ในช่วงต้นปีใหม่ เชื่อว่าเป็นเทศกาลยื่นภาษีของใครหลายๆคน แต่ปีนี้มีอีกเรื่องของภาษีที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงกันมาก โดยนอกจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ล่าสุดมีประกาศจากกรมสรรพากร ที่ทำให้นักเทรดทั้งหลายต่างเกิดการถกเถียงและจับตามองกันถึง “การเก็บภาษีคริปโต” ที่เริ่มขึ้นในมีนาคมปี 2021 และจะมีการจัดเก็บในปีนี้นั่นเอง
ทั้งนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการเทรดคริปโตเท่าไรนัก วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันว่าจะภาษีคริปโตมีวิธีคิดอย่างไร เป็นเงินได้ประเภทไหนและมีวิธียื่นภาษีอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ
ทำความรู้จักกับคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับคริปโตเคอร์เรนซี เราจำเป็นต้องรู้จักสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือหน่วยสมมติที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่บนโลกดิจิทัล มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความต้องการซื้อ-ขาย และคริปโตเคอร์เรนซีก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งนั่นเอง
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ สกุลเงินเข้ารหัสบน Blockchain ที่ถูกสร้างมาเพื่อซื้อ-ขาย สะสม แลกเปลี่ยนเสมือนเงินจริง โดยทั่วไปเหรียญคริปโตจะมีลักษณะเฉพาะ จำกัดการเข้าถึง ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง และสามารถทำธุรกรรมได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย จนกลายเป็นวิธีลงทุนยอดฮิตของคนในยุคปัจจุบัน
หลักการเสียภาษีคริปโต
กฎหมายกำหนดหลักการเสียภาษีคริปโต ดังนี้
- หากเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วได้กำไรจากการเทรด จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรส่วนต่าง ตามเงินได้*
- หากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์นั้นด้วย ตามเงินได้
* เงินได้ตาม (มาตรา 40(4)) คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนรวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการครอบครองคริปโตเคอร์เรนซี
วิธีคำนวณภาษีคริปโต
สรรพากรให้คิดหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เฉพาะธุรกรรมที่มีกำไร โดยไม่สามารถหักลบรายการที่ขาดทุนได้ แม้เงินจะยังอยู่ในแพลตฟอร์ม Exchange ก็ตาม ถ้าหากว่าขายเป็นเงินบาทไทยจะนับว่าเป็นรายการที่มีกำไรทันที หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “มีกำไรแบ่งกันแต่ขาดทุนไม่หาร” นั่นเอง
นอกจากนี้ กำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่เรามี แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว ก็ยังต้องนำมาคิดรวมกับการยื่นภาษีประจำปีอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างกับรายได้จากการลงทุนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลอย่างชัดเจน ที่สามารถปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยไม่ต้องนำมายื่นภาษีอีกก็ได้
ดังนั้น การหักภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ณ ที่จ่าย 15% จึงเป็นเพียงการชำระภาษีล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่ใช่ภาษีสุดท้าย ซึ่งต้องนำไปรวมกับภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอีก
ตัวอย่างเช่น ในปี 2564 นาย A เทรดคริปโต
ครั้งที่ 1 ซื้อเหรียญ ETH 200,000 บาท ขายออกไปได้เงิน 230,000 บาท เท่ากับได้กำไรจากการเทรด 30,000 บาท
ครั้งที่ 2 ซื้อเหรียญ KUB 100,000 บาท ขายออกไป 50,000 บาท เท่ากับขาดทุนจากการเทรด 50,000 บาท
ดังนั้น ในการเทรด 2 ครั้ง นาย A ขาดทุน 50,000 บาท แต่ต้องยื่นภาษีเฉพาะรายการที่มีกำไร 30,000 บาท ซึ่งนาย A จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30,000 x 15/100 = 4,500 บาท และได้รับกำไรสุทธิ 25,500 บาท
จะเห็นว่า แม้ว่าความเป็นจริงนาย A จะขาดทุนจากการเทรด แต่เขาจะไม่สามารถนำรายการกำไรและขาดทุนมาหักลบกันก่อนหักภาษีได้
การยื่นภาษีคริปโต
หากพอจะเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียภาษีคริปโตกันแล้ว ต่อมาก็เป็นเรื่องของการยื่นเสียภาษีหากต้องการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคลลธรรมดา ก็สามารถยื่นได้ทั้งแบบกรอกเอกสารทั่วไปหรือผ่านระบบออนไลน์ เว็บไซต์ efiling.rd.go.th ของกรมสรรพากร โดยรายได้จากคริปโต จะอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 4 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(4) นั่นเอง
และทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียภาษีคริปโตปี 2564 ที่เรานำมาไข้อข้องใจให้ใครหลาย ๆ คน นักเทรดท่านไหนต้องเสียภาษีก็ลองนำวิธีข้างต้นไปประเมินภาษีของตัวเองกันได้ สุดท้ายแม้ภาษีคริปโตจะมีหลักการทั้งหลายรองรับ แต่ในทางปฏิบัติยังมีช่องว่างมากมายที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของการโอนถ่ายสินทรัพย์จากแพลตฟอร์มเทรดอื่นมาสู่แพลตฟอร์มของไทย หรือโอนเงินเข้าบัตรเครดิตที่สามารถทำธุรกรรมผ่านคริปโตได้ ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ในการเสียภาษีคริปโตเช่นกัน