ช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่และสงกรานต์ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วัน อันตราย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ในระยะ 5 ปี ผ่านมา ระหว่างปี 2554 – 2558 จำนวนอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วัน อันตราย เกิดขึ้น 15,937 ครั้ง เสียชีวิต 1,768 ราย บาดเจ็บ 16,916 ราย ผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 300 กว่าราย ลดลงมาจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยอัตราผู้เสียชีวิตประมาณ 700 กว่าราย โดยสาเหตุหลักที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดคือ “เมาแล้วขับ” เมาแล้วขับนั้น ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเผยสถิติอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างปี 2555-2557 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับ 347 คน คิดเป็นอัตรา 28.63% จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ถึง 53.23% แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเมาแล้วขับเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุรุนแรงและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล สาเหตุสำคัญอื่น ๆ เกิดจากการขับรถโดยไม่มีสติและเสียสมาธิ เนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือหรือง่วงแล้วขับ ส่งผลให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเช่นเดียวกัน
ข่าวความปลอดภัยบนท้องถนนที่ไม่ได้มาตรฐานบนท้องถนนในเมืองไทย ในกรณีที่นายฮวน ฟรานซิสโก นักปั่นรอบโลกชาวชิลี เจ้าของสถิติโลกในกินเนสเวิลด์เรคคอร์ด ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิตในไทย บนถนนมิตรภาพ เขตรอยต่อจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา เป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศอย่างมาก ลดทอนความเชื่อมั่นในภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอันดับประเทศไทยว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก สถิติ 36.2 คนต่อแสนประชากร รองจากประเทศลิเบีย ที่มีสถิติสูงสุด 73.4 คนต่อแสนประชากร
กรมทางหลวงจัดทำรายงานการวิจัยเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายของอุบัติเหตุในประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ผลการศึกษาระบุว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อปีมีมูลค่าโดยเฉลี่ย 232,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ที่มีการเดินทางคึกคักมากที่สุด การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของช่วงเวลาปกติมีตัวเลขผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 1,000 คน รายงานอุบัติเหตุบนทางหลวงช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 มีจำนวน 1,214 ครั้ง เพิ่มขึ้น 13.14% มีผู้เสียชีวิต 232 คน เพิ่มขึ้น 9.95% และผู้บาดเจ็บ 1,319 คน ลดลง 13.39% มูลค่าความเสียหาย 35,866,723 บาท เพิ่มขึ้น 35.92% จาก ปี2557 มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 3,836,422 ล้านบาท
กรมการขนส่งรายงานข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเฉลี่ย วันละ 25 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 230,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 เกิดขึ้น 3,373 ครั้ง เพิ่มขึ้น จากปี 2557 12.73% จำนวนมีผู้เสียชีวิต 364 คน เพิ่มขึ้น 11.66% และมีผู้บาดเจ็บ 3,559 คน เพิ่มขึ้น 10.36% ทั้งนี้ ประชาชนนิยมเดินทางไปเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์ในภาคเหนือ และประชาชนที่มีภูมิลําเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จะเดินทางจากกรุงเทพมหานครกลับไปเยี่ยมบ้าน ปริมาณการใช้ถนนหนาแน่น มักเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางตรง ทางโค้ง และทางแยก โดยพบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์และรถปิกอัพมากที่สุด สาเหตุหลักเกิดจากการขับรถเร็ว การตัดหน้าระยะกระชั้นชิด เมาสุรา หลับใน ขับรถย้อนศร แซงในที่คับขัน
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ความสูญเสียทางกายภาพจากผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ
- ความสูญเสียทางจิตและสังคม ผู้ประสบอุบัติเหตุเกิดความเจ็บปวด หวาดกลัว เสียขวัญ เป็นทุกข์ ไม่อาจทำงานหรือดำรงชีวิตตามปกติ
- ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของชาติ ประเมินเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท อุบัติเหตุในแต่ละครั้งเป็นคดีความมีการฟ้องร้อง เสียเวลา เสียงาน เสียรายได้ เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
รายงานวิจัยของกองทุนประกันสังคมระหว่างปี 2549-2554 พบว่า ต้นทุนการสูญเสียประสิทธิภาพการผลิตของผู้เสียชีวิต 1 คน มีมูลค่า 2.8 ล้านบาท มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท กรณีผู้บาดเจ็บจะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคนละ 59,000 บาท โดยต้นทุนในการเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยในรายละ 17,900 บาท และผู้ป่วยนอก 1,219 บาท ตามหลักทุนมนุษย์ ภาวะสุขภาพมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร จากอุบัติเหตุทำให้สูญเสียปริมาณแรงงานผลผลิตในอนาคตลดลง ตลอดจนการบริโภคของสังคมลดลงตามไปด้วย ส่วนการบาดเจ็บหรือพิการเกิดผลกระทบทำให้เสียเวลาทำงาน ทำงานได้ไม่เต็มที่หรือทำงานไม่ได้เลย สูญเสียรายได้ ขณะเดียวกันยังเกิดการสูญเสียทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นค่าทรัพย์สินเสียหาย โดยเฉพาะค่ายานพาหนะและสินค้าที่ขนส่ง ความเสียหายของถนนข้างทาง ค่าการจัดการอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น การเคลื่อนย้าย ผู้ประสบเหตุ โดยรถพยาบาลฉุกเฉินและค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาระของผู้ประสบเหตุและครอบครัวหรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2559 สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตทางท้องถนน ในช่วง 7 วันอันตราย ของเทศกาลสงกรานต์ลงกว่า 50% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกิจกรรมการ เล่นสงกรานต์ไม่คึกคักเหมือนปีก่อน พร้อมกันนี้จะผลักดันมาตรการการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ มีค่าแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม ถูกจับแล้วเสียค่าปรับและเมื่อส่งตัวไปยังศาล ส่วนใหญ่จะพิจารณาโทษรอลงอาญา แต่ในปีนี้จะถูกกักขังในสถานที่กักขังของกรมราชทัณฑ์ 3-7 วัน เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความสำนึกและหลาบจำ โดยเชื่อว่ามาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้ร่างกายบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต และยังส่งผลกระทบถึงครอบครัวผู้ประสบเหตุ