อีกไม่นานก็จะถึงมหกรรมกีฬาระดับโลกที่ทุกคนรอคอยนั่น ก็คือ กีฬาโอลิมปิกที่มีโปรแกรมจะครบรอบจัดขึ้นอีกครั้งในปี 2016 นี้ โดยครั้งนี้เจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ก็คือ ประเทศบราซิล ประเทศในแถบโซนอเมริกาใต้ กีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี โดยเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันก็จะพยายามให้หมุนเวียนกันไปในแต่ละทวีป ปีนี้ถือเป็นกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 31 แล้ว
สำหรับเจ้าภาพในการแข่งขันจะมีการคัดเลือกล่วงหน้าเป็นเวลา 8 ปี เพื่อให้ประเทศเจ้าภาพได้เตรียมตัวสำหรับการก่อสร้างสนามในการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ได้ทัน อย่างประเทศบราซิลที่เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ก็ทราบล่วงหน้าก่อนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และขณะนี้ก็ทราบประเทศเจ้าภาพในอีก 4 ปี ข้างหน้า ปี 2020 ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมหลาย ๆ ประเทศถึงได้พยายามที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก อย่างเช่น โอลิมปิกกัน เป็นเจ้าภาพแล้วดีอย่างไร เป็นแล้วได้อะไรบ้าง
แน่นอนว่าการที่ประเทศใดจะสามารถเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับสากลที่เป็นระดับโลกได้จะต้องเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากงบประมาณในการเป็นเจ้าภาพที่หนักก็เป็นเรื่องการสร้างสนามกีฬาต่าง ๆ เพื่อรองรับการแข่งขันประเภทต่าง ๆ ก็จะต้องใช้เงินทุนภายในประเทศเอง โดยอาจมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงการขอสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนที่เป็นเอกชน งบประมาณที่ใช้สำหรับการเป็นเจ้าภาพถือว่าสูงมากเป็นหลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว
แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าการลงทุนมากขนาดนั้นกับความคาดหวังในผลตอบแทนที่จะได้กลับคืนมาจากการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกจะคุ้มค่า ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์ของประเทศ การได้โปรโมทประเทศของตัวเอง ได้เงินจากนักท่องเที่ยวรวมถึงเงินจากแฟนบอลที่เดินทางเข้ามาชมกีฬา เงินค่าตั๋วในการเข้าชมกีฬาแต่ละประเภทในสนาม รวมถึงเงินค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาไปทั่วโลก เงินในส่วนของค่าตั๋วเข้าชมกีฬาและค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาเป็นเงินจำนวนมากโขอยู่เหมือนกัน นอกจากนั้นการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับนี้ยังทำให้เกิดการจ้างงานอย่างมหาศาล ทั้งการก่อสร้างสนาม ธุรกิจบริการที่จะรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางด้านกีฬาที่จะต้องคอยติดตามดูแลนักกีฬาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
หากประเทศใดที่เป็นเจ้าภาพมีการทำการตลาดประชาสัมพันธ์ดี ก็จะมีโอกาสได้กำไรจากการเป็นเจ้าภาพ แต่หากบริหารจัดการไม่ดี เช่น มีผู้เดินทางเข้าชมการแข่งขันในสนามน้อยก็จะทำให้ขาดทุนได้ เพราะเงินค่าก่อสร้างแต่ละสนามไม่ใช่เงินจำนวนน้อยเลย ยกตัวอย่างโอลิมปิกในช่วง ปี 1960-1980 ประเทศที่เป็นเจ้าภาพขาดทุนแทบทุกครั้ง จนตอนหลังไม่มีประเทศใดอยากจะสมัครเป็นเจ้าภาพ กลายเป็นสหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพในปี 1984 แบบไม่มีคู่แข่งและครั้งนั้นสหรัฐอเมริกาก็เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่สามารถทำกำไรได้ หลังจากนั้นหลายประเทศก็เลยกลับมาแย่งกันสมัครเป็นเจ้าภาพกันอีกครั้ง
ทีนี้มาดูประเทศบราซิลที่เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้กันบ้าง ประเทศบราซิลที่กำลังประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอย่างหนัก ถึงกับมีประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงกัน ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเมืองและโรคระบาดรุมเร้าอีก เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาที่ในขณะนั้นมีการประกาศให้ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในอีก 8 ปีข้างหน้า ตอนนั้นเศรษฐกิจของบราซิลเติบโตดีและถือว่าแข็งแกร่งอย่างมาก แต่ใครจะทราบอนาคตได้ว่าอีก 8 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น
บราซิลเองก็ทำได้ดีในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในเรื่องสนามต่าง ๆ ที่เรียบร้อยและราบรื่น จากที่มีข่าวล่าช้าก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายก็พร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่สภาพเศรษฐกิจที่ไม่เฉพาะในประเทศบราซิลแต่เป็นทั้งโลก รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและการระบาดของไวรัสซิก้าทำให้ยอดขายบัตรล่วงหน้าเข้าชมการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ นั้น ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ โดยในขณะนี้ยอดขายสำหรับชาวบราซิลขายไปได้เพียงแค่ประมาณ 70% เท่านั้น ส่วนการขายบัตรให้ชาวต่างชาติก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกัน บัตรพาราลิมปิกเกมที่แย่กว่าขายไปได้ไม่ถึง 30% เท่านั้น ถึงขั้นรัฐมนตรีกีฬาของบราซิลคิดแก้ปัญหาเรื่องสนามจะไม่มีผู้เข้าชมแข่งขัน โดยการจะซื้อบัตรกีฬาพาราลิมปิกและนำไปแจกให้กับเด็กนักเรียน
ช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจะถึงวันเปิดกีฬาโอลิมปิกเกมในวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นช่วงที่บราซิลต้องรีบสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าจะบริหารจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นที่กังวลให้บรรเทาลงไปได้ ล่าสุดนายมิเชล เทเมอร์ รักษาการประธานาธิบดีของบราซิลก็ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี โดยได้บอกว่าบราซิลเองเคยมีประสบการณ์ในการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับโลกมาแล้ว อย่างฟุตบอลโลก กีฬากองทัพโลก กีฬาแพนอเมริกา ฯลฯ ซึ่งทุกครั้งก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ของบราซิลมีการเปิดเผยว่าตัวเลขอยู่ที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่างบประมาณที่วางไว้ที่ 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ถึง 35% และถือว่าน้อยกว่าการจัดการแข่งขันของประเทศอื่น ๆ อย่างครั้งที่ผ่านมาที่จัดที่ลอนดอน อังกฤษ ใช้งบประมาณไป 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือที่จัดขึ้นที่รัสเซียก็ใช้งบไปทั้งสิ้น 2.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ