ความต่างของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด หลายครั้งที่ผู้คนมองหาบัตรเครดิตไว้ใช้จ่ายสักใบ หรือมีบัตรเครดิตแล้วต้องการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตที่ธนาคารเป็นผู้ออกบัตรให้ด้วย โดยที่คุณไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขของการใช้งาน และอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารที่มีความแตกต่างกัน และบัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดมีความต่างกันอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ เราขออธิบายเกี่ยวกับความต่างของบัตรทั้งสองแบบพบสังเขป คุณสามารถดูรายละเอียดด้านล่างนี้เลยค่ะ
บัตรเครดิต
เหมาะสำหรับการใช้จ่ายประจำวัน โดยคุณไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ในจำนวนมาก ๆ ในกรณีที่คุณต้องการชำระค่าสินค้าที่มีราคาสูง จุดประสงค์ของบัตรเครดิต ก็คือ เพื่อให้คุณสามารถชำระสินค้า หรือบริการได้ในทันที โดยการรูดบัตร หรือจ่ายผ่านทางบัตรเครดิตนั้น ๆ อย่างไรก็ตามคุณยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเป็นการตอบความต้องการของชีวิตไลฟ์สไตล์ของคุณ อย่างเช่น ได้รับส่วนลดร้านค้าต่าง ๆ บริการพิเศษมากมาย นอกจากนี้ทุกการใช้จ่ายผ่านทางบัตรเครดิตของคุณ ยังมียอดสะสมเพื่อแลกของรางวัล ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารเจ้าของบัตร ในการชำระเงินก็เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับบัตรแต่ละแห่ง หากคุณชำระเงินตรงตามเวลาตามที่ธนาคารกำหนด คุณก็จะไม่เสียดอยเบี้ยแต่อย่างใด
แต่ในกรณีที่คุณต้องการนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากบัตรเครดิตนั้น ๆ ทางธนาคารจะมีการคิดค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงินแฝงอยู่ด้วย มีอัตราสูงถึง 3% ของยอดเงินที่ทำการเบิก และดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% โดยดอกเบี้ยจะถูกคิดตั้งแต่วันที่เบิกเงินสดออกมา จนถึงวันที่ชำระในระยะเวลาของรอบบิลในแต่ละเดือนอีกด้วย อย่างเช่น กดเงินสดจำนวน 10,000 บาท คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมในการกด 300 บาท หรือคิดเป็น 3% ภายในวันนั้นเลยทีเดียว และยังมีดอกเบี้ยที่ต้องเสียอีกประมาณ 20% ต่อปี ที่เริ่มคิดตั้งแต่วันที่กดเบิกเงิน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายชำระหนี้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม : 5 อันดับบัตรเครดิตที่คนนิยมสมัครมากที่สุด
บัตรกดเงินสด
เป็นบัตรที่ใช้สำหรับถอนเงินสด จำนวนมากได้ (โดยส่วนมากจะอนุมัติวงเงินมากกว่าบัตรเครดิต) แต่คุณไม่สามารถนำมารูดใช้จ่ายเหมือนบัตรเครดิตได้ และคุณไม่ควรนำมาใช้แทนบัตรเครดิต เพราะว่าบัตรเครดิตมีแต้มสะสมและกิจกรรมพิเศษของแต่ละบัตรอยู่ ในขณะที่บัตรกดเงินสดไม่มี แต่มีข้อดีตรงที่ว่า วงเงินที่ได้มีอัตราสูงกว่าบัตรเครดิต และให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานกว่า บัตรกดเงินสดจึงน่าจะเป็นเหมือนกับวงเงินฉุกเฉินเมื่อมีเหตุต้องใช้เงิน ลักษณะของบัตรกดเงินสด จะเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบันมากกว่า เนื่องจากคุณได้รับเงินสดไปใช้ก่อน แล้วค่อยจ่ายคืนทีหลัง หนี้ประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่แพงที่สุด นั่นก็เป็นเพราะเงินที่ได้มาใช้จ่ายล่วงหน้าโดยไม่มีทรัพย์สินใดค้ำประกัน โดยทั่วไปบัตรกดเงินสดจะไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ แต่หากใช้จะต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 28% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ออกบัตร) ทั้งนี้การคิดดอกเบี้ยจะคิดตั้งแต่วันที่กดเงินออกมาใช้จ่าย
อ่านเพิ่มเติม : ที่ไหนดีที่ไหนน่าทำ ? เปรียบเทียบบัตรกดเงินสด ก่อนสมัคร
ตัวอย่างเช่น กดเงินสดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 จำนวน 10,000 บาท ก็จะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จนถึงวันที่จ่ายคืนวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 รวมใช้เงินล่างหน้า 45 วัน เท่ากับว่าคุณต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 345.21 บาท [(10,000 x 0.28 x 45) หาร 365] รวมกับเงินต้น 10,000 บาท เท่ากับคุณต้องจ่ายชำระคืนจำนวน 10,345.21 บาท (10,000 + 345.21) ดังนั้น หากคุณมีเงินก้อนที่ชำระคืน คุณต้องรีบไปชำระคืนโดยเร็ว มิเช่นนั้น ดอกเบี้ยจะทบต้นทบดอกไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
ประสบการณ์ใช้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด
-
กรณีแรก
เป็นประสบการณ์ตรงมาจากผู้คนทั่วไปที่แชร์มายัง Pantip.com (อ้างอิงจาก: http://pantip.com/topic/32093583) ผู้ที่พบกับปัญหาหนี้บัตรเครดิต ซึ่งมีบัตรเครดิตทั้งหมด 3 ใบช่วงแรก ๆ ก็จ่ายขั้นต่ำตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ทีนี้เกิดตกงานจึงทำให้ขาดส่งไป ปัจจุบันพึ่งได้งานใหม่ ก็เลยวางแผนที่จะชำระหนี้บัตรเพื่อปิดบัตรไปเลย (บัตรใบแรกยอดหนี้ประมาณ 50,000 บาท สำหรับอีกสอบใบ ตกใบละประมาณ 20,000 บาท คิดว่ามีกำลังจ่ายอยู่ที่เดือนละ 4,000 บาท ปัจจุบันขาดส่งมาเกือบปีแล้ว) คำถามแล้วจะต้องจ่ายอย่างไร
คำแนะนำจากเพื่อน ๆ
- ผ่อนชำระให้หมดไปทีละใบ เช่น จ่ายใบแรกไปเลย เดือนละ 4,000 บาทจนกว่าจะหมดแล้วค่อยจ่ายบัตรที่เหลือ หรือ
- ผ่อนชำระไปพร้อม ๆ กันทั้ง 3 ใบ อย่างเช่น จ่ายใบแรกเดือนละ 2,000 บาท อีกสองใบจ่ายใบละ 1,000 บาท
-
กรณีที่สอง
มีการใช้บัตรเครดิตทั้งหมด 7 ใบ หยุดจ่ายเกือบปี ไปขึ้นศาล 1 ใบ มีคำแนะนำให้ปิดทีละเจ้า โดยโทรไปต่อรอง เพื่อขอส่วนลดในทุกที่ แบงก์ที่ไปขึ้นศาล เขาจะให้เราไกล่เกลี่ยได้ที่ยอด 50,000 จากยอดฟ้องที่ 73,000 (เงินต้น 60,000 บาท) สำหรับแบงค์อื่น ๆ เราจะได้ส่วนลดอยู่ที่ 30 – 50% ในการปิดบัญชี บางแบงค์ก็สามารถผ่อนปลอดดอกจากยอดลดได้ ขึ้นอยู่กับเทคนิคการต่อรอง
ไม่แนะนำให้คุณกู้เงินก้อนใหม่ไปปิดหนี้ก้อนเก่า แต่หากคุณต้องการทำก็สามารถทำได้ ที่สำคัญคุณต้องมั่นใจว่าหนี้ก้อนใหม่มันสามารถครอบคลุมหนี้ทั้งหมดได้จริง ๆ ถ้าไม่อย่างนั้น หนี้ใหม่ก็จ่ายไม่ไหว หนี้เก่าก็ไม่เครียร์ คุณอาจจะเป็นการเพิ่มหนี้ให้ตัวเองได้
-
กรณีที่สาม
มีบัตรเครดิตอยู่ 3 ใบ (ยอดค้างใบแรกเท่ากับ 20,000 บาท ส่วน 2 ใบเท่ากัน ใบละ 40,000 บาท รวม 100,000 บาท) ตอนนั่นส่งขั้นต่ำมาเกือบปี เดือนละ 10,000 กว่า ๆ อดมื้อกินมื้อ ชักหน้าไม่ถึงหลังสุดท้ายตัดสนใจกู้ของโครงการ ธนาคารออมสิน บอกกับนายธนาคารว่าต้องการปิดบัตร พวกเขาบอกว่าให้ได้เท่ากับยอดปิดบัตรเลย ตอนนี้ผ่อนส่งออมสินเดือนละ 3,000 บาทมาสามปีกว่า ๆ สบายตัวกว่ากับเยอะ ตอนนี้ไม่ใช้บัตรเครดิตฟุ่มเฟือยแล้ว ต่อเดือนไม่เกิน 2,000 – 3,000 บาทแค่นั้น สิ้นเดือนก็จ่ายเต็มรอดวิกฤตมาได้ ต้องขอบคุณโครงการดี ๆ ของธนาคารออมสินไว้ ณ ที่นี้ด้วย
-
กรณีที่สี่
เป็นหนี้บัตรเครดิตรวมประมาณ 90,000 ผ่อนขั้นต่ำก็เดือนละ 9,000 บาท แต่มีกำลังจ่ายเดือนละ 4,000 บาท ปัจจุบันขาดส่งมาเกือบปีแล้ว สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น คุณไม่มีเงินจ่ายหนี้ขั้นต่ำทั้งหมด ขาดส่งไปเกือบปี ติด Black List ไปแล้ว คำแนะนำ ถ้ามีแหล่งเงินก้อนที่ไม่เสียดอก หรือเสียดอกต่ำกว่า บัตรเครดิต ให้คุณไปเอาเงินตรงนั้นมาปิด หากไม่มีแหล่งเงินก้อน ให้คุณติดต่อไปยังธนาคารว่า “ขอประนอมหนี้” ธนาคารจะเรียกไปเจราจาเรื่องการ รีไฟแนนซ์ (ชำระหนี้แบบลดต้นลดดอก บวกเพิ่มระยะเวลาการชำระหนี้ให้) คุณจะได้รับส่วนลดการส่งเงินขั้นต่ำได้ประมาณ 50% ซึ่งบางธนาคารอาจลดหนี้ให้อีกด้วย สำหรับเรื่องการติด Black List คุณไม่จำเป็นต้องห่วง เพราะเมื่อคุณสามารถใช้หนี้หมด คุณจะเข็ดไม่อยากก่อหนี้จากบัตรเครดิตอีกหลายปี
-
กรณีที่ห้า
ประสบการณ์ส่วนตัว ติดหนี้บัตรเครดิต 1 ใบ บัตรกดเงินสด 1 ใบ ทางแบงค์เดียวกัน รวมแล้ว 100,000 กว่า ๆ ได้รับจดหมายจากฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน และโทรจิกทุกวัน เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้น เริ่มมีความพร้อมในการชำระหนี้ ก็ได้ติดต่อไปตามจดหมายที่ทางแบงค์ส่งมา ทางฝ่ายเร่งรัดให้ชำระทั้งหมด โดยให้ส่วนลดเกือบครึ่ง ถ้าจ่ายเป็นก้อน ทางเราขอต่อรองว่าแบ่งชำระ 3 งวด เนื่องจากมีเหตุผล คุณต้องบอกรายละเอียดให้ทางธนาคารเจ้าของบัตรฟัง หากพวกเขาตกลงแล้ว คุณก็สามารถปิดบัญชีโดยไม่ลืมที่จะขอให้ทางแบงค์ทำจดหมายรับรองว่าคุณไม่มีภาระหนี้สินกับทางแบงค์แล้ว ในส่วนของเพื่อน เขายอมให้ทางเจ้าของบัตรเครดิตฟ้อง เห็นเพื่อนบอกว่า สุดท้ายจ่ายตามคำสั่งศาล แต่หนี้ที่ติดกับบัตรได้ส่วนลดเยอะมากกว่าที่คุยกับทางแบงค์เอง และศาลให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน โดยให้ทางบริษัทที่เพื่อนทำงานอยู่หักส่งให้เป็นรายเดือน ข้อดีคือ ผ่อนเดือนละไม่ถึง 3,000 บาท ข้อเสียคือ เสียประวัติกับทางบริษัทที่ทำงาน