสินใจเร็วเกินไป เพราะในเวลานั้นในใจจะมีแต่ความอยากได้และมองเห็นแต่ข้อดีของสินค้า โดยมองปัจจัยเรื่องราคาเป็นเรื่องรองลงไป มีคำแนะนำจากกูรูการเงินว่าให้ผัดผ่อนเวลาออกไปก่อนอย่างน้อย 30 วัน โดยการจดรายการที่คุณอยากซื้อลงในบันทึกสิ่งของที่อยากซื้อ พร้อมระบุวันที่เห็นของชิ้นนั้นและนับเวลา 30 วันเอาไว้ เมื่อครบเวลา 30 วันแล้ว ให้คุณลองพิจารณารายการนั้นดูใหม่ ถ้าคุณยังมีความอยากซื้ออยู่ ก็แสดงว่าคุณต้องการของชิ้นนั้นจริง แต่ถ้าคุณไม่สนใจจะซื้ออีกแล้วก็แสดงว่าของสิ่งนั้นไม่ได้เติมเต็มชีวิตของคุณได้ จึงไม่ต้องไปซื้อแล้วโดยให้ขีดทับหรือลบรายการนั้นออกจากรายการของที่อยากซื้อ วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถยืดระยะเวลาเพื่อทดสอบความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง และเป็นการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ใช้พลังงานอย่างฉลาด
พลังงานเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และคุณต้องชำระเงินสำหรับพลังงานต่างๆ ที่ได้ใช้ไป ทั้งน้ำประปา ระบบไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันสังคมไทยและสากล กำลังตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานอย่างมาก ตึกสูง อาคารขนาดใหญ่กำลังปรับปรุงเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ภาคประชาชนยังขาดความรู้อีกมาก ทั้งการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างอาคารและการอกแบบทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักขั้นแรกที่จะช่วยให้บ้านหรือสำนักงานใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ถ้าคุณกำลังคิดสร้างบ้านหรือสำนักงานแห่งใหม่ละก็ เรื่องพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงทั้งระบบ เช่น การเลือกใช้สุขภัณฑ์ การออกแบบระบบหมุนเวียนของน้ำให้คุ้มค่าก่อนกลายเป็นน้ำทิ้ง การออกแบบฉนวนกันความร้อนของอาคาร นอกจากนี้ยังเป็นด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานด้วยที่จะต้องปรับปรุง ทั้งการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น สำหรับคนเมืองหลวงแล้ว อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านี้เริ่มหายากขึ้นและมีราคาแพงมากขึ้นก็จะเริ่มรู้สึกว่าได้รับผลกระทบ การประหยัดพลังงานเหล่านี้จะช่วยลดค่าสาธารณูปโภคได้อย่างชัดเจน
5. วางแผนการเดินทาง
การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งที่ใช้เงินอย่างมาก ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊ส รวมถึงค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถยนต์ตามระยะทางต่าง ๆ ที่ใช้งาน หลายคนขาดการวางแผนการเดินทางที่ดี ทำให้เกิดการหลงทางขึ้นซึ่งเสียเวลาและต้องวิ่งรถกลับไปมารวมระยะทางที่ไกลมากขึ้นกว่าที่ควร ดังนั้นก่อนการเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย ควรศึกษาระบบนำทางด้วย GPS หรือศึกษาแผนที่ให้เข้าใจดีเสียก่อน เพื่อจะได้ไปถึงที่หมายได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ การไม่รู้จุดหมายหรือเส้นทางที่แน่ชัดจะยิ่งทำให้พะวงขณะขับขี่และอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น มัวแต่มองดูแผนที่หรือมองป้ายต่าง ๆ ทำให้ไม่ทันระวังเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการระวังการใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น จะทำให้สามารถบริหารวิธีการจับจ่ายได้ดีมากขึ้น เพียงเริ่มต้นทำจากจุดเล็กน้อยก่อนแล้วค่อย ๆ สร้างสมเป็นนิสัยที่ทำได้ตามความเคยชิน การใช้เงินที่ถูกต้องไม่ใช่แค่การจ่ายออกไป แต่ต้องรู้ว่าจ่ายเพื่ออะไรและคุ้มค่ากับชีวิตของเราหรือไม่ ทัศนคติเช่นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกับยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีความมั่งคั่งจะมีความรอบคอบในการใช้จ่ายเงินด้านต่าง ๆ เสมอ