ลูกหนี้ ยืมเงินแล้วไม่คืน ฟ้องได้มั้ย จัดการยังไงดี?
เรื่องยืมเงิน เป็นเรื่องใกล้ตัวของใครหลายคนอย่างแน่นอน เพราะเราเชื่อว่า สังคม และคนรอบข้าง เริ่มต้นจากมิตรภาพของคำว่าเพื่อนรัก เพื่อนสนิท ต่างนำพาไปสู่การหยิบยืมเงินกันไม่มากก็น้อยย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม หรือควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเกิดเป็นปัญหาหนี้ ยืมเงินแล้วไม่คืนหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา หรือญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท แล้วจะต้องทำยังไงดี? วันนี้ เรามาแบ่งปันข้อมูลในการเรียกร้องสิทธิด้วยการใช้หลักฐาน หรือสัญญากู้ยืมเงินนั่นเอง เพื่อให้เราสามารถนำไปฟ้องร้อง หรือใช้เป็นสัญญาไกล่เกลี่ย เพื่อง่ายต่อการรักษาสิทธิด้วยการทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งประกอบด้วยอะไรบ้าง มีหลักเกณฑ์ยังไง เพื่อใช้ต่อสู้กับ ลูกหนี้ ยืมเงินแล้วไม่คืน ฟ้องได้มั้ย จัดการยังไงดี?
ทำความรู้จัก สัญญากู้ยืมเงิน คืออะไร?
สัญญากู้ยืมเงิน เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้กู้ยืม และอีกฝ่าย เรียกว่า ผู้กู้ยืม เป็นสัญญากู้ยืมเงิน โดยผู้ให้กู้ยืมส่งมอบเงินให้ผู้กู้ยืม และผู้กู้ยืมก็ตกลงว่าจะคืนเงินที่ได้รับทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้นั่นเอง
สรุป สัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญาที่ผู้กู้ยืม ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งที่เรียกว่า ผู้ให้กู้ยืม โดยผู้กู้ยืมสัญญา หรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดกันไว้ ซึ่งการกู้ยืมเงินนี้ จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วย หรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินนี้ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน ต้องทำยังไงบ้าง?
สัญญากู้ยืมเงิน แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้
- กรณีที่ 1 เป็นจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท
สัญญากู้ยืมเงินกรณี ไม่เกิน 2,000 บาทขึ้นไป ทางกฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน สรุป คือ แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อผิดข้อตกลง หรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย
- กรณีที่ 2 เป็นจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป
สัญญากู้ยืมเงินกรณี เกิน 2,000 บาทขึ้นไป ทางกฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินกรณีนี้จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงิน ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับสัญญากู้ยืมเงินที่จะใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้ชัดเจน ดังนั้น จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความที่แสดงชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใด? และตกลงจะใช้คืนเมื่อใด? และต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืม และผู้ให้กู้ยืมทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญด้วย
หลักฐานสัญญากู้ยืมเงิน ประกอบด้วยข้อมูลที่ต้องระบุไว้ในสัญญา ดังนี้
- วันที่ ที่ทำสัญญากู้ยืมเงิน
- ชื่อ-นามสกุล ผู้ขอกู้เงิน และผู้ให้กู้เงิน
- จำนวนเงิน ที่กู้เป็นตัวเลข และตัวหนังสือ
- กำหนดชำระคืนเมื่อใด
- ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี) เเต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายเเพ่ง เเละพาณิชย์ มาตรา 7 ได้ใช้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
- ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) รวมทั้งผู้กู้ และผู้ให้กู้
- อื่น ๆ เช่น พยาน (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน) เป็นต้น
ข้อห้าม ก่อนทำ สัญญากู้ยืมเงิน มีอะไรบ้าง?
- ตรวจสอบจำนวนเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทำความเข้าใจเนื้อหาในสัญญาก่อนเซ็นสัญญากู้ยืมเงิน และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ
- ผู้กู้ห้ามเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า หรือสัญญาที่เว้นช่องว่างไว้เด็ดขาด เพราะผู้ให้กู้อาจเติมเนื้อหาอื่น ๆ ในสัญญาหลังจากที่เราเซ็นชื่อไปแล้วก็ได้ในภายหลัง
- ห้ามนำไปเป็นประกันการกู้ยืมเงิน กรณีที่ผู้ให้กู้ หรือเจ้าหนี้ขอยึดถือโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 เพื่อไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ข้อนี้ห้ามทำค่ะ
- ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อเก็บไว้สำหรับผู้ให้กู้ 1 ฉบับ และผู้กู้อีก 1 ฉบับ
- การชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นบางส่วน หรือชำระทั้งหมด ผู้กู้ต้องขอรับใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับเงิน ซึ่งมีลายเซ็นผู้ให้กู้กำกับด้วย เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว
- เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว ผู้กู้ต้องอย่าลืมขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้กลับคืนมาด้วย
ลูกหนี้ ยืมเงินแล้วไม่คืน ฟ้องได้มั้ย จัดการยังไงดี?
- ยืมเงินแล้วไม่คืน ฟ้องได้มั้ย?
กรณีลูกหนี้ยืมเงินแล้วไม่คืน สามารถฟ้องศาลได้มั้ย? เพื่อเรียกเงินคืนจากลูกหนี้นั้นสามารถทำได้ โดยใช้สัญญากู้ยืมเงินเพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการฟ้องร้องด้วย กรณีไม่มีสัญญากู้ยืม ใช้เอกสาร หรือหลักฐานอื่น ๆ เช่น การยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษรสามารถใช้ข้อความ Chat เช่น Facebook LINE เป็นต้น (ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544) อย่างไรก็ตาม ต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่ายืมเท่าไหร่? วันไหน? ใครยืม?
- ฟ้องคดีกู้ยืม อายุความกี่ปี?
กรณีนี้ ยืมเงินแล้วไม่คืน เป็นสัญญากู้ยืมเงิน ผิดสัญญาแพ่ง มาตรา 213 ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ เจ้าหนี้สามารถฟ้องศาลให้มีคำสั่งบังคับลูกหนี้คืนเงินได้ มีอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระคืน แต่กรณีในสัญญากู้ยืมตกลงชำระเป็นงวด ๆ จะมีอายุความ 5 ปี
กรณี ถ้ามีการฟ้องร้องแล้วยังไม่คืนเงินอีก แล้วลูกหนี้แอบโอนย้าย หรือขายทรัพย์สิน ฯลฯ อาจมีความผิดทางอาญา มาตรา 350 โทษ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ยืมเงินแล้วไม่คืน แจ้งความได้มั้ย?
กรณีนี้ ตำรวจจะไม่รับแจ้งความนะคะ ทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น เพราะการผิดสัญญากู้ยืมเงินเป็นคดีแพ่ง ที่ตำรวจไม่มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาได้นั่นเอง
สรุป คือ การให้ใครกู้ยืมเงินนั้น ไว้ใจใครไม่ได้เลย ควรตรวจสอบ และทำความเข้าใจในสัญญากู้ยืมเงินให้ดี เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการได้รับการชำระหนี้คืนเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม หากจะให้ใครยืมเงิน เพื่อเป็นการรับประกันในการให้ยืมเงินแล้วได้คืน คือ การทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง และใช้ไกล่เกลี่ยได้ง่าย ๆ แบบไม่เกิดปัญหาหนักใจในภายหลังนั่นเอง