ที่ผ่านมามีหลายคนที่ซื้อรถคันแรกเป็นของตัวเองกันไม่มากก็น้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดกับเราได้อย่างไม่คาดฝัน ทำให้การผ่อนรถที่เคยคิดกันว่าผ่อนไหวในทีแรก ก็อาจจะทำให้ผ่อนต่อจนหมดภาระไม่ไหวได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะทำยังไงกันดี มาหาคำตอบกันดีกว่า
ก่อนที่จะไปดูว่า ผ่อนรถไม่ไหว ทำยังไง เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการซื้อรถยนต์ด้วยเงินผ่อนนั้น จะเรียกว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารหรือบริษัทลิสซิ่ง ซึ่งขั้นตอนการยื่นเอกสารและการอนุมัตินั้นก็จะเหมือนกับการขอสินเชื่อประเภทต่างๆ ตามแต่ที่ธนาคารและบริษัทลิสซิ่งต่างๆ กำหนดไว้ จากนั้นเราก็จะต้องทำสัญญาเช่าซื้อ เพื่อผ่อนชำระราคาเป็นงวดๆ พร้อมกับดอกเบี้ยจนครบกำหนดตามสัญญาที่ตกลงกัน ซึ่งระหว่างผ่อนชำระนั้นกรรมสิทธิยังเป็นของธนาคารหรือบริษัทลิสซิ่งอยู่ และเมื่อชำระเงินให้ครบตามกำหนดสัญญาแล้วเราก็จะผู้ที่มีกรรมสิทธิในรถยนต์คันนั้นทันที
ถ้าหากเราสามารถผ่อนค่างวดรถยนต์ได้ทุกเดือนจนครบกำหนดตามสัญญาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าผ่อนไปได้สักระยะแล้วผ่อนต่อไม่ไหว หากเป็นหลายๆ งวดติดต่อกัน ก็อาจจะโดนยึดรถและฟ้องร้องจากธนาคารและบริษัทลิสซิ่งได้ โดยเงื่อนไขที่จะทำให้ถูกยึดรถได้ก็คือ มีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน และธนาคารหรือบริษัทลิสซิ่งจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวกับเราให้มาชำระเงินที่ค้างชำระภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างน้อยอีก 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เราได้รับหนังสือ และหากครบกำหนดแจ้งให้ไปชำระเงินแล้วเรายังไม่ไปชำระเงินอีก วันนี้แหละธนาคารหรือบริษัทลิสซิ่งถึงจะมาตามยึดรถจากเราไปได้
ทีนี้ก่อนที่เราจะถูกยึดรถไปหากผ่อนชำระไม่ไหว มีแนวทางแก้ไขอะไรบ้างเรามาดูกัน
- แบบแรก
คือ หากเราสามารถขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องได้ ก็ลองติดต่อดูก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่เสียหายกับเราน้อยที่สุด แต่เราก็ต้องมีความซื่อสัตย์จ่ายคืนเงินให้กับญาติพี่น้องที่เราไปหยิบยืมเงินมาด้วย หรือจะขายรถต่อให้กับญาติพี่น้องกันก็ได้ โดยให้รถยนต์เข้าไปใช้เลย หากมีเงินสดก็ไปปิดบัญชีให้เราและก็โอนรถยนต์ให้เป็นชื่อญาติของเราไปเลย หรือถ้าไม่ต้องการรถก็ให้ช่วยปิดบัญชีก่อนพอเราขายรถได้ก็ต้องนำเงินไปคืน ซึ่งแบบนี้อาจจะมีความหวังไม่ค่อยมากเท่าไร เพราะรถยนต์แต่ละคันก็เป็นเงินไม่ใช่น้อยๆ เลย
- แบบที่สอง
คือ การขายรถหรือการขายดาวน์ ซึ่งเป็นการขายให้กับคนอื่นๆ หรือเต้นท์รถ วิธีการนี้เป็นการให้ผู้เช่าซื้อรายใหม่มารับช่วงการผ่อนต่อโดยการเปลี่ยนชื่อสัญญา ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราซื้อรถยนต์ที่มีราคา 649,000 บาท ณ วันที่ซื้อต้องวางเงินดาวน์ 20% หรือเป็นเงิน 129,800 บาท ดังนั้นจึงเหลือเป็นเงินที่ต้องผ่อนต่อจำนวน 519,200 บาท ดอกเบี้ย 4% จึงเป็นเงินที่เราผ่อนประมาณ 10,384 ต่อเดือน ต่อมาผ่อนไปได้ 2 ปี เป็นจำนวนเงิน 249,216 บาท เหลือยอดเงินที่ต้องผ่อนอีก 373,824 บาท เพราะฉะนั้นหากชำระเงินต่อไม่ไหวแล้ว เราจะต้องขายรถคันนี้ให้ได้มากกว่า 370,000 บาท เพื่อที่จะได้ปิดยอดหนี้ให้ได้ ทั้งนี้แล้วราคาตลาดของรถมือสองที่จะขายนั้น ก็อาจจะได้หรือไม่ได้ตามราคาที่เราต้องการ เพราะปัจจัยสำคัญก็คือ รุ่นและยี่ห้อของรถ
- แบบที่สาม
ที่น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะไปขอยืมเงินหรือขายรถให้กับคนที่รู้จักกันก็ไม่ได้ ประกาศขายเองก็ได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่เป็นอยู่ทำให้ต้องหาเงินมาจ่ายส่วนต่างเพิ่มอีก ดังนั้นทางเลือกนี้ก็คือปล่อยให้ธนาคารหรือบริษัทลีสซิ่งยึดรถของเราไป กรณีนี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่เรามากมายไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยจากการผิดสัญญาที่เราต้องจ่าย เสียประวัติในเครดิตบูโร ซึ่งทำให้ในอนาคตเราอาจจะขอสินเชื่อจากธนาคารได้ยากขึ้น
เพราะฉะนั้นหากเราไม่อยากมีสภาพแบบที่มีรถแล้วผ่อนต่อไม่ไหวแล้วล่ะก็ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ ว่า รถยนต์มีความจำเป็นกับเราจริงๆ หรือเปล่า เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่าการมีรถยนต์สักหนึ่งคัน นอกจากค่าผ่อนรถในแต่ละเดือนแล้ว เรายังจะมีค่าประกันภัยรถยนต์ ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาตามรอบ ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่พร้อม ยังไม่จำเป็นจริงๆ ก็ยังไม่ควรที่จะหาภาระด้วยการผ่อนรถยนต์กันดีกว่า
อ่านเพิ่มเติม : อยาก ซื้อรถยนต์ ต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ ?