ด้วยทุกวันนี้ธนาคารต่างๆ ต่างก็มีผลิตภัณฑ์มาให้บริการกับประชาชนทั่วไปๆ เป็นจำนวนมาก ก็อาจจะมีบ้างที่การให้บริการ การตอบคำถามในตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจจะยังไม่ถูกใจเราสักเท่าไร หรือบางครั้งก็ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทำให้ตัดสินใจทำธุรกรรมต่างๆ ผิดพลาดได้ หากธนาคารเข้ามาแก้ไขปัญหาให้เราจนพอใจก็คงจะจบกันไป แต่ถ้าบางครั้งเรายังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จะไปเรียกร้องจากใครดี บทความนี้มีคำตอบ
บางครั้งที่เราไปใช้บริการจากธนาคารแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น แถมยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากธนาคารเจ้าของเรื่องอีก จนทำให้เกิดความเสียหายกับเราอย่างมากมายทั้งเงินและเวลา ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง.ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้เรื่องการเงินต่างๆ แล้วยังเป็นช่องทางในการร้องเรียนเรื่องการบริการทางการเงินของธนาคารต่างๆ ด้วย โดยสามารถร้องเรียนได้ทั้งทาง Call Center 1213 จดหมาย โทรสาร หรือจะผ่านหน้าเว็บไซต์ของ ศคง.ก็ได้ แต่ก่อนที่เราจะส่งเรื่องร้องเรียนไปนั้น เราก็ทำการบ้านและรวบรวมข้อมูลก่อนจะร้องเรียนกันสักนิดด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ศคง. คือ อะไร ? รู้จัก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน กัน
ทาง ศคง. ก็ใช่ว่าจะรับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน เพราะบางเรื่องก็อยู่นอกเหนืออำนาจในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ เราไม่สามารถร้องเรียนผ่าน ศคง.ได้
- เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น การกู้ยืมเงินนอกระบบ
- เรื่องฟ้องร้องระหว่างธนาคารกับลูกหนี้ที่ศาลศาลมีคำวินิจฉัย คำสั่ง หรือคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
- เรื่องที่จะให้ ธปท. ฟ้องร้องคดีแทน/ช่วยเหลือเงินในการต่อสู้คดี/ช่วยจัดหาหรือว่าจ้างทนายความให้กับลูกหนี้หรือผู้ร้องเรียน
- เรื่องที่จะให้ ธปท. เรียกร้องหรือสั่งการให้สถาบันการเงินชดใช้ค่าเสียหายตามข้อพิพาทที่คู่สัญญาผูกพันกันทางแพ่ง
- หรือจะเป็นการขอความอนุเคราะห์ในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขอลดดอกเบี้ย การอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ซึ่งถ้าหากธนาคารได้ทำตามนโยบายที่ ธปท.กำหนดแล้ว ธปท.ก็ไม่สามารถเข้าไปเจรจาขอความอนุเคราะห์ให้กับลูกหนี้ได้
- การขอข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของบุคคลอื่นและขอข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย
แล้วเรื่องอะไรบ้างล่ะที่สามารถร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง.
ได้ เช่น การตกลงทำประกันโดยที่ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการออมเงิน หรือไปขอเปิดบัญชีแล้วถูกบังคับให้ทำบัตรเอทีเอ็มแบบมีประกัน หรือขออนุมัติสินเชื่อแล้วบังคับให้ทำประกันถ้าไม่ทำจะไม่อนุมัติสินเชื่อ เป็นต้น และได้ร้องเรียนเรื่องที่ว่านี้ไปทางธนาคารต้นสังกัดแล้วไม่ได้ความคืบหน้าอะไรเท่าไร ก็ส่งเรื่องมาให้ ศคง. ดูแลได้เลย
ซึ่งก่อนที่เราจะทำเรื่องร้องเรียนกับ ศคง. เราก็ต้องรู้สิทธิในเรื่องการเงินของเรากันสักหน่อย โดยทาง ศคง.ได้สรุปที่หน้าเว็บไซต์ของ ศคง. ว่า เมื่อเราพบว่าธนาคารปฏิบัติกับเราไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เช่น ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน บังคับขายผลิตภัณฑ์ทางการ หรือเงินฝากในบัญชีสูญหาย เราต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของธนาคารทราบโดยทันที พร้อมหลักฐานต่างๆ ที่เรามี จากนั้นธนาคารจะต้องให้หลักฐานการรับเรื่องร้องกับเราไว้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งระยะเวลาการแก้ไขปัญหาให้เราทราบ และเมื่อใดที่เราไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาในเวลาที่เหมาะสม เราก็สามารถแจ้งมาที่ ศคง.ได้ทันที ทุกช่องที่เปิดให้บริการ
และนอกจากสิทธิในเรื่องความเป็นธรรมจากการบริการทางการเงินของธนาคารแล้ว เรายังมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย หากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของธนาคาร เช่น พนักงานทำรายการตัดเงินผิดบัญชี พนักงานทำรายการโอนเงินให้เราผิด ในกรณีที่เราเขียนข้อมูลถูกทุกอย่าง แบบนี้ธนาคารจะต้องรับผิดชอบให้เรา แต่ถ้าเป็นรายการที่เราทำเองผ่านตู้เอทีเอ็ม internet banking แล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา แบบนี้เราจะเรียกร้องให้ธนาคารชดใช้ไม่ได้