เรื่องแรกๆ ที่ต้องคิดมากที่สุด แบบกุมขมับเลยว่า ความสามารถในการหาเงินมาผ่อนชำระนั้น ไหวไหม?
หากเรามีหนี้มากก็ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก และถ้าภาระหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายในแต่ละงวดมากเกินกำลังชำระหนี้ของเราก็อาจไม่มีเงินไปจ่ายตามกำหนดหรือที่เรียกว่าเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเราอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดซึ่งแพงกว่าดอกเบี้ยปกติ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ความทุกข์ ความเครียด ว่าจะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ที่พอกพูนขึ้น นอกจากนี้ ประวัติทางการเงินของเราก็จะเสีย ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการขอสินเชื่อครั้งต่อไป หรือเรื่องอาจบานปลายออกไปอีก เช่น อาจถูกฟ้องล้มละลายได้
ดังนั้น สิ่งที่ควรจำให้ขึ้นใจและนำมาใช้ทุกครั้งก่อนตัดสินใจ เป็นหนี้ ก็คือ ควรพิจารณาว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสัดส่วนการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนเพื่อให้เราไม่มีภาระหนี้และความหนักใจมากจนเกินไป รวมทั้งมีเงินใช้สำหรับเรื่องอื่นในชีวิต เช่น ออมเพื่อวันข้างหน้า ซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นต้องใช้ในปัจจุบัน
ประเภทของสินเชื่อ
สินเชื่อมีหลากหลายประเภทมีลักษณะและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เราจึงควรพิจารณาประเภทของสินเชื่อที่เหมาะกับความจำเป็นในการใช้เงินของเราซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเนื้อหาเรื่องสินเชื่อ และข้อมูลจากสถาบันการเงินต่าง ๆ
อัตราดอกเบี้ยและวิธีการคิดดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยที่ใช้และวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจแตกต่างกัน ดังนั้น ควรศึกษาหาข้อมูลให้ครบถ้วนว่าสถาบันการเงินที่เราสนใจจะใช้บริการใช้อัตราดอกเบี้ยเท่าใด เป็นแบบคงที่หรือลอยตัว และใช้วิธีคำนวณแบบเงินต้นคงที่ (flat rate) หรือลดต้นลดดอก (effective rate) เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจ
นอกจากในกรณีทั่วไปแล้วยังมีอัตราดอกเบี้ยในกรณีอื่น ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นหากผิดนัดชำระหนี้ หรือการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับลูกค้าบางกลุ่มอาชีพที่ซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากผู้ให้สินเชื่อ หรือหากต้องการเปรียบเทียบกับ อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ หรือ ค่าธรรมเนียมที่สำคัญก็สามารถเข้ามาดูได้ที่ website ของแบงก์ชาติ
ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากดอกเบี้ยแล้ว การขอสินเชื่อมักมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกเช่น ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกันค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ ค่าอากรแสตมป์ เราจึงต้องไม่ลืมศึกษาข้อมูลเหล่านี้ด้วย
ระยะเวลาในการผ่อนชำระ
ระยะเวลาในการผ่อนชำระมีผลต่อดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพราะยิ่งระยะเวลานานก็ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากจึงไม่ควรติดกับดักจ่ายน้อย ๆ (แต่จ่ายนาน ๆ ) เพราะทำให้เราเสียดอกเบี้ยมากทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเรามีกำลังจ่ายมากกว่าที่กำลังผ่อนอยู่ หรือมองอีกด้านก็คือหากผ่อนหมดไวก็จะเสียดอกเบี้ยน้อย ซึ่งสามารถทำได้โดยวางเงินดาวน์ก้อนใหญ่หรือผ่อนชำระต่องวดมาก อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงจุดสมดุลในชีวิตของแต่ละคนซึ่งอาจแตกต่างกันไป โดยการผ่อนชำระต่องวดไม่ควรกระทบกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและการออมเงินเผื่อเหตุฉุกเฉิน เพราะอาจทำให้เราใช้ชีวิตใช้ชีวิตแบบตึงเกินไป หรือหากมีเหตุฉุกเฉินแต่ไม่มีเงินรองรับ ก็อาจทำให้เราต้องไปกู้หนี้ยืมสินได้
คุณภาพการให้บริการ
เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องติดต่อกับผู้ให้ สินเชื่อเป็นเวลานาน เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจตัดสินใจได้จากวิธีการตอบ คำถามอย่างชัดเจนด้วยความเต็มใจ ระยะเวลาในการดำเนินเรื่อง วิธีการติดตามทวงถามหนี้ กระทู้ร้องเรียนที่พบได้จากเว็บไซต์ หรือถามจากเพื่อน ๆ หรือคนที่เรารู้จักที่เป็นลูกค้าอยู่หรือเคยใช้บริการ
หลีกเลี่ยงสินเชื่อนอกระบบ
แม้สินเชื่อนอกระบบจะมีความสะดวกมากกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อในระบบ เช่น ของ่าย ได้เงินเร็ว ไม่ต้องใช้หลักฐานทางการเงิน ไม่ต้องตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรหรือไม่ต้องหาหลักประกัน แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการที่สำคัญ มักคิดดอกเบี้ยแพง เอารัดเอาเปรียบ และทวงหนี้ด้วยความรุนแรงเราจึงควรหลีกเลี่ยงสินเชื่อนอกระบบ
หนี้แรกเลย ถ้าไม่รวมหนี้การศึกษาที่คนส่วนมาก เกือบ 80% เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้ว จะเริ่มเป็นหนี้ก่อนอยู่แค่ 2 อย่างคือ บ้านหรือรถ แน่นอนว่าเครื่องหมายคำถามเต็มหัวไปหมดว่า แล้วบ้านกับรถเราควรซื้ออะไรก่อน? สำหรับความเห็นมองว่า ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย แต่จำเป็นต้องใช้รถในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ต้องเดินทางบ่อย การซื้อรถก็ดูจะจำเป็นและมีประโยชน์กว่า แต่หากซื้อรถเพื่อให้ดูดีมี ฐานะทั้ง ๆ ที่ยังต้องเช่าบ้าน แถมการเดินทางไปทำงานก็ไม่ได้ลำบาก การซื้อบ้านก็เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า เพราะถือเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มูลค่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว ขณะที่รถนับวันจะยิ่งมีมูลค่าลดลง
อย่างไรก็ตาม หากกู้ซื้อรถก่อนกู้ซื้อบ้านสถาบันการเงินจะมองว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระลดลงซึ่งอาจทำให้โอกาสที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านลดลงด้วย