ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ เริ่ม 1 ต.ค. 67 นี้
หลังจากที่มีการแง้มข่าวดีเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลเต็มตัว โดยล่าสุดวันที่ 1 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ได้มีการประกาศแจ้งปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ อย่างเป็นทางการแล้ว
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ
วันที่ 1 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องแรงงานว่า ตระหนักถึงพี่น้องแรงงานอยู่ตลอด พร้อมดำเนินนโยบายสร้างเสริมคุณภาพชีวิต เร่งให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเร็วขึ้น โดยระบุว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 67 นี้ รวมถึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานของลูกจ้าง เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ, โรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อปูพื้นฐานไปสู่ค่าแรง 600 บาท/วัน ตามที่ได้หาเสียงไว้นั่นเอง
ขณะเดียวกันข้าราชการได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 10% เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา
ผลกระทบขึ้นค่าแรง
แน่นอนว่าบรรดาแรงงานทั่วประเทศมีความยินดีที่จะมีรายรับมากขึ้น เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน มีกำลังที่จะจับจ่ายใช้สอยมากกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันทางด้านผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย/ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากงานวิจัยมหาวิทยาลัยหอการค้า ประเมินว่าถ้าขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ค่าสินค้า และบริการ อาจปรับตัวสูงขึ้น 15%
ขณะเดียวกัน สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรมที่ประตู 5 หน้าทำเนียบฯ ทวงข้อเรียกร้องเดิม 13 ข้อ ตั้งแต่การปรับค่าจ้างเป็น 492 พร้อมกับการที่รัฐบาลเข้ามาควบคุมราคาสินค้า โดยเฉพาะน้ำมัน
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ แต่ก็กระทบผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งทุกฝ่ายต้องการความชัดเจนจากทางรัฐบาลกว่านี้ ดังนั้นก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า ทางรัฐบาลจะมีมารตการช่วยเพิ่มเติมยังไงบ้าง เพื่อให้ทั้งแรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น และให้เจ้าของธุรกิจไม่ขาดทุนจากที่ต้นทุนเพิ่ม