คนที่เกิดในยุคปี พ.ศ. 2500 ต้นๆ คงจำกันได้ว่า เคยกินก๋วยเตี๋ยวกันชามละ 1 บาท บางที่ก็ 50 สตางค์ ไข่ไก่น่าจะฟองละ 5 สตางค์ 10 สตางค์ รถยนต์คันหนึ่งก็ประมาณ แปดเก้าหมื่นหรือ หนึ่งแสนบาท ที่ดินไร่ละไม่ถึงหนึ่งพันบาท สมัยนั้นใครมีเงินหมื่นเงินแสนนี่เรียกว่าอาเสี่ยกันเลย เวลาผ่านมา กว่า 50 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่พัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ระบบการผลิต ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็เจริญเติบโตและพัฒนาไปมากมายมหาศาล ไม่เว้นแม้ด้านการเกษตร ที่มีเทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงใหม่ๆช่วยให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
ถ้าจะเปรียบคนสมัย พ.ศ. 2500 เป็นรุ่นพ่อ เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็เป็นรุ่นหลานกันแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลง แบบไม่ก้าวกระโดด แต่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องไม่เคยหยุด บางยุคเปลี่ยนช้า บางยุคเปลี่ยนเร็ว นั่นคือเรื่องของค่าเงิน เงิน 1 บาทในสมัย พ.ศ. 2500 กับ เงิน 1 บาท ใน พ.ศ. 2559 เมื่อนำไปแลกสินค้า ช่างต่างกันลิบลับ สมัยก่อน ข้าวแกงจานละ 3 บาท 5 บาท แต่ยุคสมัยนี้ ข้าวแกงจานละ 30 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท จะเห็นว่าห่างกันถึง 10 เท่า หรือ 1000 % ในช่วงเวลาประมาณ 50 ปี ค่าของเงินลดลง 10 เท่า เป็นตัวเลขที่น่าตกใจจริงๆ แต่ในระหว่างที่มันค่อยๆเปลี่ยนแปลง เราแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย อย่างมากก็รับรู้ได้ว่า ข้าวของแพงขึ้น สินค้าขยับขึ้นราคาเป็นช่วงๆ คราวละ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งเราก็ไม่รู้สึกว่าข้าวของแพงขึ้นนั้นกระทบกับการดำรงชีวิตของเรามากเท่าไหร่ เพราะเงินเดือนก็ขยับขึ้นเหมือนกัน ค่าจ้างค่าแรงก็ขึ้นเหมือนกัน แต่อัตราการขึ้นของค่าจ้างค่าแรงอาจไม่รุนแรง ไม่น่าตกใจเท่ากับ ค่าของเงินเมื่อเทียบกับสินค้า
อ่านเพิ่มเติม : เงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะอยู่รอดในสังคมเงินเฟ้อ ?
ด้วยธรรมชาติของคนชอบมองอะไรสั้นๆ ไม่ค่อยได้วางแผนระยะยาว หรือบางคนอาจมีรายได้แค่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาที่จะไปสนใจค่าเงินกันหรอก แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ เราต้องใส่ใจเรื่องของการวางแผนการเงินไว้ด้วยเสมอ มีน้อยก็วางแผนแต่น้อย มีมากก็วางแผนให้มากให้ยาวไกล ถ้าพูดถึงการเสื่อมของค่าเงิน เรียกเป็นภาษานักการเงิน ก็คือ เงินเฟ้อนั่นเอง การที่ไข่ไก่เคยฟองละ 50 สตางค์ เมื่อ สามสิบปีก่อน จนมาถึงเดี๋ยวนี้ ฟองละ 4 บาท 5 บาท ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า เงินเฟ้อนั่นเอง และเป็นเรื่องที่แน่นอนเลยว่า เงินเฟ้อ จะเป็นไปเรื่อยๆ ค่าเงินจะมีทิศทางที่ลดลงตลอดเวลา ในระยะยาว เป็นธรรมชาติของระบบการเงินและการแลกเปลี่ยนของโลก ยกเว้นมนุษย์จะเลิกใช้เงิน หรือมีระบบพิเศษอะไรที่เปลี่ยนไปอย่างมากมาย เราถึงจะถอดคำว่าเงินเฟ้อออกจากระบบได้
การที่เรารู้ว่า เงินจะลดค่าลงเสมอในระยะยาวแน่ๆ เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายจากเงินเฟ้อนี้ ในบริษัทหรือระบบธุรกิจใหญ่ๆ มีเทคนิควิธีการเรื่องการเงินมากมาย มีทฤษฎีให้เรียนรู้กันจนปวดหัว แต่ชาวบ้าน คนธรรมดาอย่างเราท่าน จะจัดการอะไรได้บ้าง วิธีง่ายๆแต่เราไม่ได้คิดว่ามันคือการป้องกันเงินเฟ้อ นั่นก็คือ การครอบครองที่ดิน หรือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยจากเงินเฟ้อ เช่น ทองคำ เป็นต้น เพราะเหตุใดการครอบครองหรือซื้อที่ดินจึงป้องกันเงินเฟ้อได้ เพราะว่าผืนดินบนโลกใบนี้มีจำกัด ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกอย่างต่อเนื่องจนล้นโลก แน่นอนว่า ที่ดินที่อยู่อาศัยย่อมไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นสิ่งหายาก มีคุณค่าเสมอ ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน มูลค่าของมันจึงไม่มีทางลดลง ดังนั้นแทนที่เราจะสะสมเงิน เราควรจะหาทางเปลี่ยนเงินนั้นเป็นที่ดินดีกว่า เพราะด้วยธรรมชาติของเงินที่มีแต่จะลดลง ถ้าเราเก็บเงินไว้เฉยๆ ผ่านไป 30 ปี เงินนั้นจะเล็กลง มีค่าแลกเปลี่ยนสินค้าได้น้อยลง แต่ถ้าเรานำเงินนั้นไปซื้อที่ดิน ในภาวะปกติ ที่ไม่ใช่อยู่ในช่วงฟองสบู่หรือมีการปั่นราคา ที่ดินของเราก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไล่ทันเงินเฟ้อแน่นอน