มนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานที่มีรายได้ประจำที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบให้กับประกันสังคมทุกเดือน ตามมาตรา 33 สูงสุดเดือนละ 750 บาทนั้น ต้องอย่าลืมสิทธิ์ที่เราพึงจะได้รับจากเงินสมทบประกันสังคมกันด้วยนะคะ วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องของเงินทดแทนการขาดรายได้ ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเรามีสิทธิ์เบิกได้เช่นกันค่ะ
เงินทดแทนขาดรายได้ คืออะไร
เงินทดแทนขาดรายได้ ก็คือ เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยและต้องพักรักษาตัวทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้และขาดรายได้ไป ประกันสังคมจะให้สิทธิ์ลูกจ้างสามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้นี้ได้ เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยและต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัวตามที่แพทย์สั่ง ตามกฎหมายระบุให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วัน ใน 1 ปี โดยที่ยังได้รับค่าจ้างเช่นเดิมอยู่แล้ว แต่หากเจ็บป่วยและต้องพักรักษาตัวนานเกินกว่านั้น นายจ้างก็มีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่เกิน 30 วัน ให้ได้ กรณีนี้ประกันสังคมจะเข้ามารองรับโดยให้สิทธิ์ในการขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ของวันลาป่วยส่วนที่เกินกว่า 30 วันนั้นให้ โดยเงินทดแทนที่จะได้รับคือ ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และครั้งละไม่เกิน 90 วัน และในรอบปีหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ปีหนึ่งไม่เกิน 365 วัน
เงื่อนไขในการขอรับเงินทดแทนรายได้
ทีนี้เรามาดูกันว่าสิทธิ์ในการขอรับเงินทดแทนขาดรายได้ได้นั้นจะต้องเป็นไปเป็นตามเงื่อนไขที่ประกันสังคมกำหนดไว้เช่นกัน ไปดูกันค่ะว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง
- ต้องเป็นการหยุดงานเพื่อรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- การหยุดงานที่จะขอรับสิทธิ์เงินทดแทนขาดรายได้ได้นั้น ต้องเป็นการหยุดงานที่เกินกว่า 30 วัน ตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะขอรับสิทธิ์ได้เฉพาะระยะเวลาที่เกินกว่า 30 วันไปเท่านั้น
- เงินทดแทนรายได้จะได้รับเท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ค่าจ้างคิดสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- การขอรับสิทธิ์เงินทดแทนขาดรายได้นั้น ต้องหยุดไม่เกินครั้งละ 90 วัน ในรอบปีและปีหนึ่งไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นกรณีที่เป็นโรคเรื้อรังให้หยุดได้ปีหนึ่งไม่เกิน 365 วัน
- โรคเรื้อรังที่กำหนดไว้มี 6 รายการด้วยกัน คือ โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังที่ทำให้เป็นอัมพาต ภาวะแทรกซ้อนของความผิดปกติของกระดูกหัก โรคอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน สำหรับโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาตัวนานนี้ให้ระหว่างที่รักษาพยาบาลอยู่และไม่ได้ทำงาน ในยื่นเรื่องขอมติของกรรมการการแพทย์ด้วย
- ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างหยุดงานเพื่อรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม เช่น บางบริษัทอาจมีสวัสดิการช่วยเหลือพนักงานในกรณีแบบนี้ โดยจ่ายค่าจ้างให้เกินกว่า 30 วัน เป็นต้น ลูกจ้างก็จะสามารถเบิกค่าทดแทนขาดรายได้จากประกันสังคมได้เฉพาะระยะเวลาที่เกินกว่าที่ได้รับค่าจ้างทดแทนจากนายจ้างแล้วเท่านั้น
การยื่นขอรับสิทธิ์เงินทดแทนการขาดรายได้
ขั้นแรกต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อน โดยเอกสารที่ใช้ในการประกอบการยื่นคำขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ก็มีดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย
- ใบรับรองแพทย์
- หนังสือรับรองจากนายจ้าง
- สำเนาบัตรประชาชน
- สถิติวันลาป่วย
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หน้าที่มีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินผ่านบัญชีธนาคาร)
เมื่อเอกสารพร้อมก็นำไปยื่นที่ประกันสังคมที่สะดวกหรือเขตพื้นที่รับผิดชอบได้เลยค่ะ การเตรียมเอกสารให้พร้อมก็จะทำให้ระยะเวลาที่จะได้รับเงินทดแทนเร็วขึ้นด้วยค่ะ
เงินทดแทนขาดรายได้ กรณีประกันตน ตามมาตรา 39
ผู้ประกันตนเองอิสระตามมาตรา 39 ก็สามารถขอรับสิทธิ์เงินทดแทนขาดรายได้ได้เช่นกันค่ะ แต่เนื่องจากการประกันตนแบบอิสระตามมาตรา 39 ไม่มีนายจ้างและไม่มีกฎหมายแรงงานที่จะคุ้มครองให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามปกติสำหรับวันลาป่วยไม่เกิน 30 วัน ใน 1 ปี ทำให้การทำเรื่องเพื่อขอรับเงินทดแทนขาดรายได้จะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่าลูกจ้างประจำตามมาตรา 33 หากเราเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไม่ได้ทำงานอะไรกรณีนี้ไม่สามารถเบิกค่าทดแทนขายรายได้ได้แน่นอนจะเบิกได้ในกรณีที่ทำงานอิสระมีรายได้เท่านั้น
การขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้นั้น แพทย์จะต้องระบุว่าให้พักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ประกันสังคมอาจขอให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม (แทนหนังสือรับรองจากนายจ้าง) เช่น ใบเสร็จค่าเช่าแผง ใบสั่งสินค้า ฯลฯ กรณีทำงานอาชีพอิสระของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเปิดร้านขายของก็จะต้องถ่ายรูปร้านของตัวเอง พร้อมให้ร้านข้าง ๆ รับรองเป็นเอกสารมาว่าเราปิดร้านจริง ๆ วันไหนถึงวันไหน กรณีแบบนี้เจ้าหน้าประกันสังคมได้ชี้แจงว่า แม้แพทย์จะสั่งในใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว แต่ถ้าเปิดร้านขายของตามปกติก็ไม่สามารถเบิกเงินทดแทนขาดรายได้ได้
ความรัดกุมในการเปิดเงินทดแทนขาดรายได้ของการประกันตนอิสระตามมาตรา 39 ก็เนื่องจากเคยมีกรณีที่มีผู้หลอกลวงไปเบิกเงินค่าทดแทนขาดรายได้นี้แทนผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ เมื่อถึงเวลาที่ผู้ประกันตนจะมาใช้สิทธิ์ก็ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ทำให้ประกันสังคมต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
สำหรับเงินทดแทนขาดรายได้ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะขอรับได้ก็จะเป็นร้อยละ 50 ของฐานการนำส่งเงินสมทบ ปัจจุบันอยู่ที่ 4,800 บาท เบิกได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และปีละไม่เกิน 180 วันเช่นกัน
เงินทดแทนขาดรายได้ กรณีประกันตน มาตรา 40
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ก็สามารถเบิกเงินทดแทนขาดรายได้ ๆ เช่นเดียวกัน โดยต้องเป็นกรณีที่แพทย์สั่งในนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น หากพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเบิกไม่ได้ เอกสารก็ใช้คำขอแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01), ใบรับรองแพทย์, สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรณีขอรับเงินผ่านทางธนาคาร เงินทดแทนขาดรายได้ที่จะได้รับ คือ 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี
หากเอกสารที่ยื่นเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร ประกันสังคมจะแจ้งอนุมัติการขอรับค่าทดแทนขาดรายได้ ภายใน 45 วัน และจะได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสาร
ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ประกันตนประเภทใดก็ตาม อย่าลืมว่ากรณีเจ็บป่วยต้องพักรักษาพยาบาล เรามีสิทธิ์เบิกค่าทดแทนขาดรายได้จากประกันสังคมได้ด้วย อย่าลืมรักษาสิทธิ์ของเรากันไว้ด้วยนะคะ เมื่อเจ็บป่วยก็ทำเรื่องเบิกค่ะ ขั้นตอนการขอเบิกเงินทดแทนก็เดี๋ยวนี้ก็ไม่ยุ่งยากเลยค่ะ เพียงแค่เตรียมเอกสารให้พร้อมเท่านั้น