ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต มีอะไรบ้าง? ก่อนยื่นสมัครบัตรต้องรู้
บัตรเครดิตถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่อำนวยความสะดวกให้เราได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนจะสมัครบัตรสักใบ สิ่งที่ต้องรู้ให้ชัดคือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่อาจถูกเรียกเก็บระหว่างการใช้งาน เพราะค่าธรรมเนียมเหล่านี้อาจส่งผลต่อค่าใช้จ่าย และความคุ้มค่าโดยตรง เพื่อให้วางแผนการเงินได้ดีขึ้น วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต มีอะไรบ้าง? ก่อนยื่นสมัครบัตรต้องรู้
ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต มีอะไรบ้าง?
ค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิต แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่เรียกเก็บตามรอบบัญชี และค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการใช้บริการเฉพาะทาง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ค่าธรรมเนียมแรกเข้า
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเมื่ออนุมัติบัตรครั้งแรก โดยบัตรบางประเภทอาจฟรีค่าธรรมเนียมนี้ หรือมีโปรโมชั่นยกเว้นให้หากสมัครตามช่องทางที่กำหนด หรือใช้จ่ายตามเงื่อนไข
2.ค่าธรรมเนียมรายปี
ตามชื่อเลยคือค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บจากการถือครองบัตรในเวลา 1 ปี ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันตามประเภทบัตร เช่น บัตรทั่วไป บัตรแพลทินัม หรือบัตรพรีเมียม โดยบางบัตรสามารถขอยกเว้นได้หากใช้จ่ายบัตรถึงยอดที่กำหนดภายในปีนั้น
3.ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด
การกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 3% ของยอดที่ถอน นอกจากนี้ยังมีดอกเบี้ยที่เริ่มคิดทันทีตั้งแต่วันกด ไม่เหมือนการใช้ซื้อสินค้า
4.ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน
บางธนาคาร บางบัตร จะมีการคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน (Utilization Fee) โดยจะถูกเรียกเก็บเมื่อมีการใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับวงเงิน เช่น การแบ่งจ่ายรายเดือน (installment plan) หรือการใช้วงเงินไปโปะบัญชีอื่น เช่น โอนยอดค้างจ่ายบัตรเครดิตไปผ่อนกับอีกธนาคาร (balance transfer) ปกติจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดที่ใช้ เช่น 1% หรือเป็นค่าธรรมเนียมคงที่ เช่น 100–300 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน
5.ค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงินต่างประเทศ
หากใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า/บริการจากต่างประเทศ หรือผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ ธนาคารจะมีการคิดค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงิน (Foreign Transaction Fee) ประมาณ 1–3% ของยอดใช้จ่าย ซึ่งบางบัตรจะมีการรวมค่าธรรมเนียม DCC (Dynamic Currency Conversion) เข้าไปอีก ทำให้ยอดใช้จ่ายสูงขึ้น และบางบัตรจะมีโปรพิเศษที่มีเรทต่ำกว่า หรืออาจไม่คิดค่าธรรมเนียมส่วนนี้เลย
6.ค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า
กรณีที่ไม่ได้ชำระคืนตรงตามเวลาที่กำหนด ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราที่กำหนด พร้อมค่าธรรมเนียมล่าช้าเพิ่มเติม โดยบางธนาคารอาจคิดแบบเหมา และบางที่จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดที่ค้างจ่าย
7.ค่าธรรมเนียมในการออกเอกสาร
หากต้องการขอเอกสารย้อนหลัง เช่น สำเนาใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน หรือหนังสือรับรองการชำระหนี้ อาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามรายการ
8.ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
เช่น ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนวงเงิน ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนบัตรใหม่ก่อนหมดอายุ หรือค่าธรรมเนียมกรณีเช็คคืนเมื่อชำระไม่ผ่านบัญชี
เคล็ดลับจัดการค่าธรรมเนียมให้คุ้มค่า
- เลือกบัตรที่ฟรีค่าธรรมเนียมรายปี หรือมีเงื่อนไขยกเว้นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์
- หลีกเลี่ยงการเบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิต เพราะมีค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยสูง หากคิดว่าต้องใช้เงินด่วนให้ลองพิจารณาบัตรกดเงินสดแทน
- หากใช้จ่ายต่างประเทศ ควรเลือกชำระเป็นสกุลท้องถิ่นเพื่อเลี่ยงค่า DCC
- ชำระยอดเต็มตรงเวลาเสมอ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และค่าปรับ
- เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของแต่ละบัตรก่อนตัดสินใจสมัคร
คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตมีมากกว่าแค่รายปี และหลายรายการสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้งานที่ไม่รอบคอบ ดังนั้นก่อนจะสมัครบัตรใด ๆ ควรตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด เช่น ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด ค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงิน และค่าปรับต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ใช้งานบัตรเครดิตอย่างคุ้มค่า และหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่จำเป็นได้