เป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่ได้มีการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีรายชื่อเป็นผู้มีรายได้ตามเงื่อนไขที่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนไปก่อนหน้านี้แล้ว ข่าวมีตั้งแต่ที่ร้านค้ารับแลกบัตรคนจนโดยให้เงินสดกับผู้มีรายได้น้อยไป จนภาครัฐต้องสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตามเก็บบัตรคนจนจำนวนมากคืนมาได้ในที่สุด ทั้งยังมีข่าวเรื่องความไม่พร้อมของเครื่องรูดบัตร ส่วนเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิที่ได้รับระหว่างคนในกรุงเทพและปริมณฑลและคนในต่างจังหวัดก็ยังมีให้ได้ยินกันอยู่ตลอด
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ออกมาชี้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนนี้มีโอกาสที่จะรั่วไหลได้ พร้อมยังแนะให้ภาครัฐปรับไปใช้หลักเกณฑ์อื่นแทนการใช้รายได้ต่อปีเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าใครเป็นผู้มีรายได้ ยากจน และต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ เราลองไปดูรายละเอียดกัน
อ่านเพิ่มเติม : สรุป 3 วันแรกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีปัญหาบ้างแต่แก้ได้
ผลวิจัยเรื่อง “ถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ” โดย น.ส. วิชสินี วิบูลผลประเสริฐ และนายภวินทร์ เตวียนนันท์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาเผยว่า ในเมื่อโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนนั้น เป็นนโยบายที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน และมีการใช้เงินภาษีของประชาชนในการดำเนินโครงการ การกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับสิทธิการช่วยเหลือนี้จะต้องทำอย่างละเอียดและสมเหตุสมผล นอกจากนำข้อมูลเรื่องรายได้และทรัพย์สินมาพิจารณาแล้ว จำเป็นที่จะต้องนำเอาข้อมูลด้านอื่น ๆ มาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย เช่น พฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน เป็นต้น
การใช้หลักเกณฑ์แค่เรื่องรายได้มากำหนดสิทธิว่าใครจะเป็นผู้มีรายได้น้อยนั้น มีโอกาสทำให้สิทธิเกิดการรั่วไหล ที่ผลวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตคือ นักเรียนและนักศึกษา ที่ส่วนใหญ่อาจยังไม่เคยมีบัญชีเงินฝาก หรือไม่เคยเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด ไม่มีรายได้ แต่ก็สามารถมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ ทั้งที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดีมีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือ ประชาชนที่มีทรัพย์สินเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่มีการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อให้ได้ตามเงื่อนไขของการรับสิทธิสวัสดิการดังกล่าว เป็นต้น
นอกจากนั้นเมื่อทำการตรวจเช็คข้อมูลจำนวนของผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนและได้รับสิทธิสวัสดิการคนจน มีจำนวนมากถึง 8.4 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่ตามสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในปี 2559 นั้นมีประชาชนที่ถือว่ายากจน คือมีรายได้ประมาณ 30,000 กว่า ๆ ต่อปี อยู่แค่ 5.8 ล้านคนเท่านั้น นี่จึงเป็นประเด็นที่จะต้องมาตามกันต่อว่า จำนวนผู้มีรายได้ที่ต่างกันมากขนาดนี้อาจเกิดจากการรั่วไหลของสิทธิสวัสดิการคนจนหรือไม่ อย่างไร
ในงานวิจัยฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างกรณีของนโยบายการใช้ไฟฟ้าฟรีของรัฐบาลที่ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์มาหลายครั้ง จนสุดท้ายมาจบที่การใช้ไฟฟ้าฟรีที่ 50 หน่วยต่อครัวเรือน และต้องมียอดการใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน นี่คือตัวอย่างของการกำหนดเกณฑ์เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลของสิทธิได้เป็นอย่างดี การช่วยเหลือเรื่องการใช้ไฟฟ้าฟรีก็จะเข้าถึงผู้ที่จำเป็นจริง ๆ การวิจัยต้องการชี้ให้เห็นว่า นอกจากเรื่องรายได้แล้ว รัฐจึงควรนำเกณฑ์อื่น ๆ ที่บอกถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย เช่น การใช้น้ำใช้ไฟ การใช้บริการการเงิน พวกบัตรเครดิต สินเชื่อ ต่าง ๆ มาร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้ได้รับสิทธิถึงจะป้องกันการรั่วไหลได้ดีขึ้น
นักวิชาการได้ทำการวิจัยและได้ผลออกมาอย่างที่เห็น คราวนี้ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะมีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการคัดกรองผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนตามที่นักวิชาการเสนอหรือไม่ต่อไป
ในขณะที่ ธปท. ออกมาชี้แนะให้รัฐบาลปรับเกณฑ์การคัดกรองผู้มีรายได้น้อยเพื่อไม่ให้สิทธิรั่วไหล และเพื่อเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. น.ส. พิมพ์ชนก วอนขอพร ก็ได้ออกมาเผยว่า จากการวิเคราะห์พบว่านโยบายเรื่องบัตรคนจนถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เพราะบัตรคนจนช่วยลดค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้จริง แต่มีข้อเสนอว่าถ้าในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมมาตรการในการช่วยเหลือก็น่าจะเป็นการเพิ่มรายการสินค้าในร้านธงฟ้าให้เลือกซื้อได้หลากหลายขึ้น ให้ครอบคลุมไปถึงอาหารสดที่เป็นสิ่งจำเป็น อย่างพวก เนื้อสัตว์ ด้วย
เพราะจากผลสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนในการใช้จ่ายสูงถึง 45.12% ในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในขณะที่ดัชนีทั่วไปแสดงสัดส่วนการซื้ออาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลอฮอล์แค่ 36.41% เท่านั้น นี่ย่อมเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้มีรายได้น้อยใช้เงินส่วนใหญ่ในการซื้ออาหารมากที่สุดนั่นเอง
น.ส. พิมพ์ชนก ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนเดินมาถูกทางแล้ว เพราะช่วยลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยได้จริง เพียงแต่รัฐบาลจะต้องเน้นช่วยเหลือสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะค่าอาหารที่สำคัญที่สุด ส่วนค่าก๊าซหุงต้มและค่าเดินทางก็มีสวัสดิการอยู่แล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ หรือค่ามือถือ ก็ต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาและพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อย่างไรบ้างต่อไป
เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน หากทำให้ดีก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริง ๆ ให้ช่วยลดค่าครองชีพจนกว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้นได้ เป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด และใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูล https://www.thairath.co.th/content/1102597