คำว่า “หนี้” และ “การออม” ทั้งสองคำนี้ เชื่อว่าทุกคนต้องคุ้นหูกันแน่ๆ เลยใช่ไหมคะ หากเราเป็นคนมีหนี้ แล้วอยากมีเงินออม เราก็ควรจะรู้จักทั้งสองคำนี้ให้ลึกซึ้งค่ะ มาลองรู้จักทั้ง 2 คำนี้กันนะคะ
เริ่มต้นที่คำว่า”หนี้”ค่ะ
ทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีหนี้ คงจะเข้าใจกันดีแล้วว่า การมีหนี้ เป็นผลพวงที่ต่อเนื่อง มาจากการใช้เงินแบบไม่มีสมองและระเบียบวินัย ไม่ประมาณกำลังรายรับของตนเอง การใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ซื้อของทุกอย่างที่อยากได้ แม้บางครั้งของที่ซื้อไม่ได้สำคัญต่อการดำรงชีพแต่อย่างใดก็ยังจะซื้อมา ก่อให้เกิดหนี้ขึ้น อาจใช้วิธีง่ายๆ ในปัจจุบันคือ การรูดบัตรเครดิต หรือเงินกู้บุคคล ที่มีมากมายในปัจจุบัน หรืออาจใช้วิธีสมัยเก่า นั่นคือ การไปกู้ยืมนอกระบบ แต่ก็เป็นหนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ในที่นี้ ผู้เขียนจึงอยากให้พวกเราทำความเข้าใจให้ดีว่า “การมีหนี้คือการนำเงินในอนาคตมาใช้” แล้วถ้าเราดึงเงินในอนาคตมาใช้มากขึ้นๆ ถึงไม่เล่าทุกท่านก็คงเห็นภาพใช่ไหมคะว่า ในอนาคตเราจะมีสภาพที่น่าอนาถเพียงใด กรณีนี้ ผู้เขียนได้จำลองภาพให้ดู สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีระเบียบในการใช้จ่ายที่ทำให้เกิดหนี้ ทีนี้คุณคงคิดออกว่าต้องจัดระเบียบและวางแผนได้ถูกแล้วใช่ไหมคะ
ทีนี้เราก็มาว่ากันถึงคำว่า “ออม”
การออมในความเข้าใจของผู้เขียนคือ การเก็บเงินที่เราเหลือใช้ไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยการ “ออม” ในที่นี้ เราต้องไม่เดือดร้อน เพราะเงินนี้จะเก็บเพื่ออนาคตเป็นทุนสำรอง อาจเก็บวันละเล็กวันละน้อยไปเรื่อยๆ เช่น เราได้เงินไปเรียนหรือทำงานวันละ 100 บาท เราอาจแบ่งเก็บสักวันละ 30 บาท อย่างนี้เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเป็นเงินที่เราเหลือใช้แล้ว เราต้องรู้จักวิธีใช้เงินให้เป็น ไม่ใช่มีเงิน 100 บาท ก็ใช้หมดทั้ง 100 บาท เช่น ถ้าเรามีรายได้ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำคือ วันละ 300 บาท ในที่ทำงานบางที่อาจมีให้เราทั้งรถรับส่งพนักงาน หรืออาจมีอาหารกลางวันให้ด้วย เหลือค่าใช้จ่ายเพียงแค่อาหารเช้ากับเย็น เงินค่าแรงวันละ 300 บาท จึงไม่น่าจะหมดถ้าเราใช้เงินเป็น กรณีนี้ ลองคิดว่า เราจะใช้จ่ายไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเริ่มจากมื้อเช้าเราอาจกินพวกหมูปิ้งกับข้าวเหนียวก็ไม่น่าจะเกิน 25 บาท เรายังคงเหลือเงินอีก 75 บาท อาหารกลางวันเรากินของบริษัท ดังนั้น เงิน 75 บาทยังคงเหลืออยู่ พอเลิกงานก็ซื้ออาหารมื้อเย็นซึ่งไม่น่าจะเกิน 45 บาท เห็นไหมคะ แค่นี้เราก็เหลือเงินในส่วนที่จะใช้จ่ายมาเก็บแล้ว 30 บาทต่อวัน ถ้าเราใช้เงินอย่างมีระบบรู้จักใช้เราก็มีเงินเก็บได้ ส่วนอีก 200 บาท เราต้องกันไว้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าห้องพัก ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งจุดนี้เราก็ต้องจัดการตารางรายจ่ายตรงนี้ให้ดี จะทำให้เรามีเงินพอใช้จ่ายได้
เริ่มจากให้ลองคำนวณดูว่า ใน 1 เดือนเราทำงานกี่วัน เช่น
- การทำงานบริษัทที่หยุดแค่วันอาทิตย์ เราจะมีวันทำงานรวมประมาณ 26 วัน 300 คูณ 26 วัน = 7800 บาท
- หักค่าใช้จ่ายรายวันตามที่กล่าวแล้วออกไปวันละ100 บาท เรายังมีเงินเหลืออยู่อีก 5200 บาท
- แต่เนื่องจากวันอาทิตย์ เราไม่ได้ทำงาน แต่ก็ยังต้องกินต้องใช้โดยที่เราไม่ได้ค่าแรงและต้องซื้อกินเองทั้งสามมื้อ จาก 5200 บาทเราก็ต้องหักออกอีก 400 บาท โดยที่ทั้ง 4 วันนี้เราจะไม่ได้ออมแน่ๆ เพราะต้องซื้อกินเองทั้ง 3 มื้อ
- เมื่อคำนวณแล้ว ภายในหนึ่งเดือน ก็จะเหลือเงินที่หักแล้วทั้งหมดอยู่ที่ 4800 บาทถ้วน
- คราวนี้ก็ให้นำเงินส่วนนี้มาจ่ายค่าใช้จ่ายประจำของแต่ละเดือน เช่น ค่าที่พัก ค่าน้ำค่าไฟ จ่ายหนี้ต่างๆ ให้ครบก่อน เมื่อเหลือจากนี้จึงเป็นส่วนที่จะนำมาวางแผนใช้จ่ายหรือเก็บออมเพิ่มได้
- หรือถึงจะไม่เหลือในส่วนนี้ แต่ก็ยังคงมีเงินเก็บ 30 บาทที่เหลือจากค่าใช้จ่ายประจำวัน
นี่แหละคือการ”ออม”ในความเข้าใจของผู้เขียน ไม่ออมให้ตัวเองเดือดร้อน ใช้เงินอย่างมีสมองและมีวินัย ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ต้องใช้เงินอย่างพอเพียงและเพียงพอ
จากที่ว่ามาแล้ว จะเห็นได้ว่า เราจะ “ออม” ในขณะที่มี “หนี้” ได้ ก็ต่อเมื่อเราวางแผนการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม อะไรที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันเราควรลดๆ ลงบ้าง แม้จะปฏิบัติได้ยาก แต่หากเราทำให้เป็นนิสัยแล้ว เราก็จะสามารถมีเงินออมได้ ถึงแม้จะยังมีหนี้ จำไว้ว่า การออมนั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บออมวันละมากมาย แต่เราสามารถออมได้ทุกวัน วันละเล็ก วันละน้อย ทำให้ติดเป็นนิสัยแล้ว หนี้จะค่อยๆ ลาจากชีวิตเราได้ในที่สุดค่ะ สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังใจว่าคุณผู้อ่านที่ยังเป็นหนี้ทุกคนจะก้าวพ้นชีวิตที่เป็นหนี้ แล้วมีเงินออมเพื่ออนาคตกันถ้วนหน้านะคะ