แทบอึ้งไปตามกัน เมื่อผลสำรวจชี้ชัดออกมาว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีหนี้พุ่งมากกว่า 10% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 8 ปี!
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า จากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท จำนวน 1,258 ตัวอย่าง พบว่า แรงงานกว่า 97% ยังคงมีภาระหนี้ และก่อหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อน
แต่ถึงอย่างไร แม้จะมีจำนวนหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หนี้ในระบบก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ 46.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีสัดส่วนเพียง 39.38% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่หนี้นอกระบบนั้นมีสัดส่วนลดลงเหลือ 53.6% ซึ่งปีก่อนหน้ามีสัดส่วนคิดเป็น 60.62% ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน โดยหนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน จำพวกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก
สำหรับภาระรวมการผ่อนก็ลดลงจากปีก่อน เฉลี่ยเดือนละ 5,080.48 บาท ซึ่งปีก่อนจะผ่อนอยู่ที่เดือนละ 8,114.31 บาท โดยผ่อนหนี้ในระบบลดลงเหลือเดือนละ 5,587.28 บาท จากปีก่อนที่ผ่อนเดือนละ 5,889.53 บาท รวมถึงการผ่อนหนี้นอกระบบก็ลดลงเหลือเดือนละ 5,244.88 บาท จากปีก่อนที่มียอดผ่อนสูงถึง 9,657.78 บาท นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนด้วย เพราะลดเหลือเพียง 78.6% จากเดิมที่มีปัญหาในการผ่อนสูงถึง 83.5% ที่สำคัญคนรายได้น้อยกลับมาให้ความสำคัญเรื่องการออมมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากอัตราการออมที่สูงเป็น 62.6% ในปีนี้ ซึ่งหากเทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 39.4%
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากหนี้สะสมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ดี ราคาสินค้าที่แพงขึ้น และมีการใช้จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ เพราะมีของที่ต้องการซื้อมากขึ้น แถมดอกเบี้ยก็สูงขึ้น แต่รายได้ยังคงเท่าเดิมอยู่ จึงทำให้คนที่มีรายได้น้อยหมุนเงินไม่ทัน จึงต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ และมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 78.6%
จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มแรงงานผู้มีรายได้น้อยจึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท ภายใน 3 ปี พร้อมกับควบคุมราคาสินค้า ช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ดูแลประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล ลดดอกเบี้ยเงินกู้ พร้อมทั้งให้เงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการมากขึ้น โดยกลุ่มแรงงานก็พร้อมที่จะปรับฝีมือตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้รายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ถึงแม้ปัญหาหนี้ของประชาชนในชาติจะยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามผลสำรวจนี้ก็คงพอเป็นเครื่องชี้ชัดให้เห็นว่า ปัญหาหนี้นอกระบบก็เริ่มลดลงตามลำดับลงไปด้วย แต่จะให้ดีที่สุด เราควรบริหารค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับที่ได้มา พร้อมทั้งพัฒนาฝีมือหรือหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ก็จะช่วยให้การดำเนินชีวิตมีความสุขบนความไม่มีหนี้ได้อย่างแน่นอน
ที่มา