ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บัตรเครดิตได้กลายเป็นปัจจัยที่ห้าของคนยุคใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสามารถช่วยให้ผู้ถือบัตรมีอิสรภาพทางการเงินมากขึ้น และยังถือเป็นหนึ่งในสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่สำคัญ รองจากสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามในช่วงหลังมานี้ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 กลับมีผลสำรวจว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะมีสาเหตุจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ถือบัตรลดลง ทำให้การอนุมัติเพื่อเปิดบัตรใหม่น้อยลงตามไปด้วย เท่ากับว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือการวางแผนการชำระหนี้ ที่แต่ละคนอาจคำนวณไว้ได้ไม่รัดกุมมากพอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ถ้าเราจะปล่อยหนี้บัตรเครดิตทิ้งไว้นานๆ เพราะมันสามารถกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่าที่เราคาดคิดไว้ได้
ดังนั้นเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่อยากเคลียร์หนี้เก่าให้สิ้นซาก หรือสามารถเพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ต้องลองมาดูเคล็ดไม่ลับต่อไปนี้!
คำนวณหนี้คงค้างทั้งหมดก่อน
เพราะการรู้จำนวนยอดหนี้ทั้งหมดที่ต้องชำระ จะสามารถช่วยให้เราวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการชำระที่แตกต่างกัน ทั้งนี้หนึ่งในวิธีการที่ไม่แนะนำก็คือการเปิดบัตรเครดิตใบใหม่ เพื่อเบิกถอนเงินสดมาจ่ายหนี้ใบเก่า เนื่องจากจะทำให้เรามีหนี้เช่นเดิม เพิ่มเติมคือดอกเบี้ยที่มากขึ้น แต่หากหนี้ดังกล่าวมีจำนวนสูงมาก เราอาจลองพิจารณาการขอสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อมาปิดหนี้ทั้งหมด โดยสามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อดังกล่าวให้ดีก่อนตัดสินใจ
พิจารณาก่อนจ่ายขั้นต่ำ
เพราะหลายคนเลือกการจ่ายหนี้ในอัตราขั้นต่ำ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ประวัติการชำระหนี้ไม่เสีย แต่ก็ไม่ช่วยให้หนี้ลดลงได้อย่างแท้จริง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย (จำนวนมาก) จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถูกคิดจากยอดเต็มที่เรารูดไป และจะไม่หมดจนกว่าเราจะชำระหนี้ก้อนนั้นๆ เสร็จ ซึ่งเราสามารถลองคำนวณอัตราดอกเบี้ยด้วยตัวเองได้ จากสูตรต่อไปนี้: ยอดที่ใช้จ่ายทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันจากวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี / จำนวนวันใน 1 ปี
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยงอกเงย เราอาจลองใช้วิธีการจ่ายให้ไม่เกิน 40% ของรายได้ที่ได้รับแทน ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะเป็นยอดหนี้รวมทั้งหมดที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น เรามีรายรับเดือนละ 25,000 บาท ก็ควรแบ่งไว้ก่อนอย่างน้อย 10% เพื่อเป็นเงินออม จากนั้นก็ใช้หลักจ่ายหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือไม่เกิน 10,000 บาทนั่นเอง