น่าจะเป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้วว่ารถยนต์ทุกคันจะต้องซื้อประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. บุคคลที่ 3 ซึ่งถ้าหากรถยนต์คันไหนไม่ทำก็จะไม่สามารถต่อทะเบียนรถยนต์ในแต่ละปีได้ แต่เราเคยรู้กันหรือเปล่าว่าประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. บุคคลที่ 3 ที่เราจ่ายไปปีละ 500-700 บาทในแต่ละปีนั้น จะถูกใช้ตอนไหนและจะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
อ่านเพิ่มเติม : ประกันภัย พ.ร.บ. บุคคลที่ 3 เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้
ประกันภัย พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 เป็นการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ. 2535 ที่บังคับให้เจ้าของรถหรือผู้ที่ครอบครองรถทุกคันต้องทำประกันภัย โดยทุกปีที่เราต้องเสียภาษีรถยนต์เพื่อต่อทะเบียนนั้น เราจะต้องนำหลักฐานการต่อประกันภัย พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 นี้ไปแสดงด้วย ถ้าหากไม่มีเราก็ไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์เพื่อต่อทะเบียนได้ ซึ่งประกันภัย พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 นี้จะคุ้มครองทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่เอง ผู้โดยสารภายในรถ หรือใครก็ตามที่อยู่นอกรถแล้วได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ ซึ่งเหตุผลหลักของประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 นี้บังคับให้ทำก็เพื่อให้ผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลได้โดยที่ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั่นเอง
ดังนั้นหากรถยนต์คันไหนที่ไม่ทำประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 นี้ก็จะถือได้ว่ามีความผิด โดยจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และถ้าเรายืมรถเพื่อนที่ที่ไม่มีประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. บุคคลที่ 3 ออกไปขับเราจะถูกปรับ 10,000 บาทเช่นกัน แต่ถ้าเราที่เป็นเจ้าของรถเองนำรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.นี้ออกไปขับเราจะถูกปรับทั้ง 2 กระทงความผิด คือ 20,000 บาท
โดยวงเงินที่ประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 นี้จะคุ้มครอง 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรกที่เกิดอุบัติเหตุเป็นการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้น
- ช่วงที่สองคือ ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น
โดยค่าเสียหายเบื้องต้นนั้นบริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุหรือทายาทภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับคำร้อง ไม่ใช่วันที่เกิดอุบัติเหตุ โดยที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด ซึ่งบริษัทประกันจะต้องจ่ายเงินให้ดังนี้ คือ
- กรณีบาดเจ็บ ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพถาวร บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพอีก 35,000 บาท ซึ่งรวมกันแล้วไม่เกิน 50,000 บาท
ส่วนค่าเสียหายที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นนั้น จะเป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะจ่ายชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว ซึ่งบริษัทจะจ่ายให้ดังนี้ คือ
- กรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพถาวร บริษัทจะชดใช้ให้เต็มจำนวนความคุ้มครองจำนวน 200,000 บาท
- กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะคนไข้ใน จะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาทไม่เกิน 20 วัน
และในกรณีที่เราเป็นคนขับขี่และเป็นฝ่ายผิดนั้น เราจะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุเป็นผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกรถ กรณีบาดเจ็บจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท และกรณีเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการชดใช้อีกจำนวน 200,000 บาท
ถ้าในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแต่ไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด แล้วมีคนเจ็บ คนเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการอุบัติเหตุนั้น ถ้าเป็นคนที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิดขึ้นภายในรถหรือระหว่างขึ้นรถ บริษัทประกันภัยของรถคันที่มีคนที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะต้องเป็นผู้จ่ายทั้งค่าเสียหายเบื้องต้นและ ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเช่นกัน แต่ถ้าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไม่ได้โดยสารมากับรถแล้วล่ะก็ รถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทุกครั้งจะต้องร่วมกันจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยด้วยจำนวนที่เท่าๆ กัน