จั่วหัวเรื่องขนาดนี้ ทำเอาหลายคนต้องกุมขมับอีกแล้ว กับค่าไฟในแต่ละเดือนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560 นี้ จากการประกาศค่าเอฟทีใหม่ของการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย หน้าร้อนก็เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน ค่าไฟช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา คือเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ก็ถือว่ากระฉูดที่สุดของปีแล้ว ต่อจากนี้ที่จะร้อนน้อยลงเข้าสู่ช่วงหน้าฝนที่หลายคนคาดหวังว่าค่าไฟอาจจะลดลงบ้าง เพราะไม่ต้องเปิดแอร์นานและบ่อยเหมือนเก่า ก็คงไม่เป็นอย่างที่คิดไว้
ก่อนจะไปคิดว่าเราจะทำอย่างไรกันดี เราไปทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องของค่าเอฟทีที่ต้องปรับเพิ่มนี้กันก่อนดีกว่าค่ะ เดี๋ยวจะเขียนให้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ กันจะได้ไม่ปวดหัวเพิ่ม
เริ่มแรกไปดูสาเหตุที่การไฟฟ้าเขาต้องปรับค่าเอฟทีเพิ่มกันก่อนดีกว่า ว่าเกิดจากอะไร เท่าที่มีการเปิดเผยโดยโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการบอกถึงสาเหตุของการปรับค่าเอฟทีว่าหลัก ๆ เกิดจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นนั่นเอง ก็คือ ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงตัวหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะมีการปรับราคาในสัญญาทั้งจากแหล่งในอ่าวไทยและเมียนมาร์ และแนวโน้มราคายังจะมีการปรับตัวสูงขึ้นไปจนถึงสิ้นปี
นอกจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว อีกปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาเชื้อเพลิงในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2560 นี้ ก็คือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่ากว่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2560 ที่ 0.10 บาท / เหรียญสหรัฐ ถือว่าซ้ำเติมกันเข้าไปอีก
สำหรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้านั้น อันดับแรกเป็นก๊าซธรรมชาติ 65% อีก 11% เป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว 8.5% เป็นถ่านหินนำเข้า และอีก 8.5% เป็นลิกไนต์ ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น 9.35 บาท/ล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตาลดลง 3.39 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.09 บาท/ลิตร ราคาถ่านหินลดลง 8.02 บาท/ตัน ส่วนราคาลิกไนต์ทรง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง
ด้วยเหตุผลดังที่ว่ามา ที่ประชุมกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จึงมีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่าเอฟทีในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560 12.52 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5070 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ออกโรงเสนอแนะให้คณะกรรมกำกับกิจการพลังงานปรับขึ้นค่าเอฟทีเพียงแค่ 6 สตางค์/หน่วย โดยอ้างถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมผลิตมีแนวโน้มราคาลดลงและอ้างถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าเอฟทีสูงขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มากขึ้น ล่าสุด ทาง กกพ. ก็ได้ออกมายืนยันว่าจำเป็นต้องเก็บค่าเอฟทีเพิ่มเป็น 12.52 สตางค์/หน่วย ตามที่ประกาศไว้แต่เดิม เนื่องจากแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติจากทุกแหล่งผลิตสูงขึ้นจริง ๆ โดยเราไม่อาจจะคำนึงถึงราคาก๊าซธรรมชาติของแหล่งผลิตใดเพียงแห่งเดียวได้ นอกจากนั้นในเรื่องของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น ก็ชี้แจงว่าหากเปรียบเทียบต่อหน่วย อัตรารับซื้อในงวดนี้ถือว่าลดลงจากเดิม ถ้าไม่ปรับขึ้นค่าเอฟทีในครั้งนี้ อย่างไรก็ต้องปรับขึ้นในงวดหน้าอยู่ดีและจะต้องปรับขึ้นสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้อีก และทางการไฟฟ้าก็จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงินที่สูงมาก และอย่างไรผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องจ่ายคืนส่วนนี้ให้การไฟฟ้าไม่วันใดก็วันหนึ่งอยู่ดี
อ่านแล้วหวังว่าคงเข้าใจที่มาที่ไปของการที่การไฟฟ้าต้องปรับขึ้นค่าเอฟทีกันมากขึ้นแล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของการรับมือ ว่าในฐานะประชาชนคนอย่างเราจะทำอย่างไรดีเพราะค่าเอฟทีนี้ต้องปรับขึ้นแน่
เป็นเรื่องแน่นอนที่สุดที่เมื่อราคาของสินค้าอะไรแพงขึ้น เราก็บริโภค ใช้ หรือซื้อสินค้านั้นน้อยลง เรื่องของไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อค่าไฟแพงขึ้น หากอยากจะประหยัดจะมีวิธีใดนอกเหนือไปจากเราต้องช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น ถือว่าเป็นโชคดีที่ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2560 นี้ เป็นช่วงที่อาจมีฝนตกบ้าง และอากาศน่าจะไม่ร้อนเหมือนกับช่วงมีนาคม-เมษายน เราจึงประหยัดไฟได้ด้วยการเปิดแอร์น้อยลง ลดจำนวนชั่วโมงในการเปิดแอร์ โดยเปิดให้ช้าลงและปิดให้เร็วขึ้น เป็นต้น หลายคนเลือกออกนอกบ้านในตอนกลางวันเพื่อไปใช้บริการที่สาธารณะที่มีการเปิดแอร์อยู่แล้ว เช่น ห้องสมุด ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ ฯลฯ ก็ช่วยได้เช่นกัน
ไม่เพียงแต่เรื่องแอร์เท่านั้น แต่ที่นำมาพูดก่อนเพราะแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดแล้ว แต่การหาวิธีประหยัดไฟในบ้านด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ดูโทรทัศน์เครื่องเดียวกัน ไม่เปิดน้ำร้อนอาบน้ำ ไม่ใช้ไดร์เป่าผมปล่อยให้ผมแห้งเอง ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งาน ฯลฯ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยจะประหยัดได้สักเท่าไหร่กัน หรือมัวมาคิดแต่ว่าจะทำไปทำไม ไม่มีใครทำหรอก เพราะหากทุกคน ทุกบ้าน ทุกครอบครัวช่วยกัน ก็จะส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลดน้อยลง จำนวนหน่วยไฟฟ้ามากที่สุดก็ไม่ได้ปรับขึ้นมาก หรืออาจลดลงด้วย ทำให้การไฟฟ้าเขาก็ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำมันเตาที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมลดต่ำลงได้ด้วยนั่นเอง
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อทุกคนส่วนรวมจะได้ประโยชน์ร่วมกันค่ะ
ขอบคุณข้อมูล