การเงินนับเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ การบริหารการเงินสำหรับผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือบริษัทจึงสำคัญมาก บริษัทจะอยู่รอดมีความมั่นคง ขยายกิจการและเจริญก้าวหน้าได้มากน้อยเพียงใดนั้น ปัจจัยหลักจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าของกิจการ หรือเจ้าของบริษัทในการบริหารการเงิน เพราะนอกจากการบริหารการเงินในส่วนของ เงินทุน กำไรและเงินสดหมุนเวียนแล้ว ยังต้องมีการบริหารเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ให้แก่พนักงานอีกด้วย ซึ่งแตกต่างและซับซ้อนกว่าการทำกิจการเล็ก ๆ ที่ไม่มีการว่าจ้างพนักงานอย่างแน่นอน
เคล็ดลับการจัดการเงินเดือนและรายจ่ายสำหรับพนักงาน
อย่างที่ทราบกันดีว่า พนักงานถือว่าเป็นฟันเฟืองและกลไกที่จะทำให้กิจการหรือบริษัทขับเคลื่อนไปได้อย่างดี เพราะด้วยเพียงผู้บริหารเท่านั้นคงไม่สามารถทำให้บริษัทหรือกิจการดำเนินไปได้ สำหรับบริษัทหรือกิจการที่มีการว่าจ้างพนักงานนั้น มีเคล็ดลับในการบริหารและจัดการการเงินทที่เจ้าของกิจการควรรู้ดังนี้
-
ต้องมีการจัดการสร้างเพดานเงินเดือนให้พนักงานในบริษัท
ก่อนอื่นเรามารู้จักเพดานเงินเดือนกันก่อน เพดานเงินเดือน ก็คือ อัตราเงินเดือนสูงสุดที่พนักงานแต่ละตำแหน่งขั้นจะได้รับ ซี่งพนักงานแต่ละคนในตำแหน่งนั้น ๆ เมื่อเริ่มรับตำแหน่งงานก็จะได้เงินเดือนในขั้นเริ่มต้น และจะขยับขึ้นในระยะเวลาที่เหมาะสมขึ้นเรื่อย ๆ มากหรือน้อยแล้วแต่การพิจารณาของผู้บริหาร คำว่าเพดานเงินเดือน ลองนึกถีงเพดานบ้านโดยปรกติ หากบ้านใดมีเพดานที่สูงบ้านก็จะปลอดโปร่งน่าอยู่ เพดานเงินเดือนของพนักงานก็เช่นกัน พนักงานโดยทั่วไปอาจจะไม่ทราบถึงเพดานเงินเดือนว่ามีอยู่ และคิดว่าตนจะได้รับเงินเดือนขึ้นไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ทำงาน หากเพดานเงินเดือนต่ำเกินไป พนักงานที่ทำงานจนได้เงินเดือนขึ้นถึงเพดานเงินเดือน เมื่อทำงานไปนาน ๆ จะรู้สึกหมดไฟ ไฟการทำงานมอดลงและทำงานแบบเช้าชามเย็นชามได้ เพราะฉะนั้นเพดานเงินเดือนจึงควรมีการยืดหยุ่นได้บ้างในบางกรณี
การกำหนดอัตราเงินเดือนหรือและเพดานเงินเดือนมีประโยชน์ต่อบริษัทเพราะ ทำให้เจ้าของกิจการสามารถควบคุมรายจ่ายหรือต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงานได้อย่างง่ายและแน่นอน และสามารถบริหารเงินในส่วนนี้ได้อย่างรัดกุมไม่รั่วไหล ทำให้สามารถจัดการการเงินได้อย่างเป็นระบบมายิ่งขึ้น เพดานเงินเดือนยังเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในขอบเขตงานของพนักงานแต่ละคนด้วย พนักงานจึงรู้สึกมีสำนึกในการรับผิดชอบงานตามมูลค่าเงินเดือนที่ตนได้รับ หากอยากได้รับการขึ้นเงินเดือนก็ต้องแสดงความสามารถและความรับผิดชอบที่มาขึ้นด้วย การมีเพดานและอัตราเงินเดือนที่สูงและจูงใจพนักงาน จะลดปัญหาด้านการแย่งตัวหรือซื้อตัวพนักงานในบริษัทด้วย เพราะพนักงานจะได้รู้ว่าตนมีศักยภาพที่จะถึงขั้นเงินเดือนสูงสุดในอัตราเงินเดือนที่สูงในจุดที่ตนพอใจได้โดยไม่ต้องย้ายไปทำที่อื่น
-
มีการกำหนดเงินพิเศษที่พนักงานสามรถเบิกได้เป็นอัตราที่ตายตัว
เงินพิเศษในที่นี่อาจจะหมายถึงเบี้ยเลี้ยงรายวันเมื่อออกนอกสถานที่ เงินโบนัสปีใหม่ เงินเบี้ยขยัน หรือเงินเบิกพิเศษต่าง ๆ ส่วนตัว และสวัสดิการบางส่วน เช่น อุปกรณ์เสื้อผ้า ของใช้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานบริษัท ซึ่งอาจจะนำไปรวมอยู่ในหมวดของเงินงบประมาณของโครงการหรือต้นทุนการผลิตส่วนอื่น หรือจะแยกชัดเจนในรูปแบบเงินพิเศษของพนักงานด้วยก็ได้ การทำเช่นนี้จะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าเรามีงบประมาณในส่วนนี้เท่าไรและป้องกันการรั่วไหลและการจ่ายออกอย่างฟุ่มเฟือยด้วยประสิทธิภาพของต้นทุนดำเนินการส่วนนี้ได้
-
มีการกำหนดสวัสดิการของพนักงานอย่างชัดเจน
บริษัทบางแห่งที่มีกิจการขนาดไม่ใหญ่นัก มักจะไม่ให้ความสำคัญของการกำหนดสวัสดิการอย่างชัดเจนให้กับพนักงาน การกำหนดสวัสดิการส่วนต่าง ๆ ให้กับพนักงานและจัดสรรค์อย่างชัดเจน นอกจากจะสามารถควบคุมงบประมาณต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในส่วนนี้แล้ว ยังมีประโยชน์ในการทำให้พนักงานรู้สึกมีกำลังใจในการทำงานเพราะได้รับการดูแลอย่างดีจากบริษัท และยังรู้ขอบเขตของสิ่งที่ตนจะได้รับในกรณีต่าง ๆ อีกด้วย ตัวอย่างของสวัสดิการที่พนักงานควรจะได้รับ หรือบริษัทควรจะมีให้ก็เช่น
– เครื่องแบบของพนักงานซึ่งการที่พนักงานมีเครื่องแบบจะทำให้องค์กรดูเป็นหนึ่งเดียว มีภาพลักษณ์ที่ดี และเครื่องแบบที่ต่างกันบ้างตามตำแหน่ง ทำให้การปฏิบัติงานคล่องตัวขึ้น
– รถรับส่งพนักงาน ในกรณีที่เป็นกิจการที่มีพนักงานจำนวนมาก การมีรถรับส่งพนักงานจะทำให้พนักงานสะดวกมากขึ้น พนักงานก็จะมีวินัยในการมาทำงานและเข้าทำงานได้ตรงเวลา งานที่ได้ก็มีประสิทธิภาพดีด้วย
– เงินโบนัส เงินรางวัลและค่าทำงานล่วงเวลา เป็นสวัสดิการที่จูงใจให้พนักงานขยันและทำงานได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่บริษัทและกิจการรับนับว่าคุ้มค่า
– เงินทุนสำหรับใช้สำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน อาจจะจัดในรูปแบบของการออมทรัพย์ที่พนักงานสมัครใจ และบริษัทช่วยสนับสนุนส่วนหนึ่งด้วย
– เงินช่วยเหลือในโอกาสต่าง ๆ เช่น ค่าของเยี่ยมไข้พนักงานในกรณีป่วย ลาคลอด อุบัติเหตุ งานศพ ซึ่งเงินในจำนวนนี้ อาจจะมีงบประมาณอยู่ที่รายละ 500 บาท ถึง 3,000 บาท ก็ได้แล้วแต่กรณี
จะเห็นได้ว่าจากที่กล่าวมานี้ การจัดการบริหารด้านการเงินในส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเงินเดือนของพนักงงานนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เจ้าของกิจการหรือเจ้าของบริษัทต้องนำไปคิดและบริหาร ลงรายละเอียดให้ดี และออกแบบระบบและจัดการให้เหมาะสมกับกิจการของแต่ละแห่งแต่ละบริษัทเอง เนื่องจากว่าบริษัทแต่ละแห่งและกิจการแต่ละประเภท มีรายละเอียดและการจัดการของแต่ละที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรายละเอียดย่อมจะแตกต่างกันออกไป จึงไม่มีบทสำเร็จหรือข้อจัดการที่ตายตัว แต่ก็ไม่ควรละเลยที่จะใส่ใจในการบริหารการเงินของกิจการในส่วนนี้ด้วย