ใครหลาย ๆ คนอาจมองว่าการทำธุรกิจภายในครอบครัวเล็ก ๆ นั้นง่าย เพียงแค่หาเงินสักก้อน ไปดูสินค้า เลือกมาสักอย่าง สองอย่าง หาที่วางขายไม่อย่างนั้นก็ขายหน้าบ้านตัวเอง ยิ่งในยุคปัจจุบันมีบรรดาเหล่าแฟรนไชส์ต่าง ๆ ผุดขึ้นมา ด้วยสโลแกน ง่าย รวย ให้เลือกซื้อหรือสรรหามาครอบครองลองบริหาร จัดการหากำไรกันอย่างมากมาย
แต่ความจริงแล้วการบริหารกิจการร้านค้าเล็ก ๆ นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จึงเห็นได้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีร้านค้าต่างเกิดขึ้นมาแล้วหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า รวย เร็ว ง่าย ไม่มีจริง ไม่ใช่แค่ซื้อสินค้าต่าง ๆ มาวางแล้วขายจะสำเร็จได้ทุกคน ต้องเรียนรู้ธุรกิจเหล่านั้นด้วย รู้จักกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญที่สุดคือรู้จักวางแผนและบริหารการเงิน ในธุรกิจนั้น ๆ ให้เป็น ยิ่งหากเรามีเงินในการดำเนินธุรกิจอย่างจำกัดด้วยแล้ว การใส่ใจ หาความรู้ ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่สุด ดังนั้นวันนี้ เราจะมาดูกันว่า หลักการบริหารเงินเบื้องต้นในธุรกิจครอบครัวนั้น ทำอย่างไรบ้าง
เลือกธุรกิจ
การเลือกธุรกิจนั้นก็เป็นหนึ่งในการวางแผนการเงินที่สำคัญที่สุด เนื่องจากการลงทุนเริ่มต้นนั้นต้องใช้เงินก้อนหรือเงินที่มีจำนวนมาก ๆ ในการลงสินค้า อุปกรณ์ หรือบริการต่าง ๆ มากมายพร้อม ๆ กัน ซึ่งการหาธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ อาจเป็นการโยนเงินทิ้งตั้งแต่เริ่มต้น โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกในการเลือกธุรกิจนั้นคือ กลุ่มเป้าหมาย และกำไรที่ต้องการ โดยดูว่าสินค้าและบริการที่เราจะเลือกนั้นมีลูกค้าเป็นใคร เข้ากับสถานที่ ๆ เราอยู่ หรือทำเลที่หาได้หรือไม่ มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร ออกไปดูคู่แข่ง มองภาพความเป็นจริงว่าธุรกิจนั้น ๆ มีโอกาสทำกำไรเท่าไหร่ แล้วย้อนกลับมาดูว่าเราสามารถบริหารธุรกิจนั้นด้วยตัวคนเดียวหรือด้วยคนในครอบครัวได้หรือไม่ หากต้องจ้างพนักงานต้องจ้างกี่คน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ คำนวณและวางแผนอย่างรอบคอบถึงที่สุด แต่ถ้าหากใครรับกิจการต่อจากทางบ้าน ก็ต้องมองทิศทางของธุรกิจนั้น ๆ ให้ออกมาจะไปในทิศทางใด มีโอกาสเติบโต หรือสามารถขยาย ลด ตัด ตรงไหนได้บ้าง
ทำระบบบัญชี
การทำบัญชีหรือระบบบัญชีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลาย ๆ คนมองข้ามเรื่องนี้เพราะคิดว่าซื้อมาขายไป เงินก็อยู่ในกระเป๋าตนเอง ไม่ได้ไปไหน ไม่ทราบที่มาที่ไป ต้นทุนต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าแต่ละเดือนได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ ควรทำต่อหรือปรับปรุงสินค้าและบริการ เพิ่ม-ลดสินค้า ไม่รู้สาเหตุว่าเงินรั่วออกจากตรงไหน อุดตรงไหน ยิ่งการบริหารเงินแบบทำในบ้านง่าย ๆ จำพวกขายของชำ รับสินค้ามาขายไปด้วยแล้ว การจัดการเรื่องบัญชีต้องละเอียด เพราะกำไรน้อย คุ้มกับการทำหรือไม่ จัดการแยกเงินใช้จ่ายออกจากเงินธุรกิจ แยกคนละส่วนอย่างชัดเจนเพื่อให้ทราบถึงวินัยการใช้จ่ายของครอบครัว และรู้ว่ากิจการของเราสร้างผลตอบแทนอย่างไรด้วย
บริหารต้นทุน
การบริหารต้นทุนนั้นต้องรู้จักว่าสินค้า บริการ หรือธุรกิจที่เราครอบครองอยู่นั้นมีต้นทุนอะไรบ้าง ทั้งต้นทุนที่มองเห็นและต้นทุนแฝง
ต้นทุนที่มองเห็นก็เช่น ต้นทุนสินค้า ค่าแรงพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดำเนินการ ตามใบเสร็จต่าง ๆ (ควรเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินธุรกิจและภาษี) ต้องมาดูว่าเราบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร ไม่ให้มีมากจนเกินไป ไม่สต็อกสินค้าเกินความจำเป็น รณรงค์การประหยัดน้ำไฟภายในบ้านหรือร้านค้าร่วมกันกับพนักงาน ซึ่งต้นทุนตรงนี้ถือว่าเป็นต้นทุนหลัก หากบริหารจัดการได้ดี ก็ทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ต้นทุนแฝง เช่น ความเสียหายจากการทำงาน ค่าน้ำมันรถ ค่าประกันต่าง ๆ ค่าแฟรนไชส์ ค่าเซ้งสถานที่ที่จ่ายไปแล้ว ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าโอนเงิน ค่าระเบียบหรือใบอนุญาตต่าง ๆ เหล่านี้ควรถูกบริหาร บันทึก หรือนำมาคำนวณในต้นทุนเพื่อเป็นข้อมูลในการคำนวณหากำไรด้วย ซึ่งตรงนี้รวมถึงต้นทุนเวลาในการจัดการด้วย เช่น การต้องให้พนักงานเข้าอบรม กว่าจะสามารถทำงานได้ก็หลายวัน ตรงนี้ก็ให้คำนวณออกมาเป็นต้นทุน เพื่อหาจุดเหมาะสมในการตั้งราคาและบริการของเราเอง
เมื่อเราทราบต้นทุนทั้งหมดแล้ว ก็มาดูว่ามีต้นทุนตรงไหนที่เราสามารถลดได้ เพราะยิ่งลดได้มากไหร่ ก็เพิ่มกำไรขึ้นทันที แต่หากเราไม่รู้ว่าเรามีต้นทุนอะไรซ่อนอยู่ ก็ยากที่จะเพิ่มกำไรขึ้นไปได้อีก
ภาษี
การทำธุรกิจทุกอย่างนั้น อย่าลืมเรื่องภาษีด้วย ควรมีการวางแผนและสำรองเงินส่วนหนึ่งไว้ชำระ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว จะสร้างปัญหาให้อย่างมากมาย ทั้งจ่ายย้อนหลังบวกด้วยค่าปรับ บางรายอาจถึงขั้นปิดกิจการเพราะไม่มีเงินจ่ายภาษีเลยก็ได้ ควรศึกษาเรื่องภาษีกับผู้เชี่ยวชาญและเริ่มวางแผนเสียตั้งแต่เริ่มธุรกิจกันเลย
นี่คือเบื้องต้นที่เราควรศึกษาก่อนทำธุรกิจในครอบครัว แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือความเข้าใจกันและกันของคนภายในบ้าน เพราะเราดำเนินธุรกิจด้วยกันแบบ สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก ญาติ พี่น้อง อาจต้องมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจและไม่สามารถใช้ระบบ หัวหน้า-ลูกน้อง เข้ามาจัดการได้ ควรมีการพูดคุยเสียตั้งแต่เริ่มธุรกิจ แยกเรื่องส่วนตัวออก ชี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับเรื่องเบื้องต้น ถ่ายทอดความรู้และวิธีบริหารให้ทุก ๆ คน และหากทุกคนเห็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน ก็ง่ายที่จะปรับเปลี่ยน ขยับขยาย หรือดำเนินธุรกิจไปอย่างราบรื่น และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความเข้าใจกันในครอบครัวนั้น สามารถสร้างความสุขในการดำเนินชีวิตมากกว่ากำไรที่เป็นตัวเงินเสียอีก