ทุกวันนี้ ทั้งไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกค้าเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก ส่งผลให้รูปแบบการแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทวีความเข้มข้นและหนักหน่วงกันยิ่งขึ้น จนบางครั้งแทบจะหาความแตกต่างของสินค้าประเภทเดียวกันไม่ได้เลย หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือเรื่องคุณภาพ, สรรพคุณ, สูตรสินค้าใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก ดังนั้นลูกค้าจึงหันไปให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริการที่ได้รับจากทางร้านมากกว่า ก่อให้เกิดการรับรู้และจดจำประสบการณ์ที่กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเลือกพิจารณาใช้บริการในครั้งถัดไป
ตัวอย่างกิจการประเภทหนึ่งที่สะท้อนมุมมองนี้ได้ตรงที่สุดก็คือแบรนด์ปั๊มน้ำมัน
ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจุบันผู้บริโภคมองว่าน้ำมันแบรนด์ไหน ๆ ก็มีคุณภาพใกล้เคียง หรือ เหมือนกัน ดังนั้นตัวการสำคัญในการตัดสินใจเลือกเติมน้ำมันที่ปั๊มไหนจึงไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของน้ำมันเป็นหลัก แต่กลับพิจารณามองไปในส่วนของบริการที่ได้รับจากปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งมากขึ้น เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างห้องน้ำสะอาดไว้บริการ, ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร หรือ ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งโดยรวมก็คือ การนำเสนอรูปแบบการให้บริการเป็นกลยุทธ์สำคัญ แต่ทว่าการแข่งขันธุรกิจในเชิงรูปแบบของบริการนั้นยังไม่เพียงพอที่จะสู้ในสนามการค้าระยะยาว เพราะบริการดี ๆ คู่แข่งก็สามารถหันมาเลียนแบบกันได้ไม่ยาก และตัวแปรนี้สามารถชักจูงลูกค้าจากร้านหนึ่งไปยังอีกร้านหนึ่งได้ในระยะเวลาสั้น ๆ กลยุทธ์ธุรกิจ ที่ดีจึงควรมาจากการสร้างคุณค่าของแบรนด์ให้เด่นชัด ซึ่งเป็นการตลาดอันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ระยะยาวของกิจการมากกว่า
ตัวอย่างของสินค้าที่ดูธรรมดาแต่กลับได้รับคำนิยามเชิงรสนิยมที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่งทางธุรกิจรายอื่น ๆ คงต้องยกให้กับแบรนด์ร้านกาแฟนางเงือก Starbucks
ที่ไม่เพียงนำเสนอประสบการณ์การนั่งดื่มกาแฟที่ต่างจากร้านค้าอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน Starbucks คือร้านกาแฟรายแรก ๆ ของโลกที่ปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลที่ก้าวเข้ามาเยือนวงการธุรกิจในปี 2010 ซึ่งการใช้อินเตอร์เนตเพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวัน จังหวะนั้นร้านกาแฟ Starbucks สร้างจุดขายที่รวดเร็ว ทันกระแส ด้วยการเปิดให้บริการ wi-fi ขึ้นตั้งแต่ในปีนั้นและเป็นร้านแรก ๆ ที่เสนอการบริการด้านเทคโนโลยีผนวกเข้ากับบริการหลักของทางร้าน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สื่อถึงความทันสมัยเท่านั้น แต่แบรนด์ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กลยุทธ์ด้าน Localization หรือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แบรนด์จะลงไปทำตลาดนั้น นับว่าร้านกาแฟ Starbucks มีความโดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอื่น ๆ อย่างเช่นผลงานการออกแบบร้านกาแฟล่าสุดของ Starbucks ที่กาดฝรั่ง จังหวัดเชียงใหม่ ก็สามารถเรียกกระแสตอบรับและความสนใจจากนักท่องเที่ยวท้องถิ่นและต่างแดนได้เป็นอย่างดี ผ่านแคมเปญ นุ่งซิ่นกินกาแฟสตาร์บัค ในบรรยากาศของกลิ่นอายล้านนาผสมตะวันตก กลยุทธ์สร้างคุณค่าผ่าน Emotional Experience นี้เองที่ทำให้แบรนด์ดัง Starbucks สามารถครองใจนักดื่มกาแฟทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ แบรนด์หรู สินค้าราคาพรีเมี่ยมอย่าง Hermes และ Louis Vuitton สินค้าที่แม้จะมีราคาสูง แต่ยอดขายกลับไม่เคยตก และยังสามารถฝ่าผ่านวิกฤตเศรษฐกิจตลอดช่วงเวลากว่า 100 ปีมาได้
- เพราะอะไรร้านกระเป๋าที่ปล่อยให้ลูกค้าเข้าคิวรอเลือกชมสินค้าจนเป็นแถวยาว ๆ หน้าร้านถึงยังสามารถกวาดรายได้สูง ๆ ไปได้อย่างสม่ำเสมอ ?
- เพราะอะไรสินค้าที่ต้องออร์เดอร์ล่วงหน้ารอนานข้ามปี อีกทั้งผู้ผลิตยังมีสิทธิขอดูโปรไฟล์ของลูกค้าก่อนว่าเหมาะสมจะใช้สินค้าของแบรนด์ตนได้หรือไม่ ?
ถึงยังเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดระดับต้น ๆ ของโลก ความสำเร็จทางกลยุทธ์ของแบรนด์ดังมาจากการสร้างจุดขายด้วยเสน่ห์เฉพาะของแบรนด์ หรือ Uniqueness ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการผลิตที่เน้นหนักด้านคุณภาพของงานฝีมือ เป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องหนังของแบรนด์ Hermes นั้น กระเป๋าแต่ละใบจะได้รับความพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกคัดสรรวัตถุดิบ อาทิเช่น กระเป๋าหนังจระเข้ก็จะต้องเป็นหนังของจระเข้ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบแยกบ่อตัวเดียว ซึ่งบ่อนั้นจะต้องเป็นบ่อที่ทำมาจากหินอ่อนเท่านั้น เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนใด ๆ กับหนังที่จะนำมาทำกระเป๋า หรือ กระเป๋าแต่ละใบจะเป็นงานฝีมือเย็บจากช่างเพียงคนเดียว และช่างคนนี้ก็จะรับหน้าที่แก้ไขกระเป๋าให้กับเจ้าของตลอดอายุการใช้งาน หรือ การใช้เทคโนโลยีเฉพาะของ Louis Vuitton กับระบบล็อคกระเป๋าที่ขึ้นชื่อด้านความปลอดภัยบวกกับตัวกุญแจเฉพาะของกระเป๋าแต่ละใบ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสร้างคุณค่าและให้ความหมายลงไปในกระเป๋าหนังว่าเป็นผลงานศิลปะและงานฝีมือแขนงหนึ่ง ส่งผลให้ราคาของสินค้าแม้จะเป็นหลักแสน หลักล้าน แต่ลูกค้าก็ยังขวนขวายและยินดีที่จะครอบครอง
อ่านเพิ่มเติม >> Hermes เส้นทางความสำเร็จ จากอานม้าสู่กระเป๋าหรู <<
ข้อสังเกตทางกลยุทธ์ด้านราคาอีกประการหนึ่งก็คือ สินค้าระดับพรีเมี่ยมทั้งสองแบรนด์จะไม่มีการลดราคา หรือ จัดเซตสินค้าเด็ดขาด เพราะแบรนด์ไม่ต้องการทำลายภาพลักษณ์ตราสินค้าพรีเมี่ยม ในทางตรงกันข้าม นโยบายนี้ของแบรนด์ดังกลับยิ่งส่งผลดีให้กับราคาสินค้า เพราะแม้แต่ราคาสินค้ามือสองของแบรนด์ทั้งสองนี้ ราคาก็ไม่มีตก เรียกได้ว่าผู้หญิงหลาย ๆ คนเลือกซื้อกระเป๋าเป็นของสะสม ถึงขนาดที่บางคนกล่าวว่า ซื้อกระเป๋ายังคุ้มค่ากว่าการซื้อทองคำเสียอีก
บทสรุปกลยุทธ์สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้ก็คือคุณค่าในตัวแบรนด์เอง เพราะแบรนด์สินค้าในปัจจุบัน ไม่ได้สื่อความหมายตามชื่อที่เขียนเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความรู้สึกรับรู้ในคุณค่าของสินค้าแต่ละแบรนด์อีกด้วย
เพิ่มเติม : สินเชื่อส่วนบุคคล ซิตี้แบงก์ สินเชื่อสำหรับคนทำธุรกิจ