รู้หรือเปล่าว่า พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ใช้กันอยู่มีการปรับปรุงและประกาศใช้มาใหม่เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2558 เพราะว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความกังวลว่า สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยจะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องหาทางป้องกันไว้เสียก่อน ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก่อนและมีผลต่อคนทำงานโดยตรงก็คือ การปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และได้มีผลบังคับเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 เรามาดูกันดีกว่าว่าส่วนที่ปรับปรุงมานั้น ทำให้คนในวัยทำงานวันนี้ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคตจะได้ประโยชน์อะไรกันบ้าง
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เรามาดูปัญหาและเหตุผลในการปรับปรุงกันก่อนดีกว่า
อย่างที่บอกไปและหลายคนน่าเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้วว่า ประเทศไทยได้เป็นสังคมผู้สูงอายุมาได้เกือบ 10 ปี แล้ว และจำนวนผู้สูงอายุก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็มาจากมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ นั่นแหละ และที่เป็นห่วงกันก็คือ จะมีเงินไม่พอใช้เมื่อเลิกทำงาน เพราะจำนวนเงินออมที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีน้อย และส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินออมในรูปแบบอื่นๆ กัน อีกทั้งเวลาเราออกจากงานและไม่ได้ทำงานต่อก็ต้องนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาทั้งหมด ทำให้ไม่เหลือเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ เพราะฉะนั้นจึงได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ โดยเน้นให้คนทำงานและเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงินออมเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ
เกริ่นมานานแล้วเรามาดูส่วนที่เปลี่ยนแปลงแล้วทำให้เราได้ประโยชน์ดีกว่า ข้อแรกเลยคือ กำหนดให้เราสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่านายจ้างสบทบได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ เราสามารถหักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2%-15% เช่น สมมติว่าบริษัทกำหนดให้พนักงานจ่ายเงินสมทบได้ในอัตรา 3%-7% และนายจ้างจะจ่ายสมทบให้อีก 10% ซึ่งแต่เดิมเราจะส่งได้สูงสุดแค่ 7% แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ขึ้นมากก็ทำให้เราสามารถแจ้งให้นายจ้างหักเงินสะสมของเรามากกว่า 10% ก็ได้ คือ เราสามารถให้หักเงินของเราเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากกว่า 10% แต่ไม่เกิน 15% ได้ ซึ่งการกำหนดแบบนี้จะทำให้เราในฐานะมนุษย์เงินเดือนมีเงินเก็บออมในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น พอเกษียณอายุไปแล้วก็จะมีเงินไว้ใช้มากขึ้นเช่นกัน
ข้อถัดมาก็คือ เราสามารถนำเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเราลาออกจากงานแล้ว และไม่ได้ทำงานในบริษัทอีกต่อไป ไปรวมกับกองทุนรวม RMF ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ของกองทุนรวม RMF ว่าจะนำเงินออกจากกองทุนรวม RMF ได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เท่านั้น ซึ่งข้อนี้จะทำให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณอายุแล้วนั่นเอง เพราะถ้าเป็นแบบเดิมเมื่อเราลาออกจากงานนั้น ก็ต้องเอาเงินก้อนนั้นออกมา แล้วก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเงินก้อนนี้จะหมดก่อนเกษียณอายุแน่นอน ส่วนในเรื่องการลดหย่อนภาษีนั้นยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนออกมา คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นเหมือนกับการที่เราลงทุนในกองทุนรวม RMF โดยตรงหรือเปล่า
อีกเรื่องที่น่าจะเกี่ยวกับเงินของเราก็คือ สามารถเลือกนโยบายการลงทุนของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ซึ่งปัจจุบันนี้บางบริษัทก็ให้สิทธิเราในการตัดสินใจว่าจะนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนอะไรได้บ้าง เช่น ลงทุนในหุ้น ในตราสารหนี้ หรือกองทุนทางเลือกอื่นๆ ซึ่งตามกฎหมายใหม่นั้นถ้าเราให้โอกาสเราเลือกแล้ว แต่เราไม่เลือกนายจ้างก็จะเลือกให้เราเอง โดยจะนำเงินของเราไปลงทุนในนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ที่ส่วนมากจะเป็นการลงทุนในเงินฝากธนาคารและพันธบัตรรัฐบาล ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในแบบอื่นๆ ดังนั้นถ้าเราไม่อยากเสียโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราแล้วล่ะก็ อย่าลืมใส่ใจและเลือกนโยบายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่เราพอใจด้วย