บลจ. บัวหลวง ยอดเยี่ยม คว้าแชมป์ บริหารกองทุนหุ้น รางวัล Morningstar
เดือนเมษายนเป็นเดือนที่นักลงทุนหลายคนรอคอยเพื่อจะได้ทราบผลการจัดอันดับและมอบรางวัลให้กับกองทุนและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมตลอด 5 ปีที่ผ่าน โดย Morningstar Awards ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันแล้ว Morningstar เป็นบริษัทที่ให้บริการข้อมูลและวิเคราะห์การลงทุนของกองทุนต่าง ๆ และโดยปกติจะมีการจัดอันดับวัดผลให้กับกองทุนในรูปแบบของดาว สูงสุด 5 ดาว และต่ำสุด 1 ดาว โดยผลการจัดอันดับจะวัดจากผลตอบแทนของกองทุนควบคู่ไปกับความเสี่ยงของกองทุนนั้น ๆ ด้วย
สำหรับ Morningstar Awards นั้น มีจุดประสงค์เพื่อเป็นรางวัลให้กับกองทุนและบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยม ประสบความสำเร็จในการบริหารกองทุนจนมีผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงแล้วมากที่สุดตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา นอกจากวัดผลในเชิงตัวเลขอย่างผลตอบแทนและความเสี่ยงแล้ว ทาง Morning Star ยังพิจารณาจากเรื่องความโปร่งใสของผู้บริหารกองทุน และความสม่ำเสมอของการลงทุนด้วย
ผลการตัดสินรางวัลระดับกองทุน มีทั้งหมด 6 รางวัล กองทุนหุ้น 3 รางวัล และกองทุนตราสารหนี้ 3 รางวัล กองทุนหุ้นยอดเยี่ยม 3 รางวัล บลจ. บัวหลวงคว้ารางวัลไปถึง 2 กองทุน ด้วยกัน คือ ประเภทกองทุนหุ้นขนาดใหญ่จากกองทุนเปิดบัวหลวงทศพล และ ประเภทกองทุนหุ้น RMF จากกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ส่วนรางวัลประเภทกองทุน LTF ตกเป็นของกองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล ของ บลจ.ภัทร และกองทุน RMF
สำหรับกองทุนตราสารหนี้ยอดเยี่ยม 3 รางวัล บลจ. ธนชาตคว้าไป 2 รางวัล ด้วยกัน คือ ประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นจากกองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ และ ประเภทกองทุนรวม RMF ตราสารหนี้จากกองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ ในขณะที่ประเภทกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว กองทุนเปิด เค ตราสารหนี้ โดย บลจ. กสิกรไทยเป็นผู้คว้ารางวัลไป
สำหรับ Morningstar Fund House Awards เป็นรางวัลใหญ่ที่จะมอบให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยอดเยี่ยม มี 2 รางวัล ด้วยกัน โดยในปีนี้ บลจ. บัวหลวง เป็นผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในด้านการจัดการกองทุนหุ้นในประเทศ ส่วนรางวัลยอดเยี่ยมในด้านการจัดการกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ บลจ. ธนชาต เป็นผู้ได้รางวัลไป
กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล กองทุนที่ได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมประเภทกองทุนหุ้นขนาดใหญ่นั้น ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นกองทุน 5 ดาว ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกัน โดยที่ยังบริหารความเสี่ยงได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม โดย บลจ. บัวหลวงที่ได้รับรางวัลใหญ่ ในด้านจัดการกองทุนหุ้นในประเทศด้วย ถือว่ามีประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนหุ้นมานาน มีทีมบริหารที่เก่ง สามารถเลือกหุ้นได้ถูกตัว เน้นสไตล์การลงทุนในระยะยาวเป็นการจำกัดความเสี่ยง
กองทุนหุ้นไทย–กองตราสารหนี้ระยะกลาง กองทุนรวมยอดฮิต
สถานการณ์กองทุนรวมในประเทศไทยในไตรมาสที่ 1/2559 เติบโตขึ้น 4.35% จากปลายปี 2558 มีสินทรัพย์รวมกันอยู่ที่ 4.24 ล้านล้านบาท เนื่องจากอานิสงค์การเติบโตขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาที่โตกว่า 9.3% ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นติดลบ ส่วนแนวโน้มกองทุนรวมในไตรมาสที่ 2 กองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวยังคงเป็นที่น่าสนใจ ในส่วนของกองทุนต่างประเทศ FIF ก็ยังมีเม็ดเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่องแม้จะไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา โดยที่ยังเป็นที่นิยมมากก็เป็นกองทุนที่ไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่น
กองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดเป็นที่นิยมของนักลงทุนเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ภายในประเทศทั้งแบบระยะกลางถึงยาว เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าระยะสั้นและความกังวลต่อความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวมากถึง 125,723 ล้านบาท
ในขณะที่กองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุดถึง 66,556 ล้านบาท เป็นกองทุนกลุ่ม Global High Yield Bond ซึ่งล่าสุดให้ผลตอบแทนต่ำลงเรื่อยจนเหลือไม่ถึง 2% นักลงทุนเลยไม่ลงทุนต่อเมื่อถึงกำหนดอายุกองทุน อีกกลุ่มที่เงินไหลออก 51,261 ล้านบาท เป็นกองทุนตลาดเงินซึ่งปกติจะเป็นที่พักเงินของเหล่านักลงทุน แต่ที่ผ่านมาผลตอบแทนต่ำมาก คาดว่าคงเป็นผลจากการที่นักลงทุนเลือกไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านั่นเอง อีกกลุ่มสุดท้ายที่ถือว่ามีเงินไหลออกมากเช่นกันก็คือ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ 8,426 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขายทำกำไรในระยะสั้นหลังตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาประกอบกับมีการขายหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF เมื่อถึงกำหนดด้วย
กองทุนต่างประเทศ FIF ถือว่าถึงจุดอิ่มตัวแม้จะมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่าลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยไตรมาส 1/59 มีเงินไหลเพียง 3,105 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มากถึง 24,508 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์รวมของกองทุน FIF ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556 สืบเนื่องจากความผันผวนของผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนส่วนใหญ่เป็นติดลบในปีที่ผ่านมา แนวโน้มของกองทุนต่างประเทศในประเทศไทยน่าจะถึงจุดอิ่มตัวและโอกาสที่จะเติบโตเหมือนในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คงเป็นไปได้ยาก แต่ บลจ. ต่าง ๆ ก็ยังคงพยายามหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับนักลงทุน โดยออกกองทุนใหม่มาตั้งแต่ต้นปี เช่น กองทุนที่เน้นลงทุนแบบผสมทั่วโลก