ช่วงนี้เราจะได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ใช้หรือเปล่าว่า เศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าก็บ่นกัน แล้วเราเคยสงสัยกันหรือเปล่าว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้นจะส่งผลต่อราคาหุ้นที่เราลงทุนอยู่กันยังไงบ้าง และอย่าเพิ่งตกใจว่าเรื่องเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องยาก เป็นไกลตัว หากเราลงทุนในหุ้นไว้แล้วการเรียนรู้เรื่องวิเคราะห์เศรษฐกิจไว้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการลงทุนของเราไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นมักจะลดลง เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่จะกลัวว่า คนมีรายได้น้อยลง ทำให้ไม่กล้าใช้เงิน ก็ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่อาจจะขายของได้น้อยลง จนทำให้กำไรลดลง หรือถึงขั้นขาดทุนกันเลยก็ว่าได้ และเมื่อบริษัทขาดทุนก็ไม่น่าจะมีเงินมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุนจึงพากันขายหุ้นออกมา จนทำให้ราคาหุ้นลดลง ดูสิว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วมีผลต่อราคาหุ้นได้ยังไงกัน เพราะมันจะมีผลต่อกันเป็นทอดๆ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ แต่ถ้าเอาตามข้อมูลที่มีตัวเลขที่ชัดเจนแล้วล่ะก็มีตัวเลขอยู่ 4 ตัวที่เราน่าจะต้องพอรู้ความหมายเอาไว้บ้าง
ตัวแรกคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP)
มูลค่าตลาดทั้งหมดของสินค้าและบริการภายในประเทศตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม ตัวเลขของ GDP ได้มาจาก การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ บวกกับตัวเลขของการส่งออกสินค้าและบริการลบกับตัวเลขของสินค้าและบริการที่นำเข้ามา ดังนั้นง่ายๆ เลยที่จะทำให้เรารู้ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีก็ดูที่ GDP ก่อนเลย หากตัวเลข GDP สูงขึ้นก็แสดงว่าเศรษฐกิจดี แต่ในทางตรงกันข้าม GDP ลดลงก็แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังไม่ค่อยจะดีสักเท่าไร ซึ่งจากรายงานทางเศรษฐกิจที่ออกมากัน ก็มองกันว่า GDP ในปี 2559 น่าจะดีขึ้นจากปี 2558 นั่นก็แสดงว่าโอกาสในการลงทุนของเราก็น่าจะไปได้สวยด้วยเหมือนกัน
ตัวที่สอง คือ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate)
เอาแบบที่แปลความง่ายๆ สำหรับชาวบ้านทั่วไปก็คือ อัตราที่จะบอกเราได้ว่าราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภคจะมีราคาแพงขึ้นมากอีกสักเท่าไร ซึ่งที่ผ่านมาจะปรับตัวขึ้นทุกๆ ปี ปีละนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องการบริหารเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็จะพยายามควบคุมให้มีตัวเลขในแต่ละปีที่ไม่แตกต่างกันมากเกินไป ยกตัวอย่างอัตราเงินเฟ้อที่เราจะเห็นได้ชัดและใกล้ตัวเรา ง่ายๆ เลย คือ เมื่อสัก 5 ปีที่แล้วถ้าเรามีเงิน 100 บาท ซื้อข้าวแกงราดกับ 2 อย่างอาจจะได้ 4 จาน เพราะราคาจานละ 25 บาท แต่เดี๋ยวนี้เงิน 100 บาท อาจจะซื้อข้าวแกงได้เพียง 2 จาน เพราะส่วนใหญ่ราคาข้าวแกงราดกับ 2 อย่าง จะอยู่ที่ 40-45 บาทกันแล้ว นี่แหละที่เรียกว่าเงินเฟ้อ
ถัดมาคือ อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate)
ซึ่งไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยของธนาคาร แต่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ โดยถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแสดงว่าต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจสูงขึ้น หรือมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้น ผลตอบแทนที่บริษัทต่างๆ จะได้รับจากการทำธุรกิจก็อาจจะลดลง นั่นก็อาจจะส่งผลให้นักลงทุนที่มองว่าหุ้นของบริษัทที่มีการกู้ยืมมาสูงๆ อาจจะทำกำไรให้น้อยก็ทำให้มีการขายหุ้นออก และก็ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงก็เป็นไปได้
อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)
คือ ตัวเลขที่จะบอกเราได้ว่าปีนี้จะมีคนตกงานมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าอัตราการว่างงานสูง แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เพราะบริษัทไม่มีการจ้างพนักงานเพิ่ม แต่ถ้าในทางกลับกันเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น การสั่งซื้อให้ผลิตสิ่งของมากขึ้น บริษัทก็ต้องจ้างพนักงานเพิ่ม อัตราการว่างงานก็จะลดง
เห็นหรือเปล่าว่าการ วิเคราะห์เศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องยาก เราแค่รู้ความหมายของตัวเลขแค่ 4 ตัวที่ว่ามานี้ก็น่าจะเป็นตัวนำทางในการลงทุนในหุ้นของเราได้ อีกทั้งเราไม่ต้องมานั่งหาตัวเลขทั้งหมดเอง เพราะส่วนใหญ่โบรกเกอร์ต่างๆ จะสรุปมาให้เราอย่างน้อยก็ 3 เดือนครั้งแล้วล่ะ เพราะถ้าเราอ่านเป็นก็จะทำให้เรารู้สถานการณ์ของบริษัทที่เราลงทุนไปว่าจะดีหรือแย่แค่ไหนกัน แล้วเราควรจะลงทุนต่อไปหรือขายออกจากพอร์ตเราดี