การบริหารเงินส่วนบุคคล ก็คือการจัดระเบียบทางการเงินบุคคลนั้น ๆ ให้มีความเหมาะสม เป็นการจัดสรรเงินที่เข้ามา และที่จ่ายออกไปให้เกิดความสมดุล หรือให้สามารถเหลือเก็บออมได้ ซึ่งการใช้เงินของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย หรือภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้จะได้รับเงินเดือนเท่ากัน บางคนอาจจะมีเงินเหลือใช้ทุกเดือน แต่หากบางคนก็ไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ นั่นก็คือ “การบริหารเงิน” หากผู้ใดไม่รู้จักวิธีการบริหารเงินแล้ว ผู้นั้น ก็ไม่สามารถมีเงินเหลือ หรือมีเงินพอใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้นั่นเอง แต่ในวันนี้ เรามีแนวคิดในการบริหารเงินมาฝาก
แนวทาง 4 ประเภทในการบริหารเงิน
-
บริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ในการดำเนินชีวิตของคนเราทุกวันนี้ มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงใด ขึ้นอยู่กับว่า ใครสามารถที่จะรู้จักบริหารเงินได้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนี้หรือไม่อย่างไร ความเสี่ยงที่เรามักจะพบเห็นบ่อย ๆ ก็คือ ความเสี่ยงจากการตกงาน ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น การบริหารเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ โดยกันเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การบริหารการเงินที่สามารถทำได้ อย่างเช่น การทำประกันชีวิต การประกันสุขภาพ การประกันการว่างงาน และการกันเงินออมส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
-
บริหารการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต
หลักการในข้อนี้ไม่ใช่ให้คุณใช้จ่ายเกินรายได้ที่มีอยู่ และไม่พยายามสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างเช่น การใช้จ่ายมากกว่ารายได้ โดยไม่คิดว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มพอที่จะสามารถจ่ายคืนได้ คุณควรมองหาภาระหนี้สินที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต อย่างเช่น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีการผ่อนชำระแล้วนำไปให้ผู้อื่นเช่า กรณีเช่นนี้ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เป็นการบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่นคง
-
การบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง
หลังจากที่คุณสามารถบริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตแล้ว ดังนั้น เมื่อมีเงินออม คุณก็สามารถจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองได้แล้ว โดยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวม ตราสารหนี้ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณรู้และเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น ก่อนที่คุณจะลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างจริงจัง
-
การป้องกันและบริหารความมั่งคั่ง
หลังจากที่คุณได้ลงทุนไปแล้ว หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ คุณจะต้องรักษาระดับความมั่นคงในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ ให้สร้างผลกำไรเพิ่มมากขึ้น คุณไม่ควรหยุดศึกษาและหาความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นการสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น การเรียนรู้และพัฒนาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารเงินลงทุนของคุณได้ดี
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารทั้ง 4 ข้อของเราจะประสบผลสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับตัวของแต่ละคนเอง ว่าจะมีความพยายาม หรือมีวิธีการบริหารเงินอย่างไร ให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด และเรายังมีขั้นตอนการวางแผนทางการเงินมาให้คุณลองทำตามอีกด้วย ขั้นตอนการวางแผนจะเป็นอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ
ขั้นตอนในการวางแผนการเงิน
- กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเงิน การวางแผนเกี่ยวกับการเงินให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินวางแผนเพื่อเปลี่ยนฐานะทางการเงินตนเอง และเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน คือการบริหารจัดการเกี่ยวกับครอบครัว สังคมและศีลธรรม
- รวบรวมข้อมูลทางการเงิน เป็นการรวบรวมข้อมูลทางการเงินของตนเอง เพื่อใช้วางแผนทางการเงิน ข้อมูลทางการเงินประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับการเงินทั้งหมด และเอกสารทางการเงินต่าง ๆ อย่างเช่น สมุดเงินฝากธนาคาร ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญากู้ยืมเงิน เงินเดือน รายได้เสริม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ถ้ามีใบเสร็จรับเงินก็ยิ่งดี) เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการลงทุน ทะเบียนรถ โฉนดที่ดิน กรมธรรม์ประกันชีวิต และกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งการเก็บข้อมูลทางการเงินเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการวางแผนการเงิน
- วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน โดยการนำข้อมูลที่รวบรวมมาได้วิเคราะห์ เพื่อให้คุณทราบเกี่ยวกับสถานะทางการเงินในปัจจุบันว่ามีฐานะการเงินเป็นอย่างไร จะต้องหารายได้เสริมอีกเท่าไร จึงสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ กรณีเช่นนี้ คุณอาจต้องหาแหล่งลงทุนเพื่อนำเงินที่ออมไปลงทุนเพิ่มพูนดอกผลให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
- จัดทำแผนทางการเงิน หลังจากวิเคราะห์และประเมินแล้ว คุณอาจจะเขียนแผนการเงินให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่คุณวางไว้ พร้อมทั้งหาทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการหารายได้เสริม หรือหาแหล่งเงินลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายของคุณ
- ลงมือปฏิบัติตามแผนที่คุณวางไว้ ว่าคุณจะต้องทำอะไร เวลาใด อย่างเช่น การหารายได้เสริมจะต้องทำเงินเท่าไร ในช่วงเวลาใด และต้องนำเงินไปลงทุนในทางเลือกที่เรากำหนดเอาไว้
- ติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้ หลังจากที่คุณปฏิบัติตามแผนทางเงินสักระยะหนึ่งแล้ว คุณจำเป็นต้องทบทวน และปรับปรุงแผนทางการเงินให้มีความสอดคล้องกับสภาวะ ต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้คุณจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในการวางแผนทางด้านการเงินอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ในอนาคตนั่นเอง