…และแล้ว ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (UK) ก็ยุติลงที่คะแนนเสียงโหวต ‘ออก’ จาก EU ที่ 51.9%
แต่สิ่งที่ยังไม่จบ ก็คือผลกระทบที่กำลังตามมาอีกหลายประการ ไม่ว่าจะกระทบทั้งภายในยุโรปเอง หรือประเทศนอกยุโรป
หุ้น ทองคำปั่นป่วน นายกลาออก
หากย้อนกลับไปคงจำกันได้ดี โดยเฉพาะเซียนหุ้นเซียนทองทั้งหลายต้องปั่นป่วนกันเป็นทิวแถว เพราะขณะที่ประเทศใน UK กำลังลงประชามติ หุ้นต่างๆ ก็ร่วงกราวแทบติดดินแม้คะแนนเสียงยังไม่มีทีท่าว่าฝั่งไหนจะได้รับประชามติมากกว่าก็ตาม ในขณะเดียวกัน ตลาดทองคำก็ผันผวนปรับขึ้น-ลงถึง 24 ครั้ง ซึ่งรวมปรับขึ้นสูงถึง 900 บาท หลังผลประชามติสรุปว่าอังกฤษออกจาก EU อย่างแน่นอน และทันใดนั้น นายเดวิด คาเมรอน ก็ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่เคยได้กล่าวไว้ พร้อมแสดงจุดยืนว่าเขาสนับสนุนให้อังกฤษ ‘อยู่ต่อ’ แต่ตัวเขาก็ต้องเคารพในเสียงประชามติข้างมากเป็นสำคัญ
คัดค้านไม่รับผล ขอทำประชามติครั้งที่ 2
มีชาวอังกฤษกว่าล้านคนที่ออกมาลงชื่อในระบบออนไลน์เรียกร้องให้มีการทำประชามติอีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะมีผู้มาลงคะแนนเสียงไม่ถึง 75% และเมื่อนำคะแนนของฝ่ายอยู่ต่อและฝ่ายให้ออกมารวมกันแล้วยังไม่ถึง 60% ของตัวเลขที่ประกาศอย่างเป็นทางการจากผู้ที่มาลงประชามติเพียง 72% รวมถึงเสียงโหวตที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของ UK ดังจะเห็นได้จาก คนอังกฤษโหวตให้ออก 53.4% ขณะที่คนสกอต คนไอร์แลนด์เหนือ และคนยิบรอลตาร์โหวตให้อยู่ต่อถึง 62%, 55.7% และ 95% ตามลำดับ ที่สำคัญคนที่อยู่ในกรุงลอนดอนโหวตให้อยู่ต่อถึง 60% ทีเดียว โดยมีเสียงของคนวัยหนุ่มสาวสนับสนุนให้อยู่ต่อมากกว่าคนสูงวัยที่สนับสนุนให้อังกฤษออก
ผู้นำ EU ประกาศกร้าว ให้ UK เร่งออกโดยด่วน
บรรดาผู้นำใน EU ต่างเริ่มตึงเครียดกับผลที่ได้ และออกมาประกาศให้ประเทศใน UK เร่งออกจาก EU เป็นการด่วน หลังจากมีกลุ่มขวาจัดในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ มีทีท่าว่าจะทำประชามติแบบ UK บ้าง พร้อมกันนี้ผู้นำทั้งหลายใน EU ยังชี้จุดยืนถึงจุดประสงค์ในการรวมกลุ่มกันของคนรุ่นพ่อที่ต้องการให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริงในยุโรปหลังจากมีเหตุการณ์นองเลือดมานานหลายศตวรรษ และไม่ต้องการให้การออกของ UK เป็นต้นเหตุทำให้เศรษฐกิจโลกต้องปั่นป่วนอีกด้วย
จุดเปลี่ยนที่อังกฤษต้องพบเจอ
แน่นอนว่า เมื่อผลประชามติออกมาเช่นนี้ ก็ย่อมมีผลกระทบเป็นลูกคลื่นซัดสาดมาเป็นระลอก ที่บอกได้เลยว่า ไม่ใช่แค่คลื่นลูกเล็กๆ เริ่มตั้งแต่อังกฤษจะต้องพบกับความยากลำบากในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศยุโรปด้วยกัน นอกเสียจากว่า เลือกเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) เพื่อได้สิทธิพิเศษทางการค้าบางประการ รวมถึงหากมีการเจรจาในประเด็นต่างๆ ของกลุ่มประเทศใน EU อังกฤษจะถูกลดความสำคัญลงมาเป็นเพียงแค่ “บุคคลที่สาม” ไปโดยทันที นอกจากนี้สกอตแลนด์ที่มีผลโหวตอยากอยู่ต่อถึง 62% อาจทำประชามติอีกรอบเพื่อออกจาก UK เพราะต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างยุโรปเอาไว้ บริษัทข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการเงินของยุโรปที่ใช้อังกฤษเป็นศูนย์กลางเริ่มอพยพไปที่แฟรงค์เฟิร์ต กรุงปารีส หรือกรุงดับบลิน และชาวอังกฤษเองต้องใช้จ่ายมากขึ้นหากต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอื่นในยุโรป เพราะเงินปอนด์อ่อนค่าลง แต่สิ่งที่อังกฤษจะได้รับก็คือ อธิปไตยเต็มรูปแบบ ที่สามารถควบคุมการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย และลดอัตราความเสี่ยงในการก่อการร้ายได้มากขึ้นนั่นเอง
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลกระทบจากการโหวต ‘ออก’ เท่านั้น นับแต่นี้ไปคงต้องจับตามองกันวันต่อวัน เพราะหลังจากการประกาศออกอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ คงมีผลกระทบอีกฉากใหญ่รออยู่ข้างหน้า…อย่างแน่นอน
ที่มา